svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

"สตีเฟน ฮอว์คิง" ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ "อจินไตย" ที่คล้ายกับหลักธรรมพุทธศาสนา

16 มีนาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภาพจำของชายวัย 76 ปีที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 คืออัจฉริยะนั่งรถเข็นที่พูดไม่ได้ ทำเรื่องที่คนปกติคาดไม่ถึง และการตั้งคำถามที่เรียบง่ายของเขา จะทำให้เรา ล่วงรู้จิตใจของพระเจ้า

"เป้าหมายของผมเรียบง่ายมากคือการทำความเข้าใจจักวาลนี้อย่างลึกซึ้ง ทำไมจักวาลถึงเป็นจักวาล และทำไมมันถึงดำรงอยู่" หลากหลายวลีที่มาจาก "สตีเฟน ฮอว์คิง" แม้ไม่ใช่คำที่ถูกเปล่งเสียงออกมา แต่ก็เป็นประโยชน์ฉุกคิดของคนทั่วโลก หลักการทางวิทยาศาสตร์กับพระเจ้า ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกัน 

แต่คำถามเรื่องจักวาลของฮอว์คิง อาจเป็นสิ่งที่เรียกว่า "อจินไตย" ในทางพระพุทธศาสนาที่ แปลว่าสิ่งที่ไม่ควรคิด "อจินไตย" มาจากคำว่า อะ + จินไตย (พึงคิดพิจารณา)  หมายถึง สิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ ด้วยตรรกะสามัญของปุถุชน มี 4 อย่างได้แก่ 1) พุทธวิสัย วิสัยแห่งความมหัศจรรย์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

2) ฌานวิสัย วิสัยแห่งอิทธิฤทธิ์ของผู้มีฌาน ทั้งมนุษย์ และเทวดา 3) กรรมวิสัย วิสัยของกฎแห่งกรรม และวิบากกรรม คือการให้ผลของกรรมที่สามารถติดตามไปได้ทุกชาติ และ 4) คือคำถามของ "ฮอว์คิง"  นั่นคือโลกวิสัย วิสัยแห่งโลก คือการมีอยู่ของสวรรค์ นรก และสังสาระวัฏ

อถรรถกถาพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ระบุว่า ในทางพระพุทธศาสนาไม่แนะนำให้คิดเรื่องอจินไตย เพราะวิสัยปุถุชนไม่อาจเข้าใจได้โดยถูกต้องถ่องแท้ ทั้งเพราะความเข้าใจไม่ได้ในฐานะที่เป็นของลึกซึ้ง เป็นเรื่องทางจิต หรือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาคำตอบที่สิ้นสุดได้ ถ้าคิดมากจริงจังในการหาคำตอบเหล่านั้นจากการคิดเดาเอาด้วยตรรกะเอง จึงอาจกลายเป็นคนบ้าได้ อจินไตยในเรื่องทางจิตจึงเป็นเรื่องที่รู้ได้ด้วยการบรรลุธรรมชั้นสูงเท่านั้น

แต่ในที่สุด "ฮอว์กิง" ศึกษาว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ กำหนดให้ "เอกภพ" ต้องเริ่มต้นในซิงกูลาริตี้ ซึ่งปัจจุบันนี้รู้จักกันว่า "บิ๊กแบง" และจะสิ้นสุดลงที่ "หลุมดำ"

"หลุมดำไม่ควรจะเป็นหลุมดำเสียทีเดียว แต่ควรจะแผ่รังสีอะไรออกมาบ้าง โดยเริ่มที่วัตถุจำนวนมหาศาลนับพันล้านตัน แต่มีความหนาแน่นสูง คือกินเนื้อที่ขนาดเท่าโปรตอน เขาเรียกวัตถุเหล่านี้ว่าหลุมดำจิ๋ว (mini black hole) ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงและมวลมหาศาล แต่สุดท้ายหลุมดำนี้ก็จะระเหิดหายไป" การค้นพบนี้ถือเป็นงานชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งของ "ฮอว์กิง"

"กฎเกณฑ์ที่สมบูรณ์ชุดนี้สามารถให้คำตอบกับเราได้ในคำถามที่ว่า จักรวาลถือกำเนิดขึ้นอย่างไร? กำลังจะไปในทิศทางไหน? และจะมีจุดจบหรือไม่ ? อย่างไร? ถ้าเราพบคำตอบในเรื่องเหล่านี้ เราก็จะล่วงรู้ถึงจิตใจของพระเจ้า" ฮอว์คิง กล่าว 

นักวิทยาศาสตร์คนนี้ย่อมรู้ดีว่า หลักการทางวิทยาศาสตร์ข้อหนึ่งที่ พระพุทธศาสนาค้นพบมาเนินนานคือ "ทุกสรรพสิ่ง ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา" ไม่เว้นแม้แต่จักวาลอันกว้างใหญ่ 

"ผมอยู่แบบมีโอกาสเสียชีวิตได้มาตลอด ผมไม่กลัวความตาย แต่ผมก็ไม่รีบที่จะตาย มีสิ่งที่อยากทำอีกมาก ผมมองว่าสมองก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ จะหยุดทำงานต่อเมื่อส่วนประกอบหลายส่วนพัง และไม่มีสวรรค์ หรือ ชีวิตหลังความตายอะไรทั้งนั้น สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ใช้การไม่ได้ มันเป็นแค่นิทานปรัมปราของคนกลัวความมืดเท่านั้น" 

คำกล่าวของ ฮอว์คิง อาจดูสวนทางกับความเชื่อทางศาสนา เรื่องโลกหลังความตาย หรือนั่นอาจจะเป็น "นิพพาน" ในความหมายของฮอว์คิงก็ได้ และถ้าเป็นเช่นนั้นสภาพร่างกายของเขาก็ทำให้เขาบรรลุธรรมชั้นสูง 

และนอนแน่นว่าพระพุทธศาสนา ก็สอนให้เรายอมรับความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นของไม่เที่ยง คำกล่าวของ "ฮอว์คิง" ที่ว่า "สติปัญญาคือความสามารถในการปรับเปลี่ยน เพื่อเปลี่ยนแปลง" สะท้อนว่าเขาเข้าถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามากกว่าชาวพุทธอย่างเราเสียอีก 

แต่ในที่สุด "ความตาย" ของเขา ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า โลกนี้ไม่เที่ยงจริงๆ 

logoline