svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

นิติวิทย์อช.ยันชัด "ไก่ฟ้าหลังเทา" เหยื่อเปรมชัย 

19 มีนาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นิติวิทย์ กรมอุทยานฯเผยผลพิสูจน์ซ้ำชัดเจนแล้ว "เปรมชัย" และคณะล่าสัตว์ยิง "ไก่ฟ้าหลังเทา" ขณะที่ "ศรีวราห์" ร่วมสอบเจ้าสัวคดีติดสินบน 20 มี.ค. คาดสรุปสำนวนสิ้นเดือนนี


ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวก รวม 4 คน ขณะเข้าไปล่าสัตว์ป่าคุ้มครองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ พร้อมของกลางซากเสือดำ ซากไก่ฟ้าหลังขาว และอาวุธปืน 3 กระบอก โดยเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ พ.ร.บ.ป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ครอบครองงาช้าง รวม 12 ข้อหา ขณะที่นายเปรมชัยให้การปฏิเสธและระบุว่าไม่ได้เป็นคนฆ่าเสือดำ  ส่วนนางคณิตา กรรณสูต ภรรยานายเปรมชัย และน.ส.วันดี สมภูมิ ผู้ที่เซ็นรับรองว่าเป็นงาช้างบ้าน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ บก.ปทส. ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันครอบครองงาช้าง ได้ทำหนังสือขอเลื่อนนัดเป็นวันที่ 20 มีนาคม ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

 

นิติวิทย์อช.ยันชัด "ไก่ฟ้าหลังเทา" เหยื่อเปรมชัย 


วันที่ 18 มีนาคม พ.ต.อ.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ รองผู้บังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(รอง ผบก.ปปป.) เปิดเผยว่า ในเวลา 10.00 น. วันที่ 20 มีนาคม นายเปรมชัย และนายยงค์ โดดเครือ คนขับรถ ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี จะเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ตามหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาพยายามติดสินบนเจ้าพนักงาน


"พนักงานสอบสวนจะสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งภายหลังสอบคำให้การ และแจ้งข้อกล่าวหาแล้วเสร็จ คาดว่าจะสรุปสำนวนส่งฟ้องได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ โดยในวันดังกล่าวได้รับรายงานเบื้องต้นว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) จะเดินทางมาสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาด้วยตนเอง" รอง ผบก.ปปป.กล่าว

นิติวิทย์อช.ยันชัด "ไก่ฟ้าหลังเทา" เหยื่อเปรมชัย 

ขณะที่ ดร.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "ว่าด้วยเรื่องไก่ฟ้า...? เจ้าเอย..." ระบุว่า ในคดีล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ ครานี้ นอกจาก "เสือดำ" แล้ว ยังมี "ไก่ฟ้า" ตัวหนึ่งที่ตกเป็นเจ้าทุกข์กับเขาด้วย...ซึ่งได้มีการรายงานผลเบื้องต้นไปแล้ว แต่ยังมิได้มีการยืนยันผลที่ถูกต้องกับพนักงานสอบสวน และยังไม่ได้ออกรายงานผลฉบับสมบูรณ์ เนื่องจากแล็บ นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ ขอวิเคราะห์ผลใหม่ เพราะพบบางจุดที่ยังทำให้ไม่มั่นใจในการสรุปผล...บัดนี้ เราวิเคราะห์ผลใหม่เสร็จเรียบร้อย และได้ความมั่นใจ 100% แล้ว ขอสรุปผลว่าไก่ฟ้าตัวนี้ เป็น "ไก่ฟ้าหลังเทา" (Lophura leucomelanos) ค่ะ

นิติวิทย์อช.ยันชัด "ไก่ฟ้าหลังเทา" เหยื่อเปรมชัย 

...อย่างไรก็ตาม กว่าเราจะสรุปผลได้นั้นมีความท้าทายในการแก้ไขปัญหาหลายอย่างในแล็บ ก็จะขออธิบายให้กับท่านที่ยังมีข้อกังขาและข้อสงสัยในการวิเคราะห์ผลของเราอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าไม่สอดคล้องกับข้อมูลถิ่นอาศัยและเขตการแพร่กระจายนะคะ...ถือว่าเป็นการแบ่งปันความรู้ในประเด็นงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ก็แล้วกัน (ถ้าสนใจ) ค่ะ


งานนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า (Wildlife Forensics) นั้นมีความท้าทายที่แตกต่างจากงานนิติวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ตรงที่ต้องทำให้แล็บ สามารถรองรับการวิเคราะห์ชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าแทบจะทุกชนิดในโลกนี้ มิใช่มนุษย์ซึ่งเป็นเพียงแค่ชนิดเดียว โดยปกติแล้วในแล็บนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าทั่วโลก จะใช้เครื่องหมายพันธุกรรมบน Mitochondrial DNA ในการจำแนกชนิดพันธุ์สัตว์เป็นหลัก โดยเข้าไปเปรียบเทียบกับข้อมูลอ้างอิงในฐานข้อมูลพันธุกรรมสากล (GenBank) แล็บของเราก็เช่นเดียวกัน เราจะใช้ยีน Cytochrome b ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และจะใช้ยีน Cytochrome Oxides Subunit 1 (COXI) ในกลุ่มสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลาน และในบางกรณีที่ต้องการจำแนกให้ละเอียดขึ้นในระดับชนิดพันธุ์ย่อยหรือในระดับประชากร ก็จะใช้ชิ้นส่วนของ Control Region (หรือ D-loop) เข้ามาช่วยด้วยค่ะ (D-loop ไม่ใช่ยีน แต่ช่วยควบคุมการแสดงออกของยีน เป็นส่วนที่มีความผันแปรทางพันธุกรรมสูง) ทั้งหมดอยู่บน Mitochondrial DNA

นิติวิทย์อช.ยันชัด "ไก่ฟ้าหลังเทา" เหยื่อเปรมชัย 

คราวนี้มาดูการวิเคราะห์เจ้า "ไก่ฟ้า" ตัวนี้บ้าง เนื่องจากเขาเป็นสัตว์ปีก เราจึงเลือกใช้ยีน COXI ก่อน แต่ผลการเปรียบเทียบใน GenBank ออกมาเป็นไก่ฟ้าหลังขาว ยังทำให้เราไม่มั่นใจนัก จึงวิเคราะห์ใหม่โดยคราวนี้เปลี่ยนเครื่องหมายมาเป็น Cytochrome b และ D-loop ตามลำดับ ผลการเปรียบเทียบใน GenBank ยิ่งทำให้เราสับสนมากขึ้น เนื่องจากค่าคะแนนความเหมือนของความเป็น "ไก่ฟ้าหลังเทา" และ "ไก่ฟ้าหลังขาว" เท่ากันเลย ทำให้ยังไม่สามารถสรุปผลได้


....ทำยังไงดีล่ะทีนี้ จะเห็นได้ว่าในกรณีนี้ GenBank พึ่งไม่ได้แล้ว ??!!!? เหตุที่ยังพึ่งไม่ได้ก็ไม่แปลกนัก เนื่องจากไก่ฟ้าตัวนี้มีประชากรย่อยในชนิดพันธุ์ด้วย ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าข้อมูลใน GenBank จะมีครอบคลุมถึงตัวที่เป็นชนิดพันธุ์ย่อยในบ้านเราหรือไม่ ? การประมวลผลออกมาเลยยังแยกชนิดพันธุ์ไม่ได้เช่นนี้!!!...แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้ข้อมูลในเชิงวิจัยว่ายีน Cytochrome b นั้นไม่สามารถใช้แยกชนิดพันธุ์ระหว่างไก่ฟ้าหลังเทา และไก่ฟ้าหลังขาวได้ ส่วนข้อมูล D-loop ใน GenBank ก็อาจเป็นชนิดพันธุ์ย่อยอื่นที่ไม่มีในบ้านเราก็เป็นได้

การแก้ปัญหา...มีวิธีการเดียว คือ เราต้องหาข้อมูลอ้างอิงจาก "ไก่ฟ้าหลังเทา" และ "ไก่ฟ้าหลังขาว" ที่มั่นใจได้ว่ามีที่มามาจากบ้านเราเอง คือเป็นไก่ฟ้าในประเทศไทย ไม่ใช่มาจากที่อื่น แล้วนำมาเปรียบเทียบกับไก่ฟ้าเจ้าทุกข์ตัวนี้....ซึ่งขอบอกว่าเป็นความโชคดีของเราจริงๆ ที่เราเจอหลังจากที่พยายามค้นหาสุดขีด แถมยังเป็นช่วง D-loop ที่เราทำใหม่ด้วย (ต้องขอขอบคุณเจ้าของข้อมูลอ้างอิงที่ช่วยงานนี้ไว้ได้ในครั้งนี้คือน้อง Kitichaya Penchart เจ้าหน้าที่ของเราเองค่ะ)

นิติวิทย์อช.ยันชัด "ไก่ฟ้าหลังเทา" เหยื่อเปรมชัย 

...การเปรียบเทียบข้อมูลคราวนี้ออกมาในรูปแบบของการสร้างความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ (Phylogenetic Tree) ที่ตัวอย่างที่ได้รับเข้ารวมกลุ่มกับไก่ฟ้าหลังเทา ก็เป็นอันสรุปได้แน่นอนแล้วว่าไก่ฟ้าตัวนี้เป็น "ไก่ฟ้าหลังเทา" (Lophura leucomelanos) นะคะ หวังว่าทุกท่านคงเคลียร์แล้วนะคะ


ก้าวต่อไป....งานนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าในประเทศไทย อาจดูเป็นสิ่งใหม่ที่เราคนไทยยังไม่คุ้นเคยนัก แต่มันจำเป็นที่จะต้องมีในเดี๋ยวนี้ โดยจะต้องมีงานวิจัยด้านพันธุกรรมสนับสนุนอย่างมั่นคง..เพื่อช่วยตอบปัญหาในคดีอาชญากรรมสัตว์ป่า (ดังตัวอย่างในคดีนี้ เป็นต้น)...กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และจะทำให้ประชาชนคนไทยเห็นว่าเราได้สร้างมาตรฐานในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าด้วยการทำงานอย่างมีหลักการ รอบคอบรัดกุม และมีความถูกต้องมากที่สุด เพื่อการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมสัตว์ป่าในประเทศไทยให้สำเร็จให้จงได้ค่ะ


สำหรับไก่ฟ้าหลังเทาดังกล่าว มีรอยกระสุน 12 รู บริเวณน่องซ้าย 3 รู คอ 1 รู ลำตัวด้านขวา 8 รู ส่วนลำตัวด้านซ้าย และปีกหายไป วิถีกระสุนส่วนใหญ่จะกดลงด้านหลังไปด้านหน้า 

logoline