svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

ตะลุยสวนผัก-ผลไม้ที่ดำเนินฯดูวิธีการใช้ "ปุ๋ย-ยา"

17 มีนาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พลันที่การแถลงข่าวของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ถึงการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในพืชผักและผลไม้ประจำปี 2560 หลังเก็บตัวอย่าง 150 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี ราชบุรี และสงขลา จนสร้างความหวั่นวิตกให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดดังกล่าวเป็นอย่างมาก

ทีมข่าว "ท่องโลกเกษตร" ถือโอกาสลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้สารอารักขาพืชของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกระบุว่าพบสารพิษตกค้างในพืชผักและไม้ผลเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากเกษตรกรในกรณีดังกล่าว  โดย วินัย ธีรทองดี เกษตรกรเจ้าของสวนมะนาวใน ต.หลักหก อ.ดำเนินสะดวก บอกว่า ครอบครัวมีเนื้อที่ปลูกมะนาวจำนวน 14 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกจากรุ่นพ่อแม่ ได้เห็นการทำสวนมาตลอดชีวิตผลิกพื้นสวนแห่งนี้ทั้งปลูกพืชผัก ผลไม้มาหลายต่อหลายครั้ง ทั้งองุ่น ฝรั่ง ฯลฯ รวมถึงผลผลิตเด่นคือ มะนาวพันธุ์แป้นอำไพ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์มะนาวไทยผิวบางน้ำเยอะของ อ.ดำเนินสะดวก ในทุกวันนี้

วินัยเล่าว่า ยึดอาชีพนี้มากว่า 40 ปี คุ้นเคยกับสารเคมีทุกตัว  ซึ่งก็นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพืชผักและผลไม้ที่เลือกปลูก แม้ไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารอย่างละเอียดก็ตาม แต่อาศัยความรู้เรื่องการบำรุงรักษา กำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช โดยการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรโดยธรรมชาติเพื่อส่งต่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเกษตร ทั้งการพัฒนาพันธุ์การคัดเลือกสายพันธุ์ หรือแม้แต่การสร้างอำนาจต่อรองพ่อค้าคนกลาง  

"พวกเรารู้จักและเข้าใจว่าต้องใช้อย่างระมัดระวังตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายขึ้นทะเบียนสารเคมี ให้ระบุประเภทการออกฤทธิ์ข้างฉลากเลยด้วยซ้ำ จนกระทั่งมีกฎหมายกำหนดให้ระบุข้างฉลากถึงประเภทสารออกฤทธิ์ วิธีการใช้ ขนาดการใช้ และระบุด้วยว่าละเอียดอ่อนกับอะไร เช่น ผึ้ง แมลง หรือปลา พื้นที่ดำเนินสะดวกเป็นพื้นที่ปลูกผักผลไม้ ยกร่องในท้องร่องมีปลาด้วย เราจึงปฏิบัติตามฉลากอย่างเคร่งครัดและไม่ได้ฉีดพ่นพร่ำเพรื่อ การฉีดพ่นแต่ละครั้งต้นทุนของชาวสวนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน" 

เช่นเดียวกับ มงคล สมประเสริฐ เกษตรกรเจ้าของสวยละมุดวัย 60 ปี ที่ทุกวันนี้ปลูกละมุดในพื้นที่ 12 ไร่ การดูแลรักษาสวนละมุดที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในปีที่ 5 จนถึง 30 ปี มีรายได้จากการขายผลผลิตเฉลี่ย 1 แสนบาทต่อไร่ต่อปี  ด้วยระยะเวลาที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานจึงทำให้เกษตรกรต้องถนอมรักษาต้นละมุดอย่างพิถีพิถัน 

"ตอนนี้ต้นทุนทั้งค่าปุ๋ย ยา ค่าแรงสามารถทำให้เกษตรกรชาวสวนละมุดพออยู่ได้ หากมีการระงับการใช้ยาฆ่าหญ้าอย่างที่เป็นข่าวซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าที่ชาวสวนคุ้นเคย รู้จักวิธีการใช้เป็นอย่างดี ตอนนี้แค่เรื่องค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็สร้างความกังวลให้ชาวสวนไม่น้อยแล้ว หากต้องเพิ่มต้นทุนเรื่องยาอีกจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ต้องพึ่งพายาฆ่าหญ้าในการช่วยดูแลแปลงเพาะปลูกอย่างแน่นอน"

ในขณะที่ สุนทร จันทนโสตถิ์ เกษตรกรเจ้าของสวนส้มและมะนาวได้ตั้งคำถามชวนคิดว่าหากไม่ให้เกษตรกรใช้พาราควอตในการฆ่าหญ้าแล้วจะมีสารตัวไหนที่นำมาใช้ทดแทนได้ในประสิทธิภาพและราคาที่เท่ากัน เพราะเท่าที่ทราบสารทดแทนกลูโฟซิเนต ราคาลิตรละ 420-550 บาท ขณะที่พาราควอตราคาลิตรละ 105170 บาท กลูโฟซิเนตต้องใช้ไร่ละ 1 ลิตร พาราควอตอย่างมาก 3-5 ไร่ต่อลิตร ถ้าสามารถทดแทนกันจริงมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านหรือไม่ หากมีการนำมาใช้ทดแทนจะเกิดกระแสต่อต้านเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับพาราควอตทั้งที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีอีกหรือไม่

ส่วน สุชัช สายกสิกร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ดอนไผ่ อ.ดำเนินสะดวก กล่าวเสริมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของเกษตรกรทั้งประเทศ ชาวสวนดำเนินสะดวกคุ้นเคยการใช้ปุ๋ยและยาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ทำกันมาเป็น 100 ปี พวกเรายังเป็นชาวสวนจนถึงวันนี้ ยังอาศัยในพื้นที่ไม่ได้หนีไปไหน หากมีผลกระทบจริงก็น่าจะเห็นได้ตั้งแต่รุ่นตนแล้ว ส่วนข่าวที่ออกมาพวกเราติดตามอย่างกังวล เพราะหากมีการระงับการใช้พาราควอตจริงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเกษตรอย่างมาก 

"พวกเราไม่มีเวลามาให้ความรู้หรือข้อมูลทางวิชาการเพราะเราไม่ใช่นักวิชาการ เราต้องทำมาหากิน หากต้องระงับการใช้สารดังกล่าวจริง พวกผมนี่แหละที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ต้นทุนจะกระโดดขึ้นทันที  จึงอยากให้ทุกฝ่ายเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน เปิดใจว่าปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ เกษตรกรใช้ผิด ขาดความเข้าใจ หรือผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันแน่ น่าจะมีผลตัวอย่างที่สามารถนำไปอ้างอิงเพื่อการตัดสินใจและไม่เป็นการผลักภาระให้เกษตรกรที่ทุกวันนี้ก็เรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่พวกเราประคองให้พอเหลือกำไรอยู่บ้างเท่านั้นเอง"

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนจากเกษตรกรชาวสวนดำเนินสะดวก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในแง่มุมที่เกษตรกรไม่มีโอกาสตอบข้อกังขาจากสังคมได้ นับเป็นเหรียญอีกด้านที่ต้องรอเวลาการพิสูจน์ข้อเท็จจริง

logoline