svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แรงงานคืนถิ่น แก้ปัญหาหนี้สินถาวร ได้หรือไม่ ?

01 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม่มีใครอยากเกิดมาจน แต่คนเรามีต้นทุนชีวิตที่ต่างกัน คนส่วนใหญ่ของสังคมนี้ล้วนอยู่ในฐานะผู้ใช้แรงงาน หรือในอดีตคือ "ไพร่" ไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่ร้อยปีความเหลือมล้ำในสังคมก็ไม่เคยเปลี่ยน

เพราะแต่ละชีวิตล้วนมีต้นทุนที่ต่างกัน ทุกชีวิตจึงขวนขวายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และดูเหมือนว่าการมีเงินมากๆ จะเป็นคำตอบของชีวิตที่ดี ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นต้นเหตุของปัญหาหนี้สินของชนชั้นแรงงานที่กำลังเผชิญอยู่


ผมเชื่อว่าวันแรกของการได้สัมผัสเงินก้อน แม้เป็นเงินกู้ จิตใจมันจะรู้สึกฟองโต รู้สึกปลอดภัย รู้สึกมั่นคง และมันช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นมาได้จริงๆ อยากได้อะไรก็ได้ดังใจ แต่เพราะเป็นเงินกู้ปัญหาจึงตามมา เพราะในระยะยาวมันกลายเป็นรายจ่ายที่ต้องผ่อนไป (พร้อมดอกเบี้ย) ทุกเดือนๆ


มองย้อนกลับไปในวันที่เราเริ่มเป็นหนี้ ณ เวลานั้นมันอาจไม่มีทางเลือก คนเรามีสาเหตุความจำเป็นต้องใช้เงินในหลายมิติ แต่หลักการของการกู้เงินก็คือ "กู้มาเพื่อก่อประโยชน์ไม่ใช่กู้มาบริโภคแล้วหมดไปโดยทุกอย่างเป็นศูนย์"


แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าพี่น้องแรงงานจะสามารถใช้หลักการกู้เงินแบบนี้เช่นเดียวกันได้หรือไม่ เมื่อการกู้เงินเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นการต่อลมหายใจของชีวิตในแต่ละวัน


ผมไม่อยากเขียนอธิบายเรื่องราวของชีวิตแรงงานที่เป็นหนี้ว่ามันมีความยากลำบากแค่ไหน แต่เรื่องราวชีวิตเหล่านี้ก็เห็นได้ตามรายการปลดหนี้ต่างๆ ตามโทรทัศน์บ้านเรา และมันสะท้อนปัญหาหนี้สิน ปัญหาความเหลือมล้ำได้เป็นอย่างดี


นักการเมืองรุ่นใหม่ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่อย่าง "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ให้สัมภาษณ์กับช่องไทยพีบีเอสว่า "เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่เป็นหนี้ คือชีวิตที่ติดลบ" เขามีแนวคิดในการสร้าง และพัฒนางานในท้องถิ่น ให้แรงงานคืนถิ่น เป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งผมคิดว่าแนวคิดนี้มาถูกทาง


มาถูกทางอย่างไร ? นักเศรษฐศาสตร์น่าจะอธิบายได้ดีกว่าผม แต่ผมจับต้องได้ว่า "ถ้าคนทำงานใกล้บ้านจะลดรายจ่ายลงไปได้เยอะมาก ทำให้นำเงินส่วนนั้นมาใช้ประโยชน์อื่นๆได้อีก (และนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น)"


ผมยอมรับว่าผมมีทัศนะคติที่ดีกับผู้ที่เป็นหนี้ ผมจึงไม่อยากเขียนโทษที่เรื่องของความฟุ่มเฟือย ความไม่จำเป็น หรือไม่มีความรู้มากพอเหมือนอย่างที่หลายองค์กรที่รณรงค์ด้านการแกปัญหาหนี้สินมักกล่าวโทษประชาชนกลุ่มนี้ว่าไม่ประหยัด


ปัญหาหนี้สินอาจแก้ไขด้วยหลักรัฐศาสตร์ เป็นที่มาของข้อเรียกร้องแรงงานเรื่องนโยบายรัฐสวัสดิการ ค่าแรง และการบริหารเศรษฐกิจให้ผลประโยชน์กระจายลงสู่รากหญ้าอย่างแท้จริง


อย่างไรก็ตามแรงงานที่เผชิญปัญหาหนี้อาจรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัวเมื่อพูดถึงหลักรัฐศาสตร์ แต่ถ้าบอกว่ารัฐทำให้รายจ่ายครอบครัวลดลง อันนี้พอใกล้ตัว รัฐจะทำให้รายจ่ายครัวเรือนลดลงอย่างไร? ที่ผ่านมาก็ เช่น การโดยสารฟรี รักษาฟรี เรียนฟรี ประหยัดไฟมีส่วนลด ควบคุมราคาอาหาร ... แต่เหล่านี้ก็ทำมาหมดแล้วแต่ทำไมหนี้สินยังมากอยู่ ?


จริงๆ ค่าใช้จ่ายจุกจิกเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่หากพิจารณาจากปัจจัย 4 แรงงานจำนวนไม่น้อยที่ทำงานใน กทม. ยังต้องเช่าบ้าน บางคนลดรายจ่ายด้วยการเช่าบ้านอยู่กันหลายคน คุณภาพชีวิตก็ไม่ค่อยดี


แต่ถ้าแรงงานกลับบ้านมีงานรองรับน่าจะแก้ปัญหาหนี้ได้ดี เพราะบ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง รายจ่ายก็น่าจะพอมีไปทำอย่างอื่น


แต่ทุกวันนี้กลับบ้าน ไม่ใช่ทางเลือกของแรงงาน เพราะไม่มีงาน และไม่มีเงินเดือนที่เทียบเท่า กทม. ปัญหาจึงวนเวียนไม่จบสิ้น

logoline