svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

13, 29, 30 เม.ย.นี้ จะร้อนสุด! ระวัง! ภัยร้ายหน้าร้อนอันตรายถึงชีวิต

12 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อาการเป็นลมหน้ามืด ในช่วงที่อากาศร้อนจัด อาจไม่ได้เป็นแค่อาการเป็นลมทั่วไปเท่านั้น แต่นั่นอาจหมายถึง โรคฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด เชื่อหรือไม่ว่าสามารถคร่าชีวิตคนได้ภายในเวลาไม่นาน

วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับภัยเงียบ ที่มากับหน้าร้อน รวมถึงการช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับคนเป็นโรคลมแดด และการป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้

จากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์เตือนว่า ในช่วงวันที่ 13, 29, 30 เมษายน 2561 นี้ อุณหภูมิจะสูงขึ้นถึง 36 องศา จึงขอให้ประชาชนเตรียมรับมือและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง เพราะเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยเฉพาะโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด




13, 29, 30 เม.ย.นี้ จะร้อนสุด! ระวัง! ภัยร้ายหน้าร้อนอันตรายถึงชีวิต

13, 29, 30 เม.ย.นี้ จะร้อนสุด! ระวัง! ภัยร้ายหน้าร้อนอันตรายถึงชีวิต

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า โรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไป ส่งผลให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง


ซึ่งสัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีทสโตรก คือไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก มึนงง สับสน รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา และถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆ ไป ที่จะมีเหงื่อออกด้วย



13, 29, 30 เม.ย.นี้ จะร้อนสุด! ระวัง! ภัยร้ายหน้าร้อนอันตรายถึงชีวิต


สำหรับผู้ที่มี ความเสี่ยงในการเกิด โรคฮีทสโตรก คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มสุราจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา หรือทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด


ปรับพฤติกรรมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคฮีทสโตรก
1.ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน
2.ในวันที่มีอากาศร้อนจัด ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายอุณหภูมิความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้
3.และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้จะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ6-8 แก้ว
4.ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าSPF15ขึ้นไป
5.หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรืออยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน
6.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด
7.ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยให้อยู่ในห้องที่มีอากาศระบายได้ดี และไม่ให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
8.ในกรณีที่จะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด ควรเป็นบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงโดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ล่ะ3ครั้ง ครั้งละ 30นาที เพื่อให้ร่างกายเคยชินกับสภาพอากาศร้อนจัด


กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากพบเจอผู้เป็นโรคฮีทสโตรก สามารถช่วยเหลือเบื้องต้น โดยนำเข้าในที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถ้ามีการอาเจียน ให้นอนตะแคงก่อน เมื่ออาเจียนแล้วให้นอนหงาย คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก


ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ ตามซอกลำตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ เพื่อระบายความร้อนร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ราดน้ำเย็นลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ลดต่ำลง ให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

logoline