svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ส่องกล้อง "สุเทพ" จอดป้าย "พลังประชารัฐ"? 

21 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ก่อนสงกรานต์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งให้ "เสี่ยจั้ม" สกลธี ภัททิยกุล เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังนักการเมืองหนุ่มสายตรง กปปส.เข้าพบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 3 เม.ย.

"สกลธี" เป็น 1 ใน 4 ทหารเสือของสุเทพ เทือกสุบรรณ สมัยการชุมนุมของกปปส. อีกสามทหารเสือคือ "ลูกหมี" ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร, "บี" พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ และ "ตั้น" ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

จากนั้นสื่อหลายสำนักต่างวิเคราะห์ว่า "ลุงกำนัน" ของมวลมหาประชาชน อาจตัดสินใจไม่ตั้งพรรคการเมืองแต่จะอพยพผู้คนมารวมกับพรรคการเมืองของ "จอมยุทธ์กวง" ก็เป็นได้

ย้อนไปเมื่อ 7 เมษายน 2561 สุเทพ เทือกสุบรรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ใช้วาระงานทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตอกย้ำเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองของกปปส.

วันนั้น พล.ต.อ.วศิษฐ์ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานทอดผ้าป่า โดยมี ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา ไปปรากฏตัวในงานนี้ด้วย

ว่ากันว่า ประสาร มฤคพิทักษ์ เป็นคีย์แมนคนหนึ่งของพรรคกปปส. เพราะมีประสบการณ์ด้านงานการเมืองมายาวนาน หลังพฤษภาคม 2535 ประสารจับมือนักธุรกิจขับเคลื่อนกลุ่มเพื่อนอานันท์ ทำให้ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ได้รับการยอมรับจากชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ

ประสารยังได้ร่วมกับนักธุรกิจรุ่นใหม่จัดตั้ง "ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย" ซึ่งได้เคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2549 และกลุ่มกปปส. ปี 2556

คณะผู้ก่อการคนอื่นๆ เท่าที่เห็นก็จะเป็นอดีตคณะกรรมการบริหาร "พรรคการเมืองใหม่" 4-5 คน ซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวนำมวลชนมาแต่สมัยม็อบเสื้อเหลืองยันม็อบ กปปส.

มีรายงานข่าวว่าเหตุที่ "สุเทพ" ต้องพึ่งพาบรรดาแนวร่วมกปปส.มาเป็นผู้เล่นหลักของพรรคใหม่ สืบเนื่องจากแกนนำกปปส.ที่เป็น "อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์" ยืนยันไม่ลาออกจากพรรคปชป. แม้แต่ "4 ทหารเสือ กปปส." ก็ไม่มีใครลาออก ยกเว้น "สกลธี" ที่ลาออกไปเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.

ส่วนน้องชายของสุเทพ คือ "กำนันเล็ก" ธานี เทือกสุบรรณ และ เชน เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี ชัดเจนว่าจะร่วมหัวจมท้ายกับพรรค กปปส.

สุเทพจึงปรับกลยุทธ์การหาเสียงทำแนวร่วมกับคนเสื้อเหลืองมากขึ้น โดยจัดรายการพิเศษเฟซบุ๊กไลฟ์ "suthep thaugsuban" (สุเทพ เทือกสุบรรณ) โดยกล่าวยกย่องจิตใจกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ไล่มาตั้งแต่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, สนธิ ลิ้มทองกุล, พิภพ ธงไชย, สุริยะใส กตะศิลา, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ

จริงๆ แล้ว ฐานเสียงของพรรคกปปส. ก็เป็นฐานเสียงเดียวกับปชป. ยกตัวอย่างสนามเลือกตั้งภาคใต้ ปชป.คงชนะส.ส.เขตเกือบทั้งหมด แม้ผู้สมัครพรรคกปปส.จะพ่าย แต่คะแนนอันดับสองคือเป้าหมายเพื่อการได้มาซึ่งเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

"ภาคใต้แม้ต้องแข่งขันกับปชป. แต่เราก็มีนโยบายที่จะแข่งขันอยู่ โดยแต่ละเขตที่ลงเราไม่หวังเป็นที่ 1 มากมายนัก เพราะการได้คะแนนเป็นที่ 2 ก็มีความหมาย" ธานี เทือกสุบรรณ คาดหวัง

จุดอ่อนของพรรคกปปส. ประกอบด้วยสมรภูมิภาคอีสานและภาคเหนือ เพราะสมัยที่เคลื่อนไหวชุมนุมมวลมหาประชาชน แกนนำ กปปส.เหนือ-อีสาน ล้วนเป็นอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ เมื่อนักการเมืองเหล่านั้นไม่ลาออกจากปชป. ก็ยากที่จะหาผู้สมัครเกรดดีไปลงแข่งขัน แม้จะมีผู้สมัคร ส.ส.แต่ไม่เด่นพอที่จะเก็บคะแนนได้เป็นกอบเป็นกำ

ส่วนสมรภูมิกรุงเทพฯ ภาคกลางและภาคตะวันออก พรรคกปปส.น่าจะพอเก็บเกี่ยวได้บ้างแต่มีความเสี่ยงสูง ถ้ามองโดยภาพรวมแล้วพรรค กปปส.อาจได้ที่นั่งน้อยมาก 

หากมองภาพรวม "พรรคพลังประชารัฐ" ที่มีความพยายามดึงนักเลือกตั้งกลุ่มต่างๆ เข้ามาทำงานการเมืองเพื่อชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอดีตส.ส.ที่มีฐานมวลชนเหนียวแน่น หรือเรียกอีกอย่างว่า "พรรคจังหวัด" ซึ่งมีกลุ่มการเมืองไม่ต่ำกว่า 4 กลุ่มที่ตอบรับการเข้าร่วมพรรคของจอมยุทธ์กวง แต่ว่าฐานคะแนนของพวกนักเลือกตั้งเหล่านี้จะอยู่ในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสาน ขาดแต่ภาคใต้

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ถ้ากลุ่มลุงกำนันหรือกลุ่มกปปส. เข้ามาร่วมงานด้วยก็จะต่อจิ๊กซอว์ในแผนที่เลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐได้ครบทุกภาค และเหนืออื่นใดคนใต้จำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบพล.อ.ประยุทธ์ มากกว่า "นายชวน"  

คนใกล้ชิดสุเทพทราบดีว่าลุงกำนันไม่คิดจะทำพรรคตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ภารกิจเพื่อชาติเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นให้การเมืองไทยไม่หวนกลับไปเหมือนหลังเลือกตั้ง 2554 สุเทพจึงยอมถูกด่า ถูกหยามหยัน เพื่องานใหญ่ กลับมาแบกรับภารกิจใหญ่ในบทบาทคนหลังม่าน

สุดท้ายแล้วผู้ที่จะตัดสินใจคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ นักการเมืองผู้คร่ำหวอดในสมรภูมิเลือกตั้งจะเลือก "รวมกันเราอยู่" หรือ "แยกหมู่ตายใครตายมัน" 

logoline