svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

บ้านพักตุลาการอยู่บนป่าแหว่งไม่ได้ ยกไปที่ใหม่ดีไหมหนอ?

08 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรณีบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ตอนแรกทำท่าจะบานปลาย แต่ทำไปทำมาจบไวกว่าที่่คิด การเคลื่อนไหวของชาวเชียงใหม่และเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ช่วงแรกๆ สร้างความกังขาแก่ฝ่ายการเมืองที่สงสัยว่า โครงการเดินหน้ามาหลายปีจนตอนนี้ใกล้เสร็จแล้ว ทำไมเพิ่งออกมาต่อต้าน ?

แต่ชาวบ้านยืนยันว่าพยายามคัดค้านมาตั้งแต่เห็นต้นไม้ต้นแรกถูกตัดโค่นและป่าค่อยๆ แหว่งไปทีละน้อยแล้ว แต่รัฐบาลไม่สนใจ



ตอนนี้โครงการคืบหน้าไปมาก ขืนปล่อยให้สร้างเสร็จมีคนเข้าไปอยู่ คงหมดหวังที่จะได้ป่าคืนมา จึงต้องรวมพลังเคลื่อนไหวครั้งใหญ่



กลุ่มคัดค้านยืนกรานว่า การที่จะได้ความสมบูรณ์ของธรรมชาติกลับคืนมา ต้องทุบบ้านเชิงดอยสุเทพทิ้งทั้งหมด ไม่ใช่ให้คนเข้าไปอยู่แล้วค่อยฟื้นฟูทีหลัง



จะว่าไป บ้านหรูหราราคาแพง สร้างกำลังจะเสร็จ ทุบทิ้งก็เสียดาย ปล่อยไว้ก็ทำลายนิเวศป่า วิศวกรใหญ่ อาจารย์ ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเสนอว่า ถ้างั้นยกบ้านทั้งหลังเอาไปตั้งที่ใหม่ก็สิ้นเรื่อง



"บ้านศาลป่าแหว่ง" รื้อ หรือ ไม่รื้อ ? เสนอแก้ปัญหาแบบวิศวกร แก้ได้โดยการ "ย้าย" ทำได้หลายวิธี จะยกย้ายทั้งหลัง ตัดเป็นชั้นๆ ตัดเป็นส่วนๆ หรือถอดออกเป็นชิ้น ทำได้ทั้งนั้น"



ในเฟซบุ๊กของอาจารย์ต่อตระกูล มีภาพตัวอย่างและคำอธิบายการเคลื่อนย้ายอาคารสูงทั้งหลังมาให้ดูด้วย บอกว่า ในสหรัฐอเมริกา การเคลื่อนย้ายอาคารเป็นเรื่องธรรมดา มีบริษัทรับทำเป็นอาชีพ ส่วนเมืองไทยใช้ภูมิปัญญาดีดบ้าน ยกบ้านทั้งหลังหนีน้ำ ทำมานมนานจนตอนนี้สามารถย้ายตึกได้แล้ว

บ้านพักตุลาการอยู่บนป่าแหว่งไม่ได้ ยกไปที่ใหม่ดีไหมหนอ?




ข้อเสนอของวิศวกรท่านนี้ฟังดูน่าสนใจ



ในอเมริกา การเคลื่อนย้ายบ้านและอาคารทำกันมานานหลายทศวรรษ มีสารคดีหลายตอนนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอาคารที่น่าสนใจหลายเรื่อง อย่างในรายการ MAGA MOVERS "อลังการงานขนย้าย" ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ในไทยโดยช่องไทยพีบีเอส ทำให้เห็นว่า การเคลื่อนย้ายอาคารขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องเหนือความสามารถของมนุษย์



ในนิวตัน แมสซาชูเซตส์ โรงพยาบาลนิวตัน เวลลีย์ โรงพยาบาลฝึกหัดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีแผนขยายห้องผ่าตัด ทำให้ต้องย้ายอาคารหลังหนึ่งที่อยู่ติดกันออกไปอีก ในระยะ 365 ฟุต แต่การเคลื่อนย้ายอาคารทั้งหลังซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 900 ตันนั้น ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และต้องมีการคำนวณที่แม่นยำ แต่ เจอร์รี่ มาติโก้ จากบริษัท Expert House Movers กลับทำให้ดูเป็นเรื่องง่าย



Expert House Movers คือตำนานการขนย้ายที่เคยได้รับการบันทึกในกินเนสบุ๊กเมื่อปี 1998 ในการเคลื่อนย้าย เจมส์ เธียเตอร์ อาคารประวัติศาสตร์ใน ดีทรอยต์ มิชิแกน ซึ่งเป็นสถิติการย้ายอาคารหนักที่สุดด้วยล้อยาง แต่สองปีต่อมา พวกเขาก็สร้างบันทึกหน้าใหม่ในการเคลื่อนย้ายโรงละคร "ชูเบิร์ต" ที่มีน้ำหนัก 3,000 ตัน ใน มินนิอาโพลิส มินนิโซตา ซึ่งต้องใช้ชุดล้อไฮโดรสแตติก ซึ่งมีอุปกรณ์เสริมไฮดรอลิกเข้ามาช่วย



สำหรับการเคลื่อนย้านอาคารเอลลิสัน ฮอลล์ ของโรงพยาบาลนิวตัน เวลลีย์ แม้ว่าจะมีขนาดไม่ใหญ่เท่าสถิติที่เคยทำไว้ แต่เอลลิสัน ฮอลล์ มีความยาว 95 ฟุต น้ำหนัก 900 ตัน ก็ต้องใช้คานเหล็กขนาดใหญ่สุดที่ใช้ในการย้ายบ้าน

บ้านพักตุลาการอยู่บนป่าแหว่งไม่ได้ ยกไปที่ใหม่ดีไหมหนอ?


วิธีการของ Expert House Movers จะสอดคานหลักเข้าไปใต้ฐานรากของอาคาร 2 จุด จากนั้นจึงสอดคานแนวขวางเข้าไปเพื่อหนุนโครงสร้างของอาคารเมื่อถูกยกขึ้นจากรากฐาน โดยการใช้แม่แรงไฮดรอลิกนับสิบตัว แต่ละตัวสามารถยกน้ำหนักได้ 50 ตัน และเมื่อตัวอาคารถูกยกขึ้นจนได้ระดับ ล้อขนย้ายซึ่งมีลักษณะคล้ายเทรลเลอร์ก็ถูกสอดเข้าไปใต้คาน และยึดเข้ากับมัน ก่อนเคลื่อนย้ายไปยังจุดที่ตั้งใหม่ที่มีการสร้างฐานรากใหม่รองรับไว้แล้ว



นั่นคือความตื่นตาของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างขนาดมหึมา ที่ปัจจุบันเป็นเรื่องธรรมดามากในหลายประเทศ



กลับมาที่บ้านเรา กรณีบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชิงดอยสุเทพ อาจารย์ต่อตระกูล บอกว่า ถ้าจะขนย้ายออกไปก็สามารถทำได้ แต่อาจจะมีความยาก เพราะโครงสร้างเป็นบ้านโปร่ง แต่ก็มีวิธีการ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีคนยกเสาบ้านเพื่อหนีน้ำท่วมเหมือนกัน โดยขณะขนย้ายก็อาจใช้โซ่และอุปกรณ์ยึดโยงโครงสร้างให้แข็งแรง



"เชื่อว่าในไทยมีผู้รับเหมาที่สามารถยกเสาบ้านได้ และมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถจะเคลื่อนย้ายบ้านได้"



กับข้อกังวลที่ว่าจะต้องเคลื่อนย้ายบ้านจากดอยลงมานั้น อาจารย์ต่อตระกูลมองว่า ที่บ้านป่าแหว่งทางไม่ได้ลาดชันจนเป็นหน้าผา ทางแก้คือต้องมีอุปกรณ์บนตัวรถเคลื่อนย้ายที่คอยยกให้บ้านตั้งฉากอยู่เสมอ ซึ่งวิธีการเช่นนี้ที่ต่างประเทศมีทำมาแล้ว โดยเป็นการออกแบบรถเพื่อเคลื่อนย้ายลักษณะนี้โดยเฉพาะ



ส่วนข้อเสนอที่ให้ตัดบ้านเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไปประกอบใหม่ก็เคยมีกรณีที่ประเทศอียิปต์ ตัดรูปปั้นขนาดใหญ่เพื่อเคลื่อนย้ายไปประกอบอีกที่หนึ่งก็ทำได้



อาจารย์ต่อตระกูลบอกว่า ที่ออกมาเสนอแบบนี้เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่คุ้มค่า และสามารถหาทางออกให้แก่ทั้งสองฝ่ายได้ โดยที่ไม่ต้องทุบบ้านทิ้งให้สูญเปล่า

บ้านพักตุลาการอยู่บนป่าแหว่งไม่ได้ ยกไปที่ใหม่ดีไหมหนอ?

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ต่อตระกูล ยมนาค



แนวคิดของอาจารย์ต่อตระกูล น่าสนใจและมีผู้แสดงความเห็นสนับสนุนมากพอสมควร ส่วนใหญ่เสียดายบ้าน ไม่อยากให้ทุบทิ้ง แต่จะปล่อยให้เป็นสิ่งแปลกปลอมอยู่บนดอยก็ไม่ควร ฉะนั้นถ้าย้ายบ้านทั้งหลังเอาไปใช้ประโยชน์ที่อื่นได้ก็น่าจะดี



ทว่าเมื่อสอบถามไปยังบริษัทรับดีดบ้านและเคลื่อนย้ายบ้านหลายแห่ง ไม่แน่ใจว่าการย้ายบ้านตุลาการบนเชิงดอยสุเทพทั้งหลังจะทำได้ง่ายอย่างที่คิดหรือไม่ เพราะมีอุปสรรคเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเป็นที่ลาด



ปราโมทย์ เหลืองรุ่งทรัพย์ ผู้บริหาร หจก.เหลืองรุ่งทรัพย์ก่อสร้าง บอกว่า การเคลื่อนย้ายบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างทั้งหลังต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งตัวโครงสร้าง วัสดุ ระยะทาง และสถานที่



จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในวงการการก่อสร้าง และเคลื่อนย้ายอาคารมานาน ปราโมทย์รับประกันว่า การเคลื่อนย้ายบ้านในแนวระนาบไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่กรณีการย้ายบ้านตุลาการบนป่าแหว่ง เชิงดอยสุเทพ 45 หลัง คงเป็นเรื่องใหญ่มาก และไม่หมูเหมือนกับที่ Expert House Movers ย้ายโรงพยาบาลนิวตัน เวลลีย์ ในแมสซาชูเซตส์



"ถ้าพูดถึงเทคนิคการย้ายบ้านทั้งหลังทำได้ เรามีเครื่องมือ มีแม่แรงขนาด 100 ตัน สามารถดีดบ้านขึ้นมาแล้วใช้รถแบบเทรลเลอร์ขนย้าย แต่ก็มีขนาดไม่ใหญ่มากและย้ายในแนวระนาบ อย่างเช่นกุฏิวัดพระธรรมกายขนาด 4x6 เมตร แต่กรณีบ้านเชิงดอยสุเทพ ค่อนข้างหลังใหญ่ และพื้นที่เป็นดอย การเคลื่อนย้ายทั้งหลังคงทำยาก และเสี่ยงกับความเสียหาย บางทีอาจไม่คุ้มค่า"



แม้กระนั้น หากต้องการรักษาบ้านพักตุลาการไว้ แม้ต้องย้ายไปไว้ที่อื่น ปราโมทย์มองว่า การใช้วิธีตัดบ้านออกเป็นส่วนแล้วค่อยนำไปประกอบบนพื้นที่ใหม่ ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่เป็นไปได้มากที่สุด วิธีนี้จะช่วยลดขนาดและแรงเครียดของตัวอาคารเพื่อไม่ให้เกิดการแตกร้าวขณะขนย้าย แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ต้องดูเรื่องโครงสร้างและวัสดุของตัวอาคารอย่างที่บอกไปแล้วอีกครั้งว่าเอื้อต่อการขนย้ายหรือไม่



แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การจัดการกับบ้านพักตุลาการบนพื้นที่ป่าแหว่ง แม้ว่านายกฯ ลุงตู่ จะส่ง สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ไปเจรจากับเครือข่ายประชาชนฯ ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และได้ข้อยุติว่า จะล้มโครงการแล้วคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์เพื่อมอบให้กรมป่าไม้เข้าไปปลูกป่าทดแทนแล้ว



แต่ในส่วนของบ้านพัก 45 หลัง กับอาคารชุดอีก 9 หลัง ที่ยังไม่มีแนวทางว่าจะจัดการอย่างไรต่อไปนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า รัฐบาลอาจตั้งทีมงานขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้ในการเคลื่อนย้ายบ้านทั้งหมดออกไปแล้วหาที่ลงหลักปักฐานใหม่ โดยไม่ต้องทุบทิ้งให้สูญเปล่า ถ้าทำแบบนี้ได้ก็คงจะดีทีเดียว

logoline