svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ยื้อกฎหมายเลือกตั้ง ความ "จงใจ" บนเงื่อนเวลา

29 มีนาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากมีข่าวว่าจะส่งหรือไม่ส่งร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส" ให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาว่าขัดหรือแย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่มาสักพัก มาถึงตอนนี้น่าจะชัดเจนแล้วว่าความปราถนาของท่านผู้นำเป็นอย่างไร และมี สนช.อีกจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะรับลูก แต่อะไรที่ทำให้จนถึงวันนี้เรื่องราวยังไม่ชัดเจนว่า "ใครจะยื่น" หรือ "ยื่นเมื่อไหร่"

ต้องบอกว่าการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวส่งผลโดยตรงกับโรดแม็พการเลือกตั้ง เพราะจะทำให้ระยะเวลายืดยาวออกไปจากเดิม แต่จะยืดไปเท่าไหร่ยังสุดที่จะหยั่งรู้ได้ ขึ้นกับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณาเท่าไหร่ ที่สำคัญคือวันเลือกตั้งที่ "นายกรัฐมนตรี" ลั่นวาจาไว้เป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อาจจะไม่แน่เสียแล้ว


ดังนั้นการตัดสินใจจะยื่นศาลตีความในนาทีนี้จึงเป็นเผือกร้อน ที่ทำให้ยังไม่มีใครบอกชัดว่าจะเป็นคนยื่น ก่อนหน้านี้ สนช.เคยถูกถามว่าจะยื่นหรือไม่ แต่ก็อ้ำๆ อึ้งๆ และโยนให้เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อนายกฯ ว้ากกลับมาเมื่อหลังประชุม ครม. วันที่ 20 มีนาคม ว่า "ไม่ได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นเรื่องของ สนช. อย่ามาโยนให้รัฐบาล" ทำให้ สนช.บางกลุ่มเด้งรับ แต่ปัญหาอยู่ที่ข้อกฎหมายไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า สนช.ได้ส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้นายกฯ ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมาแล้ว


คำถามที่ต้องถามหลักๆ ในนาทีนี้เกินเวลาหรือไม่ และใครมีหน้าที่ในการยื่น ต้องบอกว่าปัญหาของเรื่องนี้คำตอบอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 145 และ 148 ซึ่งเกี่ยวกับกระบวนการร่างกฎหมายและต้องยึดโยงอยู่บนรัฐธรรมนูญ 2 มาตรานี้เป็นหลัก


โดยมาตรา 145 ระบุว่า "ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา ถ้าไม่มีกรณีต้องดำเนินการตามมาตรา 148 ให้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่ วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว"


และ มาตรา 148 ระบุว่า "ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนําร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 81


          (1) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า


          (2) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า


ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้"


ในส่วนของใครจะเป็นผู้ยื่นนั้น ต้องบอกว่ามีอำนาจยื่นทั้งสองคือ นายกฯ และ สนช. แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ กล่าวคือ ภายใน 5 วัน นับแต่ได้รับร่างกฎหมายจากรัฐสภา การที่เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา มี สนช.บางคนบอกว่าต้องรอว่านายกฯ จะส่งร่างคืนมาเมื่อไหร่ เรื่องนี้จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หาก สนช.จะยื่นศาลก็ยื่นได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอนายกฯ ส่งคืน เพราะนายกฯ ไม่มีอำนาจทางกฎหมายให้ส่งร่างคืนมายัง สนช.แต่อย่างใด

ตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่นายกฯ ทำได้เมื่อได้รับร่างกฎหมายมาจาก สนช. คือ รอว่าในเวลา 5 วัน สนช.จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือไม่หากนายกฯ สงสัยก็ต้องยื่นเอง  ไม่ใช่โยนกลับลงมาให้คนอื่นยื่น และหากใน 5 วันไม่มีใครยื่นก็ต้องขึ้นสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ ถวาย และต้องทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วัน เกินกว่านั้นไม่ได้

การที่เขียนว่า "ให้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว" นั้นย่อมหมายถึง เวลาในกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย มิใช่เวลาที่เปิดให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด การตีความว่าสามารถยื่นศาลได้ถึงวันที่ 12 เมษายน จึงเป็นการตีความที่จงใจละเลยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

เพราะหากตัดสินใจยื่นใน 5 วัน บทบัญญัติเรื่อง 20 วันก็จะไม่นับรวมอยู่ในขั้นตอนแต่อย่างใด การนำเวลา 2 ส่วนมารวมเพื่อเปิดโอกาสการยื่นให้ยาวขึ้น จึงเป็นการตีความเพื่อประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น ซ้ำจะเป็นการวางบรรทัดฐานเรื่องเวลาการยื่นศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตอีกด้วย หากประสงค์จะตีความเช่นว่าและได้รับการรับรอง บทบัญญัตินี้ก็จะเหมือนถูกลบออกไปจากกฎหมายแม่บทของประเทศ 


ยิ่งประกอบกับการที่นายกฯ อ้างว่าเพิ่งได้รับร่างกฎหมายมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ทั้งๆ ที่รัฐสภาส่งมาตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ก็ทำให้น่าสงสัยว่าระยะเวลาอะไรที่ทำให้ช่วงเวลาการส่งการรับถึงคลาดเคลื่อนร่วมสัปดาห์ จะว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญเลยทำให้ต้องรอไว้ก่อนก็ไม่น่าจะใช่ บรรทัดฐานเช่นนี้อาจทำให้ในอนาคตอาจมีผู้มีอำนาจ หน่วง ถ่วง เวลาของการผ่านกฎหมาย โดยอ้างว่ายังไม่ได้รับเรื่องก็เป็นได้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเนื้อหา ซึ่งน่าสงสัยว่าทำไมถึงเพิ่งมาสงสัย และเพิ่งมาตื่นตกใจกันในช่วงนี้  เพราะเรื่องนีเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาในชั้นกรรมาธิการ มีผู้ท้วงติงว่าการเขียนเช่นนี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญ แต่ สนช.ก็ผ่านร่างกฎหมายมาตราดังกล่าวอย่างท่วมท้น คล้ายเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ทำไม่ผิดแต่อย่างใด แต่พอมาถึงวันนี้ก็ทำท่าสงสัยและจะส่งเรื่องตีความเสียอย่างนั้น โดยเฉพาะเอาจริงๆ สนช.ผ่านเรื่องมาแล้วจนโยนมาถึง นายกฯ และโดน "ว้าก" กลับมานั่นแหละจึงคิดจะทำ   ทฤษฎีสมคบคิดจึงไม่ใช่เรื่องที่พูดกันแบบลอยๆ

ขณะที่ข้ออ้างเรื่องจำเป็นต้องยื่น มิเช่นนั้นการเลือกตั้งก็อาจเป็นโมฆะ  ก็น่าสงสัยว่ามีประเทศไหนหรือไม่ที่การเลือกตั้งเหมือนแขวนบนเส้นด้ายและพร้อมโมฆะทุกเมื่อ  เพราะแม้แต่คนที่จะส่งตีความเองก็ยังบอกว่าสองประเด็นที่จะส่งคือเรื่องการช่วยเหลือคนพิการ และการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิไม่ให้เป็นข้าราชการ ก็มิใช่สาระหลักของกฎหมาย การส่งยื่นตีความในภายหลัง หรือหากมีผู้ร้องหลังการเลือกตั้้ง กระผีกเช่นนี้ก็ไม่น่าจะที่จะส่งผลถึงการเลือกตั้งทั้งหมดให้ต้องโมฆะ

ถึงนาทีนี้ก็แค่วัดใจว่า ใครจะเป็นคนลงมือยื่นศาลเอง นายกฯ จะเปลืองตัวเอง หรือให้ สนช.ทำหน้าที่  อีกนัยหนึ่งคือการทำลายหลักการของกฎหมายลง ไม่เว้นกระทั่งกฎหมายที่ร่างมากันเอง
 

logoline