svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

 "ดูด" เรื่องเก่าเล่าใหม่ บนถนนการเมืองของ "บิ๊กตู่"

25 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ดูด" ศัพท์การเมืองคำนี้กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งหลังเกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้เชื่อได้ว่าเกิดปรากฏการณ์เช่นว่าขึ้นอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม "พลังชล" กลุ่ม "สะสมทรัพย์" หรือ กปปส.

ก่อนหน้านี้เราได้เห็นข่าวความพยายามในการตั้งพรรคการเมืองของคนในรัฐบาล ผ่านสามประสาน "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์-อุตตม สาวนายน" เป้าหมายก็มิใช่ใดอื่นหากเป็นการสนับสนุน "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง



แม้จะไม่มีเสียงยืนยันอย่างเป็นทางการแต่ในอีกทางก็ไม่มีเสียงปฏิเสธอย่างแข็งขันเช่นกัน ซ้ำยังมีภาพทางอื่นปรากฏให้เห็นไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งคนสกุล "คุณปลื้ม" มามีตำแหน่งในรัฐบาล หรือการตั้ง "สกลธี ภัททิยกุล" เป็นรองผู้ว่าราชการ กทม. หรือการที่กลุ่ม "สะสมทรัพย์" ยังสงวนท่าทีไม่กลับพรรคเพื่อไทย มิพักต้องพูดถึงกลุ่ม "บ้านริมน้ำ" ที่ประกาศตัวชัดว่ามีการหารือกับ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ผู้ที่ได้รับการคาดการณ์ว่าหากโปรเจกท์นี้สำเร็จเขาอาจเป็นว่าที่ผู้จัดการรัฐบาล

 "ดูด" เรื่องเก่าเล่าใหม่ บนถนนการเมืองของ "บิ๊กตู่"



ขณะที่วงการเมืองยอมรับกันไปทั่วว่ามีการ "ดูด" เกิดขึ้น โดยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นสองพรรคการเมืองใหญ่ก็ระบุตรงกัน แต่พรรคประชาธิปัตย์อาจจะออกมาเป็นแนวหน้าเช่น "วัชระ เพชรทอง" ที่ออกมาบอกว่ามีการระดมทุน 40,000 ล้านเพื่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือมีการเตรียมตำแหน่งทางการเมืองไว้รองรับผู้ที่จะเข้ามาร่วมทางเดิน


หรือ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่ออกมบอกว่า การให้นักการเมืองมามีตำแหน่งในรัฐบาลในขณะนี้มีจุดประสงค์เพื่อปูทางไปสู่การตั้งพรรคการเมืองและหวังฐานทางการเมือง ไม่ต่างจากพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาบอกว่า "ถูกลอบตกปลาในบ่อ"

 "ดูด" เรื่องเก่าเล่าใหม่ บนถนนการเมืองของ "บิ๊กตู่"



ขณะที่ทายาทพรรคร่วมรัฐบาลตลอดกาล "วราวุธ ศิลปอาชา" ก็ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ แต่บอกว่าเป็นเรื่องดีที่มีการ "ดูด" เพราะจะได้ทำให้ทำงานได้ถึงรากแก้วซึ่งเป็นลีลาตอบรับประสานไมตรีไม่มีความขัดแย้งอันเป็นความสามารถส่วนบุคคล



การ "ดูด" นั้น ว่ากันตามจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ทางการเมือง เพราะยามใดก็ตามที่มีผู้ต้องการอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งก็มักจะใช้วิธีนี้ โดยการดูดนักการเมืองเข้ามาอยู่ในสังกัด และวิธีการดูดนั้นก็มีอย่างหลากหลาย มีทั้งแบบสมัครใจและไม่สมัครใจ



การดูดแบบสมัครใจคือการมีผลประโยชน์มาเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาแบบเห็นผลปัจจุบันเช่นหากกำลังอยู่ในอำนาจก็ให้ตำแหน่งเป็นของขวัญเพื่อแสดงน้ำใจ ส่วนผู้รับก็เป็นการประกาศตัวกลายๆ ว่ารับไมตรีแล้ว หรือในทางใต้ดินในอดีตก็เคยมีการพูดถึงผลประโยชน์อันเป็นตัวเงิน อันมิต่างจากการจ่ายค่าตัวนักฟุตบอล นอกจากนี้การดูดยังมีมาในรูปแบบการสัญญาว่าจะให้ตำแหน่ง หรือผลประโยชน์หากในอนาคตได้เป็นรัฐบาล



ส่วนการดูดแบบไม่สมัครใจมักใช้ขณะตัวผู้ดูดอยู่ในอำนาจวาสนา สามารถให้คุณให้โทษได้ และมักจะเป็นในช่วงที่รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จ คนที่ตกเป็นเป้าหมายของการดูดแบบไม่สมัครใจนี้มักจะเป็นคนมีชนัก หรือคนที่มีบาดแผล และต้องการอยู่ในวงการต่อไป หรือต้องการประโยชน์อื่นใดอันมิใช่ประโยชน์ทางการเมืองเป็นการแลกเปลี่ยน



 "ดูด" เรื่องเก่าเล่าใหม่ บนถนนการเมืองของ "บิ๊กตู่"

การดูดเช่นว่าก็มีทั้งการดูดแบบรายบุคคล การดูดเป็นกลุ่ม หรือดูดทั้งพรรคให้มาควบรวมกัน ทุกอย่างมีมาให้เห็นหมดแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


ในอดีตก่อนการเลือกตั้งก็มักจะมีการดูดกันไปมา และพรรคที่มีพลังการดูดมากที่สุดมักจะชนะการเลือกตั้งไป แต่ต้องบอกว่านี่คือการเมืองในอดีตที่ตัวบุคคลมีความสำคัญและโดดเด่นกว่าระบบพรรคซึ่งแตกต่างกับช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา



ไม่เชื่อลองไปถามนักการเมืองเก๋าเกมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น "เสนาะ เทียนทอง" "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" "สุชาติ ตันเจริญ" "เนวิน ชิดชอบ" "ไชยา สะสมทรัพย์" คนเหล่านี้รู้จักดีทั้งในฐานะคน "ดูด" และ "ถูกดูด"



การดูดจึงไม่ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ทางการเมือง แม้หลายคนจะมองว่านี่คือการขายตัวของ "นักการเมือง" แต่หากเป็นการเสนอผลประโยชน์โดยชอบก็ไม่ถือว่าผิด เช่นการการันตีตำแหน่งทางการเมืองหากร่วมเป็นพันธมิตร



การดูดจะมีปัญหาขึ้นมาทันทีหากมีการเสนอผลประโยชน์อันมิชอบเช่น การเสนอเงินใต้โต๊ะ การมอบตำแหน่งที่ไม่สมควรได้ในปัจจุบันให้ หรือการใช้อำนาจบาตรใหญ่บีบบังคับ ชนิดที่เรียกว่า "ข้อเสนออันมิอาจปฏิเสธได้"



แต่สิงหนึ่งที่รับรู้กันโดยทั่วไปคือพรรคไหนที่มีการดูดก็คือพรรคที่เตรียมการจะลงเลือกตั้ง และประกาศท้าชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของรัฐบาล "ชาติไทย" สมัย "บรรหาร ศิลปอาชา" "ความหวังใหม่" สมัย "พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" หรือ "ไทยรักไทย" สมัย "ทักษิณ ชินวัตร" ที่ว่ากันว่าพลังดูดแรงเหลือหลาย



แต่ครั้งนี้ปฏิบัติการดูดยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดูดไปอยู่พรรคไหน เพราะยังไม่มีการเปิดเผยพรรคที่จะสังกัดอย่างแท้จริง จะเป็นพรรค "พลังประชารัฐ" อย่างที่มีคนเล่าลือหรือไม่ก็ยังไม่มีใครให้คำตอบได้อย่างจริงจัง หรือใครที่จะประกาศตัวเป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ชัด แม้คาดเดาว่าจะเป็น "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" แต่เขาก็ไม่เคยแสดงท่าทีแบบจริงจัง เช่นเดียวกับที่เขาไม่เคยแสดงท่าทีปฏิเสธ

 "ดูด" เรื่องเก่าเล่าใหม่ บนถนนการเมืองของ "บิ๊กตู่"


เหมือนเช่นที่เขาบอกวานนี้ (24 เม.ย.) ว่า "ผมไม่ร่วมกับพรรคไหน แล้วจะไปร่วมอะไรกับใครได้ ตอนนี้ไม่รู้ตัวผมอยู่ตรงกลาง จะเป็นอะไร จะทำอะไรก็แล้วแต่ ผมต้องอยู่ตรงกลางให้ได้คำว่าตรงกลางคือเอาทุกคนมาร่วมกันบริหารประเทศให้ได้ ด้วยกลไกประชาธิปไตยแต่จะไปอย่างไร ผมยังไม่รู้ และผมจะไปตรงนั้นได้อย่างไรก็ยังไม่รู้เหมือน"



แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว การปฏิบัติของ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นั้นตอบได้ชัดยิ่งกว่า เพราะหากเขาไม่ได้การันตีตัวเอง เราคงไม่เห็น "สนธยา คุณปลื้ม" เป็นที่ปรึกษานายกฯ เพราะนั่นแปลว่า "นายกฯ" ต้องยินยอมและรับรู้ หรือข่าวเรื่องตระกูล "สะสมทรัพย์" ที่เขาไปปรากฏตัวถ่ายรูปด้วยตัวเอง



นาทีนี้ถ้า "ประยุทธ์" ประกาศตัวให้ชัดว่าจะเล่นการเมืองแน่ๆ และปราถนาจะเป็นนายกรัฐมนตรีผ่านการเลือกตั้ง ผ่านการเสนอชื่อของพรรคการเมือง คงไม่มีใครห้ามและคงมีแต่คนยินดีที่หัวหน้าคณะรัฐประหารเข้าใจและยอมรับกติกาประชาธิปไตย แต่สิ่งที่หลายคนหวาดหวั่นคือ การไม่ยอมประกาศตัวชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดปฏิบัติการดูดพันธมิตรทางการเมืองเข้าสังกัดเรื่อยๆ โดยหวังผลการสนับสนุนในอนาคตผ่านกระบวนการ "นายกฯ คนนอก" เพราะประเมินว่าหากพาตัวเองสู่บัญชีนายกฯ คนในก็อาจเสี่ยงเกินไป



ต้องดูว่าจากนี้สิ่งที่หลายคนตั้งข้อสงสัยจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ปฏิบัติการดูดจะเข้มข้นขึ้นขนาดไหน ตำแหน่งต่างๆ ในภาครัฐและทางการเมืองจะถูกมอบให้ใครเพิ่มเติมอีกหรือไม่ การระดมทุนจะเป็นเพียงเสียงเล่าลือหรือเรื่องจริง



และถึงวันไหนกว่าที่ "ประยุทธ์" จะตอบรับหรือปฏิเสธอย่างจริงจัง หรือสุดท้ายแล้วอาจต้องรอไปถึงหลังเลือกตั้งแม้จะตุนเสียงสนับสนุนไว้เต็มกำมือ

logoline