svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ระบบอุปถัมภ์ในการปกครองคณะสงฆ์ ต้นตอทุจริต?

26 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหาการทุจริตงบอุดหนุนวัด นับตั้งแต่กรณี "เงินทอน" อันลือลั่น จากงบบูรณปฏิสังขรณ์วัดปีละกว่า 500 ล้านบาท ลุกลามมาจนถึงการทุจริตงบอุดหนุนการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ปีละกว่า 1,200 ล้านบาท และงบเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปีละกว่า 600 ล้านบาทนั้น ทำให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมชาวพุทธว่า ต้นตอของปัญหาเกิดจากอะไรกันแน่


"ไพบูลย์ นิติตะวัน" อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ชี้ว่า สาเหตุสำคัญมาจากรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่รวมศูนย์อำนาจ ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี ทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง




ไพบูลย์ ยกตัวอย่างการตั้ง "เจ้าคณะภาค" เพื่อปกครองคณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาค ปรากฏว่าการแต่งตั้งเป็นอำนาจของกรรมการมหาเถรสมาคม ทำให้มหาเถรฯ เห็นชอบให้พระภิกษุในสายของตนเองไปดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค จะเห็นได้ว่ากรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) หลายรูป ก็มีตำแหน่งเจ้าคณะภาคพ่วงอยู่ด้วย ขณะที่เจ้าคณะภาคเองก็มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดก็มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าคณะอำเภอ เรื่อยลงไปจนถึงเจ้าคณะตำบล จนกลายเป็นการผูกขาดอำนาจการปกครองสงฆ์ทั้งประเทศ

ระบบอุปถัมภ์ในการปกครองคณะสงฆ์ ต้นตอทุจริต?




ที่สำคัญที่สุดในความเห็นของไพบูลย์ ก็คือ การที่กรรมการมหาเถรสมาคมยังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเองด้วย ฉะนั้นเมื่อจะต้องออกกฎกติกาเพื่อควบคุมดูแลวัด อย่างเช่นก่อนหน้านี้ที่มีการเสนอให้ออกกฎ "ควบคุมบัญชีรายรับรายจ่ายของวัด" ทางมหาเถรฯ ก็ไม่ขยับทำตามข้อเสนอ ทำให้สังคมข้องใจเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน




ส่วนการแต่งตั้งเจ้าคณะปกครองระดับต่างๆ ก็ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจน จึงมีการตั้งในลักษณะที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการ "ตั้งตามอำเภอใจ" หรือไม่ เพราะเจ้าคณะภาคในภูมิภาคต่างๆ หลายๆ รูปก็เป็นพระในกรุงเทพฯ และเป็นเจ้าอาวาสวัดในกรุงเทพฯ นี่เอง แต่กลับได้รับแต่งตั้งให้ไปปกครองคณะสงฆ์ในต่างจังหวัด




ระบบอุปถัมภ์ในการปกครองคณะสงฆ์ ต้นตอทุจริต?




ไพบูลย์ สรุปว่า รูปแบบการปกครองคณะสงฆ์แบบนี้ ทำให้เกิด "เครือข่ายอุปถัมภ์ขนาดใหญ่" ซ้ำยังรวบอำนาจ ขาดกลไกตรวจสอบถ่วงดุล เปรียบเหมือนการตั้งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไปเป็นรัฐมนตรีที่คุมรัฐวิสาหกิจนั้นเสียเอง แล้วรัฐมนตรีจะออกกติกาควบคุมรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นหรือไม่



ความเห็นของอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาอย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน สอดคล้องกับทัศนะของ "หลวงปู่พุทธะอิสระ" หรือ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ที่บอกว่า ปัจจุบันโครงสร้างการปกครองสงฆ์ที่มีมหาเถรสมาคมเป็นศูนย์กลางนั้น มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ คือ ออกกฎระเบียบต่างๆ อำนาจบริหาร คืออำนาจการปกครองคณะสงฆ์ การแต่งตั้งพระภิกษุไปเป็นเจ้าคณะปกครอง และอำนาจตุลาการ คือพิจารณาตัดสินอธิกรณ์ของพระที่ถูกกล่าวหา



แต่ไม่เฉพาะอำนาจของมหาเถรสมาคมเท่านั้นที่มีการรวมศูนย์ เพราะพระเถระที่ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมเอง ก็ยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะวัดใหญ่ๆ ดังๆ ในกรุงเทพฯ เท่านั้น อย่างวัดใหญ่บางวัด เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมถึง 3 รูปจาก 20 รูป ทั้งๆ ที่ทั่วประเทศไทยมีวัดเป็นแสนๆวัด



แนวทางการแก้ไขปัญหานี้ ทั้งหลวงปู่พุทธะอิสระ และ ไพบูลย์ นิติตะวัน เห็นตรงกันว่า จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อรื้อโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจและทำให้เกิดเครือข่ายอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ในวงการผ้าเหลือง



เริ่มจากแนวทางของไพบูลย์ก่อน เขาบอกว่าโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์จะต้องกลับด้านจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 180 องศา กล่าวคือให้พระภิกษุจากทั้งประเทศมีอำนาจจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่โครงสร้างที่มหาเถรสมาคมมีอำนาจเบ็ดเสร็จจาก "บนลงล่าง" ดังเช่นปัจจุบัน



ผลการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุว่า รูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี ทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง อำนาจในการดูแลวัด กฎหมายก็ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่ "เจ้าอาวาส" เพียงรูปเดียว



ฉะนั้นวิธีการแก้ไขโครงสร้างแบบกลับด้าน เริ่มจากการยกเลิกอำนาจเบ็ดเสร็จของเจ้าอาวาสเสียก่อน ด้วยการให้มี "คณะปกครองสงฆ์" ขึ้นมาแทน โดย "ประธานคณะปกครองในวัด" ก็คือเจ้าอาวาส แต่ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดเพียงรูปเดียว เพราะพระภิกษุในวัดจะมีส่วนร่วมในการปกครองวัดด้วย ในรูปของ "คณะกรรมการ"



ส่วนตำแหน่งปกครองสงฆ์ในระดับ "เจ้าคณะตำบล" ให้ยกเลิกไป เพราะไม่มีประโยชน์ ให้มีเฉพาะระดับ "เจ้าคณะอำเภอ" แต่เปลี่ยนใหม่เป็น "คณะปกครองสงฆ์อำเภอ" คล้ายๆ กับ "คณะปกครองสงฆ์ในวัด" โดยให้พระภิกษุในอำเภอนั้นๆ เสนอชื่อ แล้วเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมากที่สุด 7 ลำดับแรกเป็น "คณะปกครองสงฆ์อำเภอ"



เมื่อมี "คณะปกครองสงฆ์อำเภอ" แล้ว ก็เลือกตัวแทนจากทุกอำเภอไปเป็น "คณะปกครองสงฆ์จังหวัด" และระดับจังหวัดก็เลือกคณะปกครองสงฆ์ประเทศ ส่วนมหาเถรสมาคมก็ปรับบทบาทไปเป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระสังฆราช



แนวคิดนี้คล้ายๆ กับข้อเสนอของ "หลวงปู่พุทธะอิสระ" ที่อยากให้ทุกฝ่ายย้อนกลับไปพิจารณารูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ ก่อนจะมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในปี 2505 ซึ่งเป็นรูปแบบ "สภาสังฆมณฑล" แยกเป็นภาคๆ มีอำนาจในการจัดการปัญหาต่างๆ ของสงฆ์ในพื้นที่นั้นๆ ไม่ใช่รวมศูนย์ไว้ที่มหาเถรสมาคมแห่งเดียว มีอำนาจดูแลทั่วประเทศแบบปัจจุบัน



หลวงปู่พุทธะอิสระแสดงความเห็นทั้งจากการให้สัมภาษณ์และโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้งว่า การจะแก้ปัญหาในวงการผ้าเหลืองได้ชะงัด ต้องยุบมหาเถรสมาคม เหลือไว้แต่สมเด็จพระสังฆราช จากนั้นก็คัดสรรพระจากสังฆมณฑลต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่กรรมการมหาเถรสมาคม แยกงานแยกฝ่ายกันรับผิดชอบตามความสามารถอย่างชัดเจน พร้อมทั้งตั้ง "ตำรวจพระ" คอยติดตามพฤติกรรมของภิกษุ และดูแลความสงบเรียบร้อยในวงการสงฆ์ด้วย



ข้อเสนอเหล่านี้นับว่าท้าทายทั้ง "ศาสนจักร" และ "สังคมไทย" อย่างยิ่ง เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระดับพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลักดันให้สำเร็จ แต่หากยังอยู่นิ่งๆ ต่อไป ไม่ผ่าตัดอะไรเลย วงการสงฆ์ก็จะอยู่ท่ามกลางข่าวฉาว ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอนวัด เงินอุดหนุนการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม และงบเผยแผ่พระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากมายที่รอคิวถูกตรวจสอบ โดยเฉพาะโครงการพระธรรมทูต

logoline