svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เจาะ "สังคมที่อยู่อาศัยยุค 5.0" ในแบบฉบับของญี่ปุ่น

16 มีนาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

[สกู๊ปพิเศษ] ประเทศไทยยังคงตามหลังประเทศเพื่อนร่วมทวีปเอเซียอย่างประเทศญี่ปุ่นไปอีก 1 ก้าว ในขณะที่รัฐบาลไทยได้ประกาศเดินหน้าพัฒนาสังคมให้เข้าสู่ยุค 4.0 ชูนโยบายอันส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านพลเมือง ที่อยู่อาศัย และภาคอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพรวมของเศรษฐกิจแบบเดิมให้กลายเป็นรูปแบบใหม่ อันถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ มาสักพักใหญ่ ญี่ปุ่นนั้นกลับเดินหน้าใส่เกียร์พัฒนาสังคมให้เข้าสู่ยุค 5.0 ด้วยการเน้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและสุภาพสตรี



เมื่อประเทศไทยเดินหน้าสังคม 4.0 แต่ญี่ปุ่นรุดหน้าพัฒนาสังคม 5.0

ปัจจุบันหลายภาคส่วนในประเทศไทย กำลังเดินหน้าพัฒนาผลผลิตของธุรกิจตนเอง ให้ตอบสนอง Thailand 4.0 โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ แต่ในขณะเดียวกันฝั่งประเทศญี่ปุ่นกลับรุดหน้าพัฒนาสังคมสู่ยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดลดน้อยลง ทั้งนี้แรงขับเคลื่อนสังคม 5.0 ในประเทศญี่ปุ่นได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2559 แม้ปัจจุบันอยู่ในช่วงเวลาของพัฒนาและเตรียมความพร้อมหลายด้าน แต่คาดการณ์ว่าไม่เกิน 5 ปี ทั่วโลกจะได้เห็นภาพอนาคตของสังคมยุค 5.0 ในดินแดนอาทิตย์อุทัยอย่างแน่นอน

ทำความรู้จักสังคมไทยยุคก่อน 4.0
สังคมไทย 1.0 ยุคของเกษตรกรรมสังคมไทย 2.0 ยุคอุตสาหกรรมเบา มีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ เช่น โรงงานทอผ้า เครื่องหนัง เครื่องประดับ เป็นต้นสังคมไทย 3.0 ยุคแห่งความรุ่งเรืองอุตสาหกรรมหนัก ใช้เทคโนโลยีต่างประเทศมาสนับสนุนการส่งออก เช่น อะไหล่รถยนต์ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้นสังคมไทย 4.0 ยุคข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทย เข้าสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ภาพอนาคต "สังคมที่อยู่อาศัยยุค 5.0"

สำหรับสังคม 5.0 เป็นยุคแห่ง Super Smart Society เทคโนโลยีที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องใช้ในโลกอนาคตนี้ ซึ่งหนีไม่พ้น นวัตกรรมของหุ่นยนต์ โดยการจะขับเคลื่อนสังคมยุคดังกล่าวให้มีเสถียรภาพ จำเป็นต้องผนวกโลกไซเบอร์ (Cyber Space) กับโลกแห่งความจริงเข้าด้วยกัน (Physical Space) โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพื้นฐาน พร้อมมี AI (Artificial Intelligence) ในที่นี้คือหุ่นยนต์เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะเห็นภาพอนาคตของสังคมดังกล่าวอย่างชัดเจน จากการจำลองที่อยู่อาศัยในยุค 5.0 ทั้งนี้แม้ในประเทศไทยยังเดินหน้าพัฒนาสังคมช้ากว่าญี่ปุ่น แต่ดูเหมือนว่าทางฝั่งผู้ประกอบการอสังหาฯ จะเริ่มส่งสัญญาณสร้างปรากฎการณ์ที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ โดยดึงนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสนองไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรูปแบบของ สังคมที่อยู่อาศัยยุค 5.0 ที่ประเทศญี่ปุ่นนำร่อง จะประกอบไปด้วยความน่าสนใจดังต่อไปนี้

เจาะ "สังคมที่อยู่อาศัยยุค 5.0" ในแบบฉบับของญี่ปุ่น



1. นำเทคโนโลยี Smart Partner เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของที่อยู่อาศัย

Smart Partner เป็นเทคโนโลยีความอัจฉริยะที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นระบบสแกนใบหน้าเพื่อเข้าบ้านหรือห้องชุด อันถูกใช้แทนกุญแจหรือคีย์การ์ด รวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัยทั้งในรูปแบบของอาชญากรรม ภัยพิบัติธรรมชาติ และเหตุฉุกเฉินจากปัญหาสุขภาพ

2. เชื่อมโยงที่อยู่อาศัย ให้เข้ากับ สังคมสูงอายุ Aging Society

สืบเนื่องจากปัจจุบัน แนวโน้มของประชากรผู้สูงอายุได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เหตุนี้เองการออกแบบที่อยู่อาศัยในสังคมยุค 5.0 จึงจำเป็นต้องรองรับกลุ่มผู้อยู่อาศัยดังกล่าว โดยมีเทคโนโลยีเชื่อมต่อกับคนในชุมชนและเพื่อนบ้าน ทำให้กล่มผู้สูงอายุมีสังคมของตนเอง

3. สร้างปรากฎการณ์ความอัจฉริยะให้กับที่อยู่อาศัย

ความอัจฉริยะของที่อยู่อาศัยยุคนี้ จะถูกซ่อนตัวอยู่ในฟังก์ชันของแต่ละห้องในบ้านหรือห้องชุด โดยเน้นรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่เสพติดโลกโซเชียล จึงออกแบบให้หน้าจอ Touch Screen คอยอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องครัวอัจริยะที่มีหน้าจอให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารต่างๆ แก่แม่บ้าน

เจาะ "สังคมที่อยู่อาศัยยุค 5.0" ในแบบฉบับของญี่ปุ่น



ประชาชนได้อะไร จากการพัฒนาสังคมที่อยู่อาศัย 5.0

แน่นอนว่าเมื่อประเทศชาติมีการพัฒนาสังคมที่อยู่อาศัยยุค 5.0 ประชาชนต่างได้ผลพลอยได้ในเรื่องความสะดวกสบาย ต้องการอะไรสามารถสั่งได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัส จากนวัตกรรมเทคโนโลยีดังกล่าว แต่แท้ที่จริงแล้วประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับโดยตรง คือ การรองรับเรื่องสภาพความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ทำให้มีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้อยู่อาศัยยังสามารถออกแบบการดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง อย่างในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เน้นเรื่องปัญหาสุขภาพเป็นสำคัญ ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการพัฒนาที่อยู่อาศัย 5.0 จะอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดสังคม 5.0 ซึ่งประกอบไปด้วย

การเพิ่มโอกาสและศักยภาพของประชาชน โดยตั้งเป้าว่ามีชีวิตที่มั่นคง ยั่งยืน ปลอดภัย
โครงสร้างธุรกิจแต่ละประเภท โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ เข้าสู่ระบบดิจิตอลเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป

แม้ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการพัฒนาสังคมที่อยู่อาศัยตามนโยบาย Thailand 4.0 ยังไม่ถึงขั้นจะก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 เหมือนอย่างประเทศญี่ปุ่น แต่ใช่ว่าจะไม่มีการเตรียมความพร้อมกับโลกอนาคต เพราะรากฐานของยุค 5.0 ต่างต้องมีองค์ประกอบของสังคมที่อยู่อาศัย 4.0 ที่แข็งแรง ซึ่งอยู่ในกรอบของความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

บทความข้างต้นเผยแพร่ครั้งแรกที่ DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์ ที่รวบรวม ข่าว ทิปส์ในการซื้อขายอสังหาฯ และรีวิวโครงการใหม่ ไว้กว่า 10,000 บทความ

logoline