svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

คลิปลับ "ล้มกระดาน"  กสทช.  อย่าให้ใครอ้าง "นายกฯ" 

25 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะล้มกระดาน 14 ว่าที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพราะถือเป็นอำนาจที่มีตามกฎหมายของ สนช. ที่จะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบจะทำได้ เนื่องจากตอนนี้พวกเขาทำหน้าที่แทนรัฐสภาทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

         


         การล้มกระดานหรือการไม่เห็นชอบผู้ที่ได้รับการสรรหามานั้นไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะพวกเขาก็เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งเลือก 5 ว่าที่ กกต. เพราะการคว่ำหรือไม่เห็นชอบล้วนแล้วแต่มีเหตุผล เช่น สนช.อาจจะไม่เชื่อในความเป็นกลาง ไม่เชื่อในความสามารถ หรือเห็นสิ่งผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้น

     

          แต่กลายเป็นเรื่องแปลกขึ้นมาทันที เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้หลายคนเชื่อไปในทำนองว่าการล้มกระดานครั้งนี้มี "ใบสั่ง" จาก "ฝ่ายการเมือง"

          และ "ฝ่ายการเมือง" ที่ถูกระบุนั้นคือ "นายกรัฐมนตรี" เราต้องทำความเข้าใจกันว่าแม้รัฐบาลจะพยายามบอกว่าพวกเขาไม่ใช่นักการเมือง เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศชั่วคราวเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงแล้วเมื่อก้าวเข้าสู่ตำแหน่งบริหารประเทศ พวกเขาก็เป็น "ฝ่ายการเมือง" โดยสภาพแม้จะไม่อยากยอมรับก็ตาม

ส่วน กสทช.นั้นถือเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองในการกำหนด กำกับทิศทาง การใช้คลื่นความถี่ซึ่งถือเป็นทรัพยากรของรัฐของประชาชนทุกคน โดยมีฐานคิดที่ว่าที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ และฝ่ายการเมืองมักใช้คลื่นความถี่ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารมวลชน หรือการโทรคมนาคม ไปในทางที่หาประโยชน์ แต่มิได้ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่กลับมีเรื่องเข้าพกเข้าห่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงกระทบกับเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาเมื่อภาคการเมือง และภาครัฐ กำหนดการใช้คลื่นความถี่เองก็ทำให้เม็ดเงินที่ควรจะเข้าประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกลับตกหล่นสูญหาย

        

  

          ดังนั้น รัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้านี้รวมถึง ฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ "รัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกํากับ การดําเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่"

          และยังตอกย้ำเจตนารมณ์ความเป็นอิสระ โดยกำหนดให้กรรมการ กสทช. ต้องมาจากการสรรหา และรับรองโดย "วุฒิสภา" มิใช่รัฐบาล ที่เป็นฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร

          แต่ "คลิปลับ" ที่เผยแพร่โดยมิได้มีการระบุถึงที่มาที่ไปนั้น อ้างว่าเป็นการประชุมกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) และมีเสียงเสียงหนึ่งบอกว่า  "ผมได้รับการประสานในวันหยุดว่า ท่านนายกฯ ท่านไม่แฮปปี้กับผู้ที่สรรหามาทั้งหมดทั้ง 14 คน ท่านต้องการใช้อำนาจที่ท่านมีอยู่ ยกเลิกพวกนี้ทั้งหมด"

          การอ้างถึงนายกฯ เช่นนี้ถือว่าเป็นการ "บังอาจ" ยิ่งนัก เพราะนั่นจะทำให้คนเข้าใจผิดได้ว่า นายกฯ กำลังใช้อำนาจที่ไม่มีตามกฎหมายเข้าแทรกแซงกระบวนการสรรหาและคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญอันควรจะเป็นอิสระ

          ยังดีที่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ออกมาปฏิเสธโดยบอกว่า  "ไม่รู้ เสียงใครไม่รู้ ไม่ต้องชี้แจง" เพราะเรื่องอย่างนี้จะให้เชื่อก็แสนจะยาก เพราะคนระดับผู้นำประเทศซึ่งประกาศตัวเข้ามาปฏิรูปและรังเกียจการแทรกแซงกระบวนการอันไม่ถูกต้องจะมากระทำการที่ไร้วุฒิภาวะอย่างนี้ได้อย่างไร  หากใครไม่รู้หรือหลงเชื่อก็จะทำให้เสียหายต่อผลประโยชน์ชาติและเศรษฐกิจของประเทศ 

          นอกจากนี้ถ้าบังเอิญเทปลับดังกล่าวเป็นเสียงจริงในการประชุมยิ่งแล้วไปใหญ่ เพราะอาจมี สนช.หลงเชื่อและไม่ลงมติรับรองว่าที่ กสทช. เพราะเห็นว่า "ท่านนายกฯ" ยังไม่เห็นชอบและยังอยากใช้อำนาจยกเลิกเลย  ต่อให้เลือกเข้าไปก็อาจจะยกเลิกการสรรหาและการคัดเลือกครั้งนี้ได้  ทำให้ผลโหวตไปในทางที่ออกมา เรื่องเช่นนี้นอกจากทำให้ผู้ได้รับคัดเลือกเสียผลประโยชน์ประเทศอาจจะเสียประโยชน์จากการได้คนดีๆ เพราะการแอบอ้าง

          ดังนั้น การปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับตัว "ท่านนายกฯ" อาจไม่เพียงพอ แต่ต้องหาตัวผู้กระทำการดังกล่าวมาด้วย  ทั้งในแง่ที่มีการพูดอย่างนั้นในที่ประชุมจริงหรือไม่   เพราะหากไม่มีแล้วอ้างว่ามีก็ทำให้ "นายกฯ"  เสื่อมเสีย เป็นการจงใจทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นโดยตรง ทำให้คนมองว่าผู้นำมีนอกมีในกับเรื่องนี้ ทำให้เกิดความแปดเปื้อน

          แต่หากเป็นจริงยิ่งต้องหาตัวผู้ที่แอบอ้างว่า "พล.อ.ประยุทธ์" พูดเช่นนี้ เพราะชัดเจนว่าเมื่อท่านไม่ได้พูด ผู้ที่แอบอ้างย่อมต้องหวังผลบางประการ ทั้งต่อส่วนตน หรือาจหวังผลดิสเครดิตผู้นำประเทศ 

          ดังนั้น จึงต้องสนับสนุนให้ดำเนินการถึงที่สุด เพราะเรื่องนี้มิใช่เพียงเรื่องของบุคคล หรือเป็นเพียงเรื่องแค่การไม่เห็นชอบองค์กรอิสระ  แต่เป็นเรื่องการทำให้คนทั่วไปเชื่อว่ามีความพยายาม "จงใจแทรกแซง" จากฝ่ายการเมืองที่กุมอำนาจ ซึ่งกระทบกับหลักการกฎหมาย หลักการของรัฐธรรมนูญ  อาจถึงขั้นทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ

          ไม่ควรเก็บเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง

คอลัมน์... ขยายปมร้อน  โดย... อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

logoline