svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เคาะประตูบ้าน "ช่วยคนจน" เคลียร์หนี้นอกระบบ

19 มีนาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของ "รัฐบาล คสช." ได้แก่ "โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ" หรือลงทะเบียนคนจนตัวเลข รอบแรกปี 2559 ประมาณ 8.3 ล้านคน รอบ 2 ปี 2560 ลงทะเบียนรวมกัน 14 ล้านคน


แต่หลังจากพิจารณาหลักฐานต่างๆ แล้ว คนไทยมีคุณสมบัติ "ผ่าน" ได้เป็น "คนจน" จำนวน 11.4 ล้านคน
มาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมานั้น มีทั้งจ่ายเงินสด บัตรคูปองซื้อสินค้า และส่วนลดต่างๆ เช่น "รถเมล์-รถไฟฟรี" ลดค่าน้ำ ค่าไฟค่าแก๊สหุงต้ม ลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง รถไฟฟ้า รถทัวร์ รวมถึงให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสรรที่ดินทำกินฟรีกว่า 4.5 แสนไร่ ครอบคลุม 55 จังหวัด ในลักษณะใช้ที่ดินรวมกันสร้างผลิตผลทางการเกษตร แต่ไม่ได้ให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือไม่อนุญาตให้เอาไปซื้อขายโอนให้คนอื่น

แต่ที่ได้ใจประชาชนที่สุดน่าจะเป็น "ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ" ใช้บัตรรูดปื๊ดๆ แลกซื้อสินค้าแชมพู สบู่ น้ำปลา น้ำตาล ฯลฯ

ส่วนโครงการช่วยเหลือในระยะยาว เช่น "สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ" ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ยืมเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท กู้ได้ที่ธนาคารออมสิน 5 พันล้านบาท และ ธ.ก.ส. 5 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.85 ต่อเดือนหรือร้อยละ 10 ต่อปี ระยะเวลากู้ยืม 5 ปี และถ้าใครอยากมีบ้านเป็นของตนเองสามารถกู้เงินจาก "โครงการบ้านประชารัฐ" ที่กระทรวงการคลังตั้งงบประมาณไว้ไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อหรือสร้างบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อต้นปี 2561 รัฐบาลจัดทำ "โครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" เปิดให้คนที่ลงทะเบียนคนจนไปสมัครช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในวันปิดรับสมัคร นับผู้มาลงทะเบียนได้ 6.2 ล้านคน

เคาะประตูบ้าน "ช่วยคนจน" เคลียร์หนี้นอกระบบ



โครงการนี้สมัครแล้วได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างไรบ้าง?

เริ่มจากรัฐบาลจะส่ง "ทีมหมอประชารัฐสุขใจ" (ทีม ปรจ.) หรือเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 4 พันคนไปให้คำปรึกษาว่าจะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างไร เมื่อเก็บข้อมูลเสร็จ ส่งไปให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาว่าจะช่วยให้พัฒนาคุณภาพชีวิตระยะยาวได้อย่างไรบ้าง

หากรัฐบาลทำได้จริง ช่วยคนไทย 6 ล้านคนให้พ้นจากภาวะความยากจน จะถือเป็น "รัฐบาลคืนความสุข" อย่างแท้จริงตามที่สัญญาไว้...

โดยเฉพาะคนจนที่กำลังเผชิญ "ปัญหาหนี้นอกระบบ" ชีวิตเหมือน "ตกนรกทั้งเป็น"

ที่ผ่านมา "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ประกาศเป็นวาระแห่งชาติมาตลอดว่า จะจัดการ "แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน" เพราะปัญหานี้เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม


ระหว่างรอทีมหมอประชารัฐมาสำรวจนั้น หากคนจนครอบครัวใดต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนสามารถไปพึ่งพา "โครงการเคาะประตูบ้าน" ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไปก่อนได้ เหมือนตัวอย่างครอบครัวของ "ร้านโจ๊กขวัญยืน" ในสลัมคลองเตย

"ขวัญยืน เขมา" เปิดเผยชีวิตต้องสู้กับหนี้นอกระบบให้ฟังว่า อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตย ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ป่วยสุขภาพไม่แข็งแรง และหลาน 2 คนอายุ 12 กับ 14 ปี กำลังเรียนหนังสือ รายได้หลักคือต้มโจ๊กขายตอนเช้าเพื่อเลี้ยงดู 5 ชีวิต

ขวัญยืนเล่าว่า หลังจากแม่มีอาการป่วยตาไม่ค่อยดี พ่อก็ไม่สามารถลุกออกจากบ้านไปไหนได้ ตนรับภาระทุกอย่าง โดยเฉพาะต้องพาแม่ไปโรงพยาบาลบ่อยๆ ทำให้ต้องไปกู้เงินนอกระบบ

"ตอนแรกกู้ไม่กี่พันบาท แต่ไม่พอต้องกู้เพิ่มเรื่อยๆ จนกลายเป็น 27,000 บาท จ่ายดอกวันละ 200 บาท แต่เงินต้นเท่าเดิม แต่ละวันไปขายโจ๊กหักต้นทุนได้กำไรแค่ 300-400 บาท เอามาจ่ายดอก 200 บาท เลยเหลือเงินแค่วันละไม่ถึง 200 บาท จ่ายค่าน้ำไฟอีกเดือนละพันกว่าบาท เงินที่เหลือแต่ละวันทำได้แค่เอาไปซื้อข้าวกับแกง 2 ถุงมากินกัน แล้วแบ่งให้หลาน 2 คนไปโรงเรียน บางครั้งน้องสาวไปทำงานเอาเงินมาช่วยค่าใช้จ่ายบ้าง ชีวิตเป็นหนี้สะสมไปเรื่อยๆ ไม่เห็นทางออก พอดีมีคนมาชวนไปลงทะเบียนคนจนก็ตามไปกับเขา"

ขวัญยืนยอมรับไม่เคยรู้เลยว่าลงทะเบียนแล้วได้อะไรบ้าง พอมีบัตรไปแลกของก็ไปแลก เนื่องจากในแต่ละวันต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 ไปตลาด ซื้อของมาทำโจ๊กขายตั้งแต่ตี 5 ถึง 10 โมงเช้า แล้วกลับบ้านหาข้าวให้พ่อกิน พอเที่ยงต้องรีบไปโรงพยาบาลเยี่ยมแม่ ตอนเย็นกลับมาดูหลาน 2 คน ชีวิตหมุนเวียนอย่างนี้ทุกวัน จนกระทั่งเดือนมกราคม 2561 มีเจ้าหน้าที่เข้ามาติดต่อ มาสอบถามข้อมูลรายละเอียดคนในบ้าน แล้วบอกว่าเราสามารถไปกู้เงินแทนแม่ที่พิการมาจ่ายหนี้นอกระบบได้

"ทุกวันนี้ดีใจมาก กำลังทำเรื่องให้ได้เงินมาเคลียร์หนี้นอกระบบ ถ้าไม่ต้องจ่ายดอกวันละ 200 ก็เหมือนได้ชีวิตใหม่ หนูอยากบอกทุกคนว่าให้สู้เยอะๆ อย่ายอมแพ้" ขวัญยืนพูดค่อยๆ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

"นภา เศรษฐกร" อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อธิบายให้ฟังว่า ชื่อเต็มของโครงการเคาะประตูบ้าน คือ "โครงการ Family Data เปิดประตูเยี่ยมบ้านสร้างสะพานสู่สวัสดิการ" เป็นการเอาข้อมูลลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยมาต่อยอด ด้วยการคัดเลือกกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือสูงสุดมาเร่งช่วยเหลือก่อน ให้พวกเขาเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ เป้าหมายคือยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

"โครงการนี้เน้นให้เจ้าหน้าที่กับหน่วยอาสาสมัครเดินเคาะประตูบ้านสอบถามชีวิตเชิงลึกเลย โดยเฉพาะกลุ่มคนขยันทำมาหากินแต่เป็นหนี้นอกระบบ เราคัดกรองมาว่าจะให้ความช่วยเหลืออะไรได้บ้าง อย่างกรณีของ น.ส.ขวัญยืน ขายโจ๊กทุกวันแต่ต้องเอากำไรทั้งหมดมาจ่ายดอกเบี้ยหนี้นอกระบบทุกวัน เราช่วยทำอย่างไรให้เขาปลดหนี้ตรงนี้ได้ ปรากฏว่าสอบถามไปมา แม่พิการสามารถกู้เงินจากกองทุนคนพิการ ทยอยจ่ายคืนแบบไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เราก็ไปช่วยลงนามเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้"


อธิบดีกรมพัฒนาฯ กล่าวถึงเป้าหมายในระยะแรกว่า มีครัวเรือนที่ไม่มีรายได้และมีหนี้สินครอบคลุมทั่วประเทศ 2.5 แสนครัวเรือน ตอนนี้คัดกรองมาได้แล้วร้อยละ 50 หรือ 126,394 ครัวเรือน เริ่มทยอยไปเคาะประตูบ้าน ต้องนำข้อมูลของแต่ละครอบครัวมาวิเคราะห์ว่ามีสวัสดิการของรัฐอะไรบ้างที่เหมาะสมตามสภาพจริงและช่วยเหลือได้ทันที

"สำหรับใครที่กำลังเป็นทุกข์ ทั้งเรื่องหนี้นอกระบบหรือสภาพชีวิตลำบาก อยากให้ลองติดต่อมาได้ที่ศูนย์ฮอตไลน์สายด่วน 1300 หรือเบอร์โทรศัพท์ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 0-2246-8661"

ครอบครัวขวัญยืนขายโจ๊ก เป็นเพียงหนึ่งในเหยื่อของเงินกู้นอกระบบในชุมนุมแออัดคลองเตย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "สลัม" สลัมคลองเตยมีพื้นที่กว่า 400 ไร่ เป็นชุมชนแออัดที่เก่าแก่และใหญ่สุดของประเทศไทย ชาวบ้านอาศัยกว่า 1 แสนคน หรือประมาณ 2 หมื่นหลังคาเรือน ทั่วประเทศไทยมีสลัมทั้งหมด 5 พันแห่ง เฉพาะในมหานครกรุงเทพฯ มีประมาณ 1 พันแห่ง

ชาวบ้านในนั้นกำลังรอคอยความหวัง รอเจ้าหน้าที่ไปเคาะประตูบ้าน...

"ทีมหมอประชารัฐสุขใจ"

หมายถึง ผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer: AO) บางครั้งเรียกตัวย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "เอโอ" ทำหน้าที่วิเคราะห์และให้ความช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นรายบุคคล (Personalized Plan)

กระทรวงการคลังร่วมมือเตรียมทีมหมอประชารัฐสุขใจทั่วประเทศประมาณ 7.5 พันคน ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท มีทั้งรับสมัครใหม่และเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ เช่น ธ.ออมสิน ธ.เพื่อการเกษตรฯ ทำหน้าที่ประสานจัดหางาน หาแหล่งเงินกู้ยืมจากธนาคารรัฐ ฝึกทักษะอาชีพ ทุนการศึกษา ฯลฯ
"โครงการเคาะประตูบ้าน"

"โครงการ Family Data เปิดประตูเยี่ยมบ้านสร้างสะพานสู่สวัสดิการ" กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้ครอบครัวที่ผ่านการคัดกรองจากข้อมูลผู้ลงทะเบียนคนจน เน้นกลุ่มที่รายได้ไม่พอยังชีพ หรือมีหนี้สินครอบคลุมทั่วประเทศจำนวน 252,788 ครัวเรือน

ผู้ไปเคาะประตูบ้านคืออาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านการอบรมเพื่อทำหน้าที่เยี่ยมบ้านเก็บค้นหาปัญหาและช่วยวางแผนแก้ไขเป็นกรณีไป รวมทั้งติดตามประเมินผลให้ชาวบ้านสามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างแท้จริง

logoline