svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผมร่วงจากพันธุกรรม รักษาได้ด้วยแสงเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ

17 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รศ.(พิเศษ) ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป สาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลที่ 1 ประเภทงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบโปสเตอร์ "ISHRS Poster Awards 2017" ในการประชุมของสมาคมศัลยกรรมปลูกผมนานาชาติ (International Society of Hair Restoration Surgery)


ซึ่งเป็นการประชุมของแพทย์จากทั่วโลกกว่าพันคนที่ทำงานวิจัยในเรื่องเส้นผม จัดที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก จากผลงานวิจัยเรื่องการใช้เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำกระตุ้นหนังศีรษะสร้างเส้นผม เพื่อแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีอาการผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการศึกษาในประเทศไทย และเป็นความภูมิใจที่งานวิจัยจากแพทย์ไทยได้รับรางวัลระดับโลก


รศ.(พิเศษ) ดร.พญ.รัชต์ธร เปิดเผยว่า อาการผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรมเป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปราว 50% และเป็นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มีสาเหตุเกิดจากยีนของพ่อและแม่ ส่งผลให้ลูกมีลักษณะผมร่วงผมบาง รวมทั้งเกิดจากฮอร์โมนเพศชายไปเกาะที่รากผม ทำให้เส้นผมบางลงเรื่อยๆ ประกอบกับความเครียดและสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยเสริม อาการผมร่วงจากพันธุกรรมเกิดได้ตั้งแต่วัยรุ่น อายุ 16 - 17 ปีขึ้นไป ที่ผ่านมาการรักษาอาการผมร่วงด้วยสาเหตุนี้ทำได้เพียงการชะลอไม่ให้ผมร่วงเร็วกว่ากำหนด


ผมร่วงจากพันธุกรรม รักษาได้ด้วยแสงเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ




โดยทั่วไปใช้การรับประทานยาและการผ่าตัดปลูกผมในต่างประเทศมีการใช้เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำกระตุ้นหนังศีรษะสร้างเส้นผมมาพอสมควรแล้ว จากประสบการณ์ในการศึกษาเรื่องของการปลูกผมที่คลินิกเส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเหตุผลทำให้ รศ.(พิเศษ) ดร.พญ.รัชต์ธร นำวิธีการนี้มาศึกษาวิจัยในคนไทย โดยศึกษาในผู้ชายและผู้หญิงอย่างละ 10 คน แบ่งการศึกษาวิจัยออกเป็น 2 เฟส ในเฟสแรก เป็นการศึกษาทางคลินิก เริ่มจากการถ่ายรูปผม ประเมินตรวจนับเส้นผมทั้งก่อนและหลังฉายเลเซอร์ไปแล้ว 6 เดือน ส่วนในเฟสที่สองซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ เป็นการศึกษาโดยการตัดชิ้นเนื้อหนังศีรษะทั้งก่อนการรักษาและหลังจากฉายแสงเลเซอร์แล้วเป็นเวลา 6 เดือน มาศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่อยู่ในรากผม ซึ่งพบว่าแสงเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำมีผลทำให้เส้นผมมีโปรตีนที่สำคัญในกระบวนการสร้างเส้นผมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

"วิธีการศึกษาวิจัยในเฟสที่สองนี้ จะให้คนไข้ทั้งชายและหญิงนำเครื่องเลเซอร์ที่มีลักษณะเป็นหมวกครอบที่ศีรษะ เครื่องมือนี้จะปล่อยแสงเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำไปที่เส้นผม ระยะเวลาการใช้งานสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 25 นาที เป็นเวลา 6 เดือน โดยคนไข้สามารถใช้งานได้เองที่บ้าน ปกติแล้วมีการนำเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำมาใช้ในการรักษาผู้ทีมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บกระดูก รักษาแผลที่หายยาก เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำเป็นแสงสีแดงที่มีความเข้มข้นต่ำมาก จึงไม่มีอันตรายต่อผู้ใช้งาน ปัจจุบันเครื่องมือนี้ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เริ่มมีการต่อยอดงานวิจัยโดยร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการผลิตเครื่องมือนี้ในอนาคต"


ผมร่วงจากพันธุกรรม รักษาได้ด้วยแสงเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ



ด้วยความโดดเด่นของกระบวนการศึกษาวิจัยที่ถูกต้องจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งเป็นการศึกษาในระดับโมเลกุลถึงการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนในรากผมจากการใช้แสงเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ นับเป็นงานวิจัยแรกในโลกที่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยยืนยันในเรื่องนี้มาก่อน จึงทำให้ผลงานวิจัยเรื่องนี้ได้รับรางวัลที่ 1 ISHRS Poster Awards 2017 มาครองอย่างน่าภาคภูมิใจ


ผมร่วงจากพันธุกรรม รักษาได้ด้วยแสงเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ


รศ.(พิเศษ) ดร.พญ.รัชต์ธร ให้คำแนะนำว่า "อาการผมร่วงผมบางที่เกิดจากพันธุกรรมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เนื่องจากเป็นความผิดปกติของยีน คนไข้ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่มีอาการผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรมและต้องการรักษาด้วยเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ ขอแนะนำว่าในขั้นแรกควรมาปรึกษาแพทย์ที่คลินิกเส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อตรวจว่าเป็นอาการผมร่วงผมบางในระยะใด จะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา"

logoline