svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กสิกรไทย เผยดัชนีครัวเรือนมี.ค.ร่วง กังวล "ราคาสินค้า" พุ่ง

13 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะครัวเรือนมี.ค. ร่วงแตะ 45.6 ห่วงราคาสินค้าบริการพุ่ง ทั้งกังวลสถานการณ์การค้าโลก ขณะในประเทศยังไร้ปัจจัยบวกใหม่มากระตุ้น ส่วนมุมมองในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยกดดันยังมาจากค่าครองชีพที่แนวโน้มสูงขึ้น


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสแรกปี 2561 ยังได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคต่างประเทศ ทั้งในด้านการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศยังคงให้ภาพที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 มากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ผลในระยะยาวเป็นสำคัญ


อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมี.ค.2561 ที่ผ่านมา ภาพเศรษฐกิจไทยผูกติดกับภาพเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น หลังสถานการณ์การค้าโลกทวีความซับซ้อนจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ที่ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะนำไปสู่สงครามการค้าโลก และอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าเป็นสำคัญ ทำให้ครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ


สะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนมี.ค.2561 ที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 45.6 จากระดับ 46.3 ในเดือนก.พ. 2561 ซึ่งนอกจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่กระทบมุมมองของครัวเรือนในภาพรวมแล้ว ครัวเรือนยังมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้สิน) ที่เพิ่มขึ้นจากการมีรายจ่ายพิเศษอย่างการท่องเที่ยวภายในประเทศ


กสิกรไทย เผยดัชนีครัวเรือนมี.ค.ร่วง กังวล "ราคาสินค้า" พุ่ง




นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาพลังงานที่แม้โดยเฉลี่ยจะค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก.พ.2561 แต่ด้วยความถี่ของการปรับขึ้นราคาในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมี.ค.2561 จำนวน 3 ครั้ง


อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในปัจจุบันยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อมุมมองของครัวเรือนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือนเม.ย.-มิ.ย.2561) สะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่ในเดือนมี.ค.2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 47.1 ในเดือนก.พ.2561


นอกจากนี้ ครัวเรือนยังคาดว่า จะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอย สังสรรค์ ท่องเที่ยว และกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการใช้จ่ายของผู้ปกครองในการซื้ออุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนให้บุตรหลานก่อนเปิดปีการศึกษาใหม่ ซึ่งเมื่อทำการสำรวจเพิ่มเติม พบว่า ประเด็นเศรษฐกิจที่ครัวเรือนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดส่วนใหญ่กังวลว่าจะต้องเผชิญในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2561 (เม.ย.-มิ.ย.) ยังเป็นในเรื่องของภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนมองว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


จากการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือนมี.ค.2561 จะเห็นว่า ครัวเรือนบางส่วนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวทั้งในปัจจุบันและในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การใช้จ่ายเหล่านี้ของครัวเรือนจะหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และส่งผลบวกต่อจีดีพีในระยะถัดไป

logoline