svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ละครบุพเพสันนิวาส ฟื้นกระแสรักชาติ

27 มีนาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้จะปรากฎแค่เพียงเสี้ยววินาที แต่ฉากจำลองวัดไชยวัฒนารามที่สมบูรณ์แบบ ในยุคกรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง ก็เป็นภาพจำของคนดูละครอิงประวัติศาสตร์ บุพเพสันนิวาส แล้วนำมาย้อนรอยในสถานที่จริง



วันนี้วัดไชยาวัฒนารามแม้จะเหลือเพียงซาก แต่ก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง มีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากเดิมเฉลี่ย 800 คนเป็น 4,000 คนต่อวัน นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยสวมใส่ชุดไทย เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศและสถานที่ เศรษฐกิจรอบวัดก็สะพัด มีชาวบ้านเปิดบ้านเป็นร้านให้เช่าชุดไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และมันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเกิดจากอิทธิพลของกระแสละคร

ละครบุพเพสันนิวาส ฟื้นกระแสรักชาติ



ผู้หญิงคนนี้หาเช่าชุดไทยให้ทั้งครอบครัวสวมใส่เพื่อเข้าไปเที่ยวชมและถ่ายรูปในวัดไชยวัฒนาราม เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก "ภารดี บุญชู" บอกว่าไม่บ่อยครั้งที่จะมีโอกาสได้ใส่ชุดไทยกันทั้งครอบครัว การได้รับชมละครเรื่องนี้ เหมือนปลุกความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ที่มีรากเหง้าและวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแบรนด์สินค้าต่างๆ นำกระแสละครไปทำเรียลมาเก็ตติ้ง ซึ่งเห็นได้ไม่บ่อยนัก รวมถึงการใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 ว่า "ออเจ้า" ก็กลายเป็นวลีฮิตทั่วบ้านทั่งเมือง จนรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ถึงกับต้องตอบคำถามนักข่าว

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ก็ไม่ยอมตกกระแส ถึงกับหยิบยกไปคุยในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"

"หลายคนอาจมองว่าเป็น กระแส หรือ ลมเพ ลมพัด ไม่นานก็จางหาย แต่ผมมั่นใจว่า อยู่ในสายเลือด ของเราทุกคน ทั้งอุดมการณ์ ความรักชาติ คุณธรรม จริยธรรม อะไรก็แล้วแต่ รวมความไปถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของประเทศ " พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ละครบุพเพสันนิวาส ฟื้นกระแสรักชาติ



หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไม ละครบุพเพสันนิวาส จึงกลายเป็นกระแสฟีเว่อร์ ปัจจัยเกิดจากละครเรื่องนี้เพียงอย่างเดียวหรือไม่ และถ้ากระแสเกิดจากละครอย่างเดียวจริงๆ คำถามก็คือ ทำไมละครเรื่องนี้ถึงทรงอิทธิพลมากขนาดนี้

"อรุโณชา ภาณุพันธุ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ผู้คร่ำวอดในวงการละครโทรทัศน์ไทยมาหลายสิบปี สร้างละครมาหลายเรื่อง แต่ละครบุพเพสันนิวาสน่าจะเป็นครั้งแรกที่เป็นละครย้อนยุคไปสู่สมัยอยุธยาในช่วงสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ได้รับความนิยมแบบเหนือความคาดหมาย

และถ้าหากผู้ชมละครเรื่องนี้สังเกตให้ดี จะพบว่า บุพเพสันนิวาสเป็นละครไทยที่ฉีกแนวไปมาก คือไม่มีบทตัวร้าย ตัวอิจฉา ลักษณะคล้ายคลึงกับซีรีส์เกาหลี อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกจริตคนไทย ซึ่งตัวละครทุกตัวกลมๆ มีความเป็นมนุษย์สูง ความกลมๆ ของตัวละครที่ว่า นั้นก็คือ ทุกคนมีดี มีเลว มีที่ไปที่มาของพฤติกรรมที่แสดงออก

ผู้ผลิตละครเรื่องนี้ บอกว่า ความความท้าทายคือการแปลงจากบทประพันธ์มาเป็นบทโทรทัศน์ โดยผู้เขียนบทละครต้องศึกษาข้อมูลนานถึง 2 ปี เพื่อให้ภาษาพูดตรงกับยุคนั้น ให้ตัวละครพูดภาษาสมัยปัจจุบัน ที่เข้าใจง่ายกับคนรุ่นใหม่

ความสำเร็จของละครบุพเพสันนิวาส ก็ทำให้สังคมจับตาไปที่เจ้าของบทประพันธ์อย่าง จันทร์ยวีร์ สมปรีดา บัณฑิตคณะโบราณคดี วิชาเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของนามปากกา "รอมแพง"

เธอยอมรับว่า คาดไม่ถึงต่อกระแสตอบรับ หลังจากนิยายของเธอถูกนำไปสร้างเป็นละคร "รอมแพง" อธิบายถึงความน่าสนใจในเนื้อเรื่องว่า คงอยู่ที่ตัวละครในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ได้ย้อนไปในอดีต เข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในสมัยอยุธยา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสละคร "บุพเพสันนิวาส" ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ละครเกาหลีใต้ "แดจังกึม" ที่เคยออกอากาศในไทย เมื่อปี 2549 ความสำเร็จของ "แดจังกึม" คือการส่งออกวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ได้อย่างเป็นรูปแบบมากที่สุด

ไม่เพียงออกอากาศที่ไทยเท่านั้น แต่ในอีกหลายประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ละครแดจังกึมได้ปลุกกระแสคลั่งไคล้วัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วเอเชียจนรัฐบาลเกาหลีต้องซื้อโรงถ่ายละครเรื่องนี้ จากบริษัท MBC ผู้ผลิตละคร เพื่อมาปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

แดจังกึม เป็นความตั้งใจของรัฐบาลเกาหลีใต้ไว้ตั้งแต่แรกที่จะสะท้อนความงดงามทางวัฒนธรรม ผสมกับความเป็นมืออาชีพในอุตสาหกรรมละคร จนประสบความสำเร็จ

บุพเพสันนิวาส กับ แดจังกึม มีความคล้ายกัน ตรงที่ ตัวละครมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ และได้รับความนิยมจากคนในประเทศอย่างล้นหลาม ก่อนจะมีบริษัททีวีในต่างประเทศซื้อลิขสิทธิ์ไปออกอากาศ ผลที่ได้คือการท่องเที่ยวในเกาหลีใต้เติบโตทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล

จากความสำเร็จของแดจังกึม และกระแสนิยมของบุพเพสันนิวาส กระทรวงวัฒนธรรม โดยรัฐบาลยุค คสช. ก็ฝันว่าจะส่งออกวัฒนธรรมได้สำเร็จอย่างเกาหลีเคยทำมา โดยยินดีสนับสนุนเอกชนผู้ผลิตละครอย่างเต็มที่

แต่ในมิติการเมืองแล้ว คำถามก็คือ ปรากฎการณ์ตื่นละครสะท้อนอะไรในสังคมไทย อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "พิพัฒน์ กระแจะจันทร์" เขียนบทวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ผ่าน เว็บไซต์ ของ บีบีซี ไทย ระบุว่า "ทุกครั้งที่ชาติสั่นคลอนจากการเมือง สังคมเกิดความโกลาหล ละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จะกลับมารุ่งเรืองเสมอ"

ตัวละครหลักของบุพเพสันนิวาส ไม่ได้เป็นกษัตริย์หรือชนชั้นสูง ที่จับต้องไม่ได้ แต่เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ในยุครุ่งเรือง ผู้เขียนสร้างสรรค์เรื่องได้อย่างมีสีสัน ท่ามกลางสภาพสังคมและการเมืองในปัจจุบันที่ยุ่งเหยิง ขาดความมั่นคง และเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ยากต่อการทำนายอนาคตของประเทศ ภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกของการโหยหาอดีต

การดูละครย้อนยุคสักเรื่องหนึ่ง จึงทำให้ในทางความรู้สึกสามารถหลีกเร้น กลับไปสู่อดีต เพราะอย่างน้อย อดีตก็เป็นสิ่งที่มั่นคงกว่าปัจจุบันและอนาคต

ละครบุพเพสันนิวาส ฟื้นกระแสรักชาติ

logoline