svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

รักโลก by วชิรวิทย์ | บทเรียนบ้านป่าแหว่ง

14 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การคัดค้านการสร้างบ้านพักตุลาการศาลอุธรณ์ภาค 5 ที่คนเชียงใหม่ที่ต้องการขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพคืน นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก หลังรัฐบาล คสช. ส่งตัวแทนไปพูดคุยเจรจาและได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะฟื้นฟูให้ป่ากลับมาเหมือนเดิม แต่หนทางหลังจากนี้อาจใช้เวลาอีกนาน



ร่องรอยการถางป่ากินบริเวณเกือบ 140 ไร่บนเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุธรณ์ภาค 5 ยังคงเห็นเด่นชัด และจะกลายเป็นภาพชินตาของชาวเชียงใหม่ไปอีกนับสิบปี

แม้การเจรจาตกลงครั้งล่าสุดระหว่างกลุ่มภาคประชาชนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพ และตัวแทนจากรัฐบาล คสช. คือห้ามมิให้ผู้ใดเข้าอยู่อาศัยในบ้านพักเหล่านี้ พร้อมกับกำหนดแผนฟื้นฟูให้ผืนป่ากลับมาสมบูรณ์แล้วก็ตาม


วันนี้ทีมข่าวของเรา ยังได้เห็นภาพของผู้รับเหมาก่อสร้าง ดำเนินการสร้างต่อไป บ้านพักและอาคารชุดถูกก่อสร้างไปเกือบจะแล้วเสร็จ ทั้งที่ช่วงเกิดกระแสสังคมคัดค้าน การก่อสร้างยังดำเนินไปเพียงร้อยละ 70 เท่านั้น


คำถามก็คือทำไมผู้รับเหมายังดำเนินการก่อสร้างต่อไป ทั้งๆที่รู้ว่าแม้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วก็จะไม่ถูกใช้ประโยชน์ได้อีก คำตอบที่ได้รับ คือการทำตามสัญญาจ้างเพราะหากปล่อยทิ้งกลางทาง ศาลอาจถูกฟ้องจากผู้รับเหมา "ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ" แกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพ บอกว่า ไม่เสียดายหากสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วต้องรื้อบ้านทิ้ง


แม้ยังคงเดินหน้าก่อสร้างบ้านพักจนเสร็จสมบูรณ์ ตามสัญญาจ้างที่ศาลจะรับมอบงานจากผู้รับเหมาในวันที่ 18 มิถุนายน แต่แผนฟื้นฟูป่าดอยสุเทพ ในพื้นที่บริเวณนี้ ก็เริ่มต้นขึ้นไปพร้อมๆ กัน ด้วยการรังวัดแนวเขตป่าดั้งเดิม


หมุดไม้สีแดงถูกปักลงไป เพื่อแสดงแนวเขตป่าเชิงดอยสุเทพตามภาพถ่ายดาวเทียมฉบับนี้ เส้นสีแดงคือแนวเขตพื้นที่ป่า ซึ่งตัดผ่านอาคารชุดครึ่งหลัง เส้นสีเขียวคือแนวเขตที่ศาลและเครือข่ายขอคืนพื้นที่เจรจาตกลงกันได้ ขอผ่อนปรนให้แนวเขตอ้อมตัวอาคารไปทั้งหลัง นั่นหมายความว่าสิ่งปลูกสร้างที่ประกอบด้วยบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 อาคาร บนเนื้อที่ราว 76 ไร่หลังเส้นสีเขียว จะต้องเข้าสู่การหาแนวทางจัดการสิ่งปลูกสร้างเพื่อการฟื้นฟูป่าดอยสุเทพ


การรังวัดเขตแนวป่าดั้งเดิม น่าจะดำเนินไปได้ด้วยดี บทเรียนที่ผ่านมาที่หน่วยราชการมักกันประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญของท้องถิ่นไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก แต่มันก็เกิดขึ้น


นักข่าวกับชาวบ้าน ไม่ได้รับอนุญาติให้เข้าไปร่วมรังวัดในเขตพื้นที่ ที่ศาลยังถือกรรมสิทธิ์ มีเพียงเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ และทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 ที่เข้าไปได้


"อันที่จริงการรังวัดจะต้องมีหน่วยงานท้องถิ่นเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล ชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมเป็นพยานในการชี้จุด แต่จากการพูดคุยกับตัวแทนศาลก่อนหน้ารังวัด 1 วัน แนวเขตจากภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าวเป็นที่เข้าใจตรงกัน แม้จะรู้สึกไม่ดีบ้างแต่การรังวัดครั้งก็ผ่านไปด้วยดี" ธีระศักดิ์ ระบุ


การรังวัดแนวเขตป่าดั้งเดิม มีขึ้นเพื่อเตรียมมอบพื้นที่กลับคืนกรมธนารักษ์ หลังจากศาลรับมอบงานจากผู้รับเหมาก่อนสร้างเรียบร้อยตามสัญญาจ้าง ในวันที่ 18 มิถุนายน


ขันตอนหลังจากนี้คือกรมธนารักษ์จะส่งมอบที่ดินผืนนี้ แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อผนวกรวมเข้ากับอุทยานแห่งชาติสุเทพ ปุย ตามความต้องการของชาวเชียงใหม่ต่อไป หลังจากนี้จึงจะมีแนวทางในการจัดการสิ่งปลูกสร้างที่ชัดเจนมากขึ้น


ธีระศักดิ์ บอกว่า อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อให้การรื้อบ้าน ไปเป็นอย่างถูกต้องตามกฏหมาย


การทุบทำลายสิ่งปลูกสร้างของทางราชการ มีเงื่อนไขทางกฎหมายที่สามารถทำได้ ชั่วโมงสืบสวน ได้คุยกับ ทนายความศูนย์พิทักษ์และ ฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เขาเห็นว่า กรณีบ้านพักข้าราชการตุลาการ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง เสี่ยงเกิดอันตราย จากดินสไลด์เพราะโครงสร้างทางวิศวกรรมไม่เหมาะสม เป็นเหตุผลตามระเบียบที่ทุบทำลายได้ เนื่องจากมี พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ให้อำนาจรัฐทุกหน่วยงาน ในการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือหากไม่มีทางออกทางกฎหมาย ก็สามารถพิจารณาออกระเบียบข้อกฎหมายเฉพาะ โดยใช้มติคณะรัฐมนตรีมารับรองเรื่องได้


ย้อนไป วันที่ 29 เมษายน เป็นวันที่ต้องบันทึกไว้ เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่นับพันคน ร่วมชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อแสดงพลังคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ


จะก่อให้เกิดอัปมงคลครั้งใหญ่ หรือคำเมืองเรียกว่า ขึดหลวง คือหนึ่งในเหตุผลที่กระทบกระเทือนจิตใจชาวเชียงใหม่ที่ถือว่าดอยสุเทพเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ การก่อสร้างบ้านพักดังกล่าว แม้ผู้สร้างเป็นถึงองค์กรศาลผู้ถือกฎหมาย แต่กลับท้าทายสิทธิ์ของชาวเมือง ละเมิดระบบนิเวศวัฒนธรรม ปรากฏการณ์นี้จึงกลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของรัฐอีกครั้งหนึ่ง


ปฏิเสธไม่ได้ว่า หมู่บ้านป่าแหว่งกลายเป็นบทเรียนของภาครัฐ ในการทำโครงการขนาดใหญ่ที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ จนเกิดความขัดแย้งบานปลาย แม้จะอ้างว่าถูกกฎหมาย แต่ในที่สุดการต่อสู้ของชาวเชียงใหม่ครั้งนี้ สะท้อนว่าฉันทามติร่วมของประชาชน คือกฎกติกาสังคมที่แท้จริง

logoline