svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

บ้านพักตุลาการ ดอยสุเทพ "มิติกฎหมาย" เผชิญ "มิติสิ่งแวดล้อม"

10 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปมปัญหา บ้านพักตุลาการ เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า แม้จะทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ใช่คำตอบโจทย์ในบางเรื่องเพราะการอยู่ร่วมกันในสังคมโลกใบนี้ ยังมีปัจจัยอื่นอีกมาก


โครงการก่อสร้างอาคารที่พักตุลาการและข้าราชการ ซึ่งประกอบด้วยบ้านพักผู้พิพากษา,อาคารชุดของตุลาการ รวมทั้งอาคารชุดของเจ้าหน้าที่ศาลบริเวณเชิงดอยสุเทพ อ.แม่ริม จ. เชียงใหม่ ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย กำลัง"งานเข้า"เมื่อชาวบ้านได้ออกมาคัดค้าน แสดงความไม่เห็นด้วย เรียกร้องให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาเหมือนเดิม




บ้านพักตุลาการ ดอยสุเทพ "มิติกฎหมาย" เผชิญ "มิติสิ่งแวดล้อม"

และถึงขั้นออกมาถือป้ายประท้วงและส่งตัวแทนเดินเท้าจากเชียงใหม่ เข้า กทม. แต่โชคยังดีที่ทางรัฐบาล ได้รีบออกมาระงับเหตุและทางสำนักงานศาลยุติธรรมไหวตัวทัน ออกมาชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้ เรื่องจึงไม่ได้ลุกลามบานปลายใหญ่โต



เรื่องนี้หากมองใน"มิติกฎหมาย"ต้องยอมรับว่า ทางด้าน "ศาลยุติธรรม" ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ มิอาจโต้แย้งได้ เนื่องจาก ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นทีี่"ราชพัสดุ" และกรมธนารักษ์ ได้ออกหนังสืออนุญาตให้ทางศาลยุติธรรมใช้ "ที่ดินราชพัสดุ" และต่อมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ,บ้านพักผู้พิพากษา และอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการและเจ้าหน้าที่ศาล ซึึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติของทางราชการ



บ้านพักตุลาการ ดอยสุเทพ "มิติกฎหมาย" เผชิญ "มิติสิ่งแวดล้อม"

และหากไปพลิกดู พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ก็จะพบว่าในมาตรา 5 บัญญัติว่า ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ดังนั้นกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะให้สำนักงานศาลยุติธรรม ใช้ประโยชน์ในดินราชพัสดุได้



ข้างต้นที่กล่าวมานี้ คือ แง่มุมทางกฎหมาย



แต่ในเรื่องนี้ ไม่ใช่มีเพียงแต่ในเรื่อง"มิติกฎหมาย" เพียงอย่างเดียว แต่มี "มิติสิ่งแวดล้อม " เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และดูเหมือนมีความสำคัญเหนือกว่า



บ้านพักตุลาการ ดอยสุเทพ "มิติกฎหมาย" เผชิญ "มิติสิ่งแวดล้อม"



เพราะที่ชาวบ้านและกลุ่มคนคัดค้าน ออกมาต่อต้านการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบริเวณดังกล่าว เนื่องจากพวกเขามีความหวงแหน สิ่งแวดล้อมที่เป็น"สีเขียว"ไม่ใช่เรื่องที่ว่าทำถูกหรือผิดกฎหมาย และจากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งเห็นเหมือนกับสิ่งปลูกสร้างเซาะเข้าไปในป่า ป่าแหว่ง ช่าง"แทงตา" ผู้คน จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ"ความเหมาะสม" มากกว่า



และในเว็บไซต์ change.org ซึ่งมี ดร.ทนง ทองภูเบศร์ เป็นเจ้าของแคมเปญรณรงค์คัดค้านโครงการนี้ ขณะนี้มีผู้สนับสนุนถึง 4 หมื่นกว่าคนแล้ว โดยมีการตั้งเป้าให้ถึง 5 หมื่นคน



นอกจากนี้เคยมีงานทางวิชาการที่เคยเผยแพร่ออกมาหลายชิ้นว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ "แอ่งกระทะ" เป็นธารน้ำโบราณ มีที่สูงทางทิศตะวันตกและตะวันออก จังหวัดเชียงใหม่จึงเป็น "heat island" คือเป็นโดมความร้อน เมื่อมีความกดอากาศสูง "คาร์บอน" ที่เกิดจากในเมืองก็จะลอยขึ้นไปไม่ได้ ดังนั้นพื้นที่ป่าทุกจุดใน"เชียงใหม่" จึงเป็น "ปอด" ที่สำคัญมาก เพราะ เชียงใหม่เป็น"แอ่งกระทะ" เหมือนเรามีกระทะใบหนึ่งแล้วเอา "ฝาซึ้ง" ไปครอบไว้ ถ้าไม่เก็บรักษาป่าไว้ จะมีผลกระทบมาก


บ้านพักตุลาการ ดอยสุเทพ "มิติกฎหมาย" เผชิญ "มิติสิ่งแวดล้อม"

สำหรับ "สำนักงานศาลยุติธรรม" ซึ่งได้ออกมาชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับโครงการนี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่า ค่อนข้างเข้าใจเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความรู้สึกของผู้คนทั่วไปเป็นอย่างดี



กล่าวคือ ไม่ได้ "ยืนกระต่ายขาเดียว" ว่าทำถูกกฎหมาย แต่บอกว่า สิ่งที่ประชาชนให้ความห่วงใยในเรื่องนี้ โครงการนี้ ทาง"สำนักงานศาลยุติธรรม "ก็พร้อมที่จะรับฟัง และรับข้อเสนอแนะต่างๆ ว่าจะให้ปรับปรุงแก้ไขอย่างไร



และให้ความสำคัญกับ"สิ่งแวดล้อม"เหมือนกัน โดยจากแผนที่ทาง "สำนักงานศาลยุติธรรม" ดำเนินการอยู่ ทุกคนจะอยู่กับ"สิ่งแวดล้อม"ได้ และยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปทำลาย"สิ่งแวดล้อม" แต่ต้องการจะอยู่กับ"สิ่งแวดล้อม" และรักษา"สิ่งแวดล้อม" ไว้ ซึี่งก็ช่วยลดดีกรีความร้อนแรงในเรื่องนี้ลงได้ระดับหนึ่ง



ประกอบกับในส่วนของรัฐบาล ก็มีความเคื่อนไหวในเรื่องนี้ โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ดูแลที่ราชพัสดุ ,กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดูแลป่าไม้, ตลอดจนกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่โดยรวม รวมทั้งฝ่ายกฎหมายของ คสช. ไปพูดคุยหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกับฝ่ายตุลาการ แล้วส่งข้อเสนอแนะมายังรัฐบาล เพื่อตัดสินใจต่อไป โดยรัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาและจะพยายามปรับพื้นที่ให้กลับสู่"สภาพเดิม"ให้ได้


บ้านพักตุลาการ ดอยสุเทพ "มิติกฎหมาย" เผชิญ "มิติสิ่งแวดล้อม"


ล่าสุด แม่ทัพภาคที่3 ได้เป็นตัวกลาง ในการเปิดเวทีสาธารณะ โดยมีมวลชนชาวเชียงใหม่ และกลุ่มภาคีขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ และหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ และได้ข้อสรุป 4 ประเด็นที่จะนำเสนอต่อ ผบ.ทบ. ในฐานะ เลขาธิการ คสช.ต่อไป



คือ 1.รื้ออาคารบางส่วน โดยมีคณะกรรมการ ไปดูพื้นที่จริง ว่าควรรื้อแค่ไหนเพียงไร 2.ให้ผู้รับเหมาทำงานให้เสร็จหรือหยุดเพียงเท่านี้ โดยรัฐจ่ายเงินให้ตามงวดงานที่หยุดไป 3. หากจะรื้อ รัฐบาลต้องหาพื้นที่ทดแทน และหางบประมาณมาสร้างบ้านพักให้กับศาลใหม่ 4.คืนพื้นที่ตามที่เห็นสมควรรื้อ ให้ทางราชพัสดุไปฟื้นฟูปลูกป่า



ขณะเดียวกันทาง คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ( ก.บ.ศ.)มีมติ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย โดยตระหนักถึง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม และให้มีหนังสือเรียนนายกฯถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยหากรัฐบาล ให้ชะลอการใช้บ้านพักเฉพาะส่วนที่มีการคัดค้านไว้ชั่วคราวหรือดำเนินการอื่นในระหว่างฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ขัดข้อง



เรื่องบ้านพักตุลาการ..จึงต้องติดชมกันต่อไปว่า จะลงเอยอย่างไร

logoline