svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

รถไฟฟ้ายังไม่มานะเธอสายแดงอ่อนรอจนทรุด!

27 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"หลายปีกับการรอคอย สายสีแดงอ่อน ตอนนี้สถานีเริ่มทรุด แผงอะลูมิเนียมด้านหน้าสถานีเริ่มหลุด เสาต่างๆ เริ่มกลายเป็นที่ตากผ้า #สร้างเสร็จมาแล้วกว่า 5 ปี ทุกวันนี้ยังเหมือนเดิม"


หลังเทศกาลสงกรานต์ 2561 ผ่านไปไม่กี่วัน โซเชียลมีเดียมีภาพถ่ายสถานีรถไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่ดูเหมือนยังไม่ได้เปิดใช้งาน แต่กลับมีสภาพทรุดโทรมคล้ายกับที่รกร้างปรากฏให้ตื่นเต้นกันเล็กน้อย พร้อมกับข้อความบรรยายประกอบตามบรรทัดข้างบน ทำให้นึกขึ้นว่า รถไฟฟ้าสายนี้มันเปิดวิ่งกันแล้วหรือนี



ภาพเหล่านี้ถูกโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กในกลุ่มชมรมคนรักรถไฟฟ้า โดย "Piyawat Trithavin" เมื่อวันที่ 17 เมษายน และความจริงรถไฟฟ้าสายนี้ คือสายสีแดงอ่อนเส้นทางตลิ่งชัน-บางซื่อ ยังมิได้เปิดให้บริการแต่อย่างใด



ภาพที่โพสต์นั้น จุดเกิดเหตุคือ สถานีบางซ่อน ซึ่งเป็นจุดตัดแบบกากบาทกับสถานีบางซ่อนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง หรือเอาง่ายๆ ก็คืออยู่เหนือขึ้นไปจากสถานีรถไฟ(รฟท.)บางซ่อนนั่นเอง แต่ภาพที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กนำมาเผยแพร่ให้เห็นรอยแตกร้าวลึงไปถึงเนื้อใน คล้ายอาการทรุดตัวของโครงสร้างสถานีนั้น สันนิษฐานแบบมองบวกว่าอาจเป็นเพราะวัสดุก่อสร้างเช่นคอนกรีตเริ่มเสื่อมสภาพลงตามระยะเวลา เพราะโครงการนี้ก่อสร้างเสร็จมาแล้ว 5 ปีกว่า จะว่าเก่าก็ไม่ใช่ จะว่าใหม่ก็ไม่เชิง

รถไฟฟ้ายังไม่มานะเธอสายแดงอ่อนรอจนทรุด!



ทีนี้จึงมีคำถามว่า ในเมื่อสร้างเสร็จตั้งนานขนาดนั้น จะรออะไรอยู่ล่ะ! ก็หาขบวนรถไฟมาวาง เสียบปลั๊กทีเดียวก็น่าจะวิ่งได้แล้ว



แต่ความจริงไม่ใช่นะ !! ฟังคำชี้แจงจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เจ้าของโครงการดูหน่อยเป็นไร



เอาเรื่องอาคารทรุดก่อนละกัน รฟท.ชี้แจงแบบนี้ว่า ภาพที่ปรากฏคือภาพที่อยู่ในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟบางซ่อน ของโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-บางซื่อ จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า สาเหตุเกิดจากการทรุดตัวของดินบริเวณชานชาลาด้านล่าง ส่งผลให้กำแพงบริเวณทางลาดที่ใช้สำหรับรถเข็นคนพิการทรุดตัวลง แต่มิได้กระทบกับโครงสร้างหลักของตัวอาคาร และได้มอบหมายให้วิศวกรเร่งรัดดำเนินการแก้ไข เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ก่อนเปิดการเดินรถต่อไปแล้ว



ลักษณะการทรุดตัวของโครงสร้างนี้ กำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษ และผู้อำนวยโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง อธิบายว่าเกิดตรงจุดที่มีเสาเข็ม เมื่อเสาทรุดตัว ก็จะดึงโครงสร้างที่อยู่ติดกับพื้นดินให้แตกร้าว ซึ่งเกิดขึ้นได้กับอาคารทั่วไปในกรุงเทพฯ ที่ก่อสร้างบนพื้นที่บริเวณที่มีดินอ่อน



รองวิศวกรใหญ่ ย้ำว่า อาการลักษณะนี้ไม่มีอันตรายต่อโครงสร้าง การซ่อมแซมก็แค่สกัดปูนออกแล้วก็ปะเข้าไปใหม่ แต่นานไปก็อาจแตกร้าวได้อีก ซึ่งสถานีอื่นก็มีการทรุดตัว แต่ไม่มากและยืนยันว่าไม่เป็นอันตรายแน่นอน



จบเรื่องรอยร้าว ทีนี้มาถึงเรื่องเสาตากผ้าราคาแพงที่สุดในโลก สร้างเสร็จตั้งนาน ใช้งานไม่ได้ !?



รฟท.ชี้แจงแบบนี้...

รถไฟฟ้ายังไม่มานะเธอสายแดงอ่อนรอจนทรุด!


โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ก็คือรถไฟชานเมืองสายตะวันออก-ตะวันตก เป็นโครงการรถไฟชานเมืองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง(เข้ม) โครงสร้างทางวิ่งช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ ระยะทาง 15 กิโลเมตร ปัจจุบันงานก่อสร้างได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่เนื่องจากการเดินขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองจะเชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกันกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อรังสิต ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งการก่อสร้างโครงการช่วงบางซื่อ-รังสิต มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2563



โอ้พระเจ้าจอร์จ!! อีกเกือบ 3 ปี รอสายสีแดงเสร็จมีหวังต้องกลับมาซ่อมสายแดงอ่อนต่ออีก ชาตินี้จะได้นั่งกันมั้ยเนี่ย !?



ต้องได้นั่งแน่ รออีก 2-3 ปี "รถไฟฟ้าจะมาหานะเธอ" นั่งกันให้หายอยาก จากตลิ่งชันยันรังสิตไปเลย



มีหลักประกันเอาไว้ ตามที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งนั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) รับทราบความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 11 เส้นทาง เตรียมทยอยเปิดใช้บริการตั้งแต่ในปี 61 คือสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ จากนั้นในปี 63 เปิดบริการ 4 เส้นทาง เช่น สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต สายสีแดงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน สายสีน้ำเงินช่วง บางซื่อ-ท่าพระ-หัวลำโพง จากนั้นในปี 64 เปิดบริการในสายสีเหลือง สีชมพู, ปี 65 สายสีแดงเส้นทางตลิ่งชัน-ศิริราช, ตลิ่งชัน-ศาลายา, บางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก



ห้วงเวลานี้ขอจงอดกลั้นและรอหน่อย การก่อสร้างสาธารณูปโภคในเมืองใหญ่สมัยนี้มีข้อจำกัดหลายด้าน



แต่ฟังมาว่า งานนี้คุ้มค่ากับการรอคอยแน่นอน เพราะเมื่อรถไฟฟ้าเกือบทุกสายทั้งใต้ดินบนดิน รถไฟความเร็วสูงแอร์พอร์ตลิงก์จากพญาไทไปดอนเมืองเสร็จสมบูรณ์เมื่อไร จะมารวมศูนย์กันอยู่ที่ "สถานีกลางบางซื่อ"



ใครๆ ที่รอคอยสายสีแดงอ่อนเปิดใช้ในปี 2563 ก็ลองนึกภาพตามดูก็ได้ว่าจะสะดวกแค่ไหน เมื่อสถานีรถไฟต้นทางย้ายจากหัวลำโพงมาบางซื่อ จะไปเหนือ อีสาน ล่องใต้ ล้วนสะดวกโยธิน



ยกตัวอย่างเช่น ผู้โดยสารที่ตีตั๋วต้นทางสถานีตลิ่งชัน เมื่อมาถึงสถานีกลางบางซื่อ เมื่อลงจากรถไฟแล้ว เท้าแตะชานชาลาจะพบว่า รอบข้างซ้ายขวาเป็นวิวทิวทัศน์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เรียกได้ว่า เปิดมุมมองใหม่ของกรุงเทพฯ ฝั่งเหนือกันเลยทีเดียว เพราะจุดที่คุณยืนอยู่นั้น คือชั้น 4 ชานชาลาสถานีกลาง



เมื่อลงบันไดเลื่อนมาชั้น 3 จะเป็นจุดต่อรถไฟทางไกลไปสายเหนือ ตะวันออก และสายใต้ และชั้นนี้ก็สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้อีกเหมือนกัน ลงไปอีกชั้น คือชั้น 2 จะมีทางเชื่อมต่อไปสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตของบีทีเอส มีร้านค้า ช็อปปิ้งมอลล์ สารพัดครบครัน



ส่วนล่างสุดเป็นชั้นใต้ดิน จัดเตรียมที่จอดรถไว้บริการ 1,700 คัน เชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที 2 สถานีคือ สถานีกำแพงเพชรกับสถานีสวนจตุจักร



แต่จะอย่างไร ก็อดห่วงไม่ได้ว่า กว่าจะถึงวันได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน แบบเชื่อมต่อครบวงจร โครงสร้างที่ทำเสร็จรอมาแล้วถึง 5 ปี นับนิ้วบวกอีก 3 สิริรวม 8 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น จะไม่มีอาการเปื่อยยุ่ยเสียหายก่อนเวลาอันควรละหรือ



ภาพสถานีทรุด ที่โพสต์ในโซเชียล คือคำเตือนว่า รฟท.จะปล่อยราง สถานี รวมทั้งโครงสร้างอื่นๆ ไว้เฉยๆ โดยไม่มีกิจกรรมเอ็กเซอร์ไซส์อะไรไม่ได้อีกแล้ว



เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า ต่อเชื่อมเต็มระบบ ต้องย้อนกลับมาซ่อมโครงสร้างสายบางซื่อ-ตลิ่งชันกันใหม่ ช้ำใจกันเปล่าๆ

logoline