svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เปิดบัญชี "สารอันตราย" ผลิตภัณฑ์สุขภาพเสี่ยง

26 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบสารปนปลอมที่เป็นอันตรายในผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างต่อเนื่อง หากผู้บริโภคประสงค์จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จำเป็นต้องมีความรู้ ใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณา


การดำเนินการต่อเนื่องภายหลังบุกทลายโรงงานผลิตของบริษัท เมจิกสกิน จำกัด คือ การนำส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้เป็นของกลางเพื่อตรวจหาสารอันตรายที่ห้ามใช้ รวมถึง การตรวจจับและสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) แต่ละครั้งก็จะมีการส่งตรวจสารอันตรายเช่นกัน โดยหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการตรวจ ได้แก่ "กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์" กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งที่ผ่านมาตรวจพบการลักลอบใช้สารอันตรายในผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายรายการ




นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของกรม ทั้งการตรวจวิเคราะห์ด้านอาหาร ยา สารเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท สารระเหยเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ รังสี ชีววัตถุ และวัตถุอันตรายทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมคุณภาพประสิทธิภาพและมาตรฐานให้เป็นไปตามกฎหมายและเป็นหลักฐานทางคดี




กรมจะได้รับการนำส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับตรวจวิเคราะห์จาก 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ที่ อย. มีการตรวจจับในส่วนกลาง จะส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2.ผลิตภัณฑ์ที่ สสจ.ตรวจจับในพื้นที่ภูมิภาค ส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีอยู่ 15 แห่งทั่วประเทศ 3.การตรวจโดยการเฝ้าระวังของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และ 4.ผู้ประกอบการส่งผลิตภัณฑ์มาตรวจวิเคราะห์เพื่อใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์ตั้งแต่ 500-33,050 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดสารที่ต้องการตรวจ

เปิดบัญชี "สารอันตราย" ผลิตภัณฑ์สุขภาพเสี่ยง




สำหรับผลการตรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพจากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าในแต่ละผลิตภัณฑ์ ทั้งอาหารเสริม เครื่องสำอางและยา มีการลักลอบใส่สารอันตรายหลายรายการ โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีสารปนปลอมโดยมีการผสมยาแผนปัจจุบัน แยกเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ได้แก่ ยาลดความอ้วน อีเฟดรีน ไซบูทรามีน  ซึ่งจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ไม่รู้สึกหิว แต่เกิดอาการทางจิตและประสาท พบอันตรายทำให้การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ และทำให้เสียชีวิตได้




ยาลดความอยากอาหาร ยาเฟนฟลูรามีน มีโอกาสเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่ว ประสาทหลอนได้  ยาฟลูออกซีทีน เป็นยารักษาโรคซึมเศร้าและอาการในกลุ่มโรควิตกกังวล ซึ่งมีผลข้างเคียงในการช่วยทำให้ไม่อยากอาหาร นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดอาการผื่นคัน มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ เหงื่อออก สับสน มีอาการชัก ท้องเสีย วิงเวียน หายใจลำบาก




ยาระบาย ยาฟีนอล์ฟทาลีน มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ยาระบายบิสซาโคดิล เป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ผนังลำไส้ใหญ่บีบตัว ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวจนเกิดการขับถ่าย ใช้บรรเทาอาการท้องผูกเท่านั้น ไม่มีผลต่อการลดความอ้วน




ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อเสริมสมรรถภาพทางเพศ พบสารปนปลอม ซิลเดนาฟิล ทาดาลาฟิล และวาร์เดนาฟิล อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น มีอาการหัวใจวาย เส้นโลหิตในสมองแตก หัวใจเต้นผิดปกติ เลือดออกในสมองหรือปอด ความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตเฉียบพลัน

เปิดบัญชี "สารอันตราย" ผลิตภัณฑ์สุขภาพเสี่ยง




เครื่องสำอางทำให้ขาวใส พบส่วนผสมและสารต้องห้ามใช้ ได้แก่ ปรอท ไฮโดรควิโนน สเตียรอยด์ กรดเรทิโนอิก ทำให้ผิวขาวใสได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้ คือ รอยไหม้ดำ รอยแดง ผื่นแพ้ หน้าบาง ไวต่อแสง ติดเชื้อง่าย หรือเป็นฝ้าถาวร เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกิดการสะสม ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ตับไตอักเสบ โลหิตจางและเป็นอันตรายต่อทารกในสตรีมีครรภ์



ผสมสเตียรอยด์ หลังการใช้ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ฤทธิ์ของสเตียรอยด์จะทำให้เกิดผดผื่นได้ง่าย เป็นสิวผด เป็นปื้นๆ ผิวแดง มีอาการคัน ผิวบางและแพ้ง่าย สิวเกิดเป็นเม็ดแดงๆ ขึ้นกระจายทั่วใบหน้าหรือเป็นกระจุกบริเวณใดบริเวณหนึ่ง แต่จะขึ้นมากบริเวณที่ทาครีมหรือยาที่มีสเตียรอยด์ เกิดสิวอุดตัน หลังหยุดใช้ ผิวจะดูเหี่ยวเร็ว เพราะสเตียรอยด์จะเข้าทำลายกระบวนการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว ทำให้หน้าหมองคล้ำได้ เนื่องจากผิวขาดความชุ่มชื้น เกิดรอยแตก รอยแยกบนผิวหนัง เส้นเลือดใต้ผิวหนังผิดปกติ ทำให้มีอาการหน้าแดงอยู่ตลอดเวลา ผิวหนังจะมีสีจางลง หากใช้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดด่างขาวถาวร




ยาแผนโบราณ พบลักลอบผสมยาแผนปัจจุบัน กลุ่มยาสเตียรอยด์เดกซาเมทาโซน และ เพรดนิโซโลน จัดเป็นยาแผนปัจจุบันควบคุมพิเศษ ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหารถึงขั้นกระเพาะทะลุได้ ทำให้ตัวบวม หน้าบวม กระดูกผุกร่อน และเปราะหักง่าย ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง

เปิดบัญชี "สารอันตราย" ผลิตภัณฑ์สุขภาพเสี่ยง

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

"ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบสารปลอมปนที่เป็นอันตรายในผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างต่อเนื่อง หากผู้บริโภคประสงค์จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จำเป็นต้องมีความรู้ ใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณา หากมีอาการผิดปกติหลังจากการใช้ ให้หยุดการใช้ รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป" นพ.สุขุมกล่าว



15 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์ที่ 1 เชียงใหม่ ศูนย์ที่ 1/1 เชียงราย ศูนย์ที่ 2 พิษณุโลก ศูนย์ที่ 3 นครสวรรค์ ศูนย์ที่ 4 นนทบุรี ศูนย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ศูนย์ที่ 6 ชลบุรี ศูนย์ที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์ที่ 8 อุดรธานี ศูนย์ที่ 9 นครราชสีมา ศูนย์ที่ 10 อุบลราชธานี ศูนย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ศูนย์ที่ 11/1 ภูเก็ต ศูนย์ที่ 12 สงขลา ศูนย์ที่ 12/1 ตรัง


 

logoline