svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วิกฤตโรคพิษสุนัขบ้าระบาด ต.บางแก้ว ถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดง

05 มีนาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สมุทรปราการ - เจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ ต.บางแก้ว หลังถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่สีแดง โรคพิษสุนัขบ้าระบาด

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 5 มีนาคม 2561 เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ สมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันนำกำลังผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบโรคระบาดและเจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันการแพร่ระบาดโรคระบาด เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบการแพร่ระบาดของพิษสุนัขบ้า ในพื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบของสถานีตำรวจภูธรบางแก้วและใกล้เคียง

หลังจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอบางพลี ได้ประกาศเป็นพื้นที่สีแดง เขตโรคระบาดชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เนื่องด้วยชุมชนซอยเมืองแก้ว 1 หมู่ที่ 13 ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พบว่ามีสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรงอาจจะระบาดไปยังสุนัขและแมว ตลอดจนประชาชนและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ได้ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งพระราบัญญัติโรคระบาดสัตว์เลี้ยง พ.ศ.2558 ประกาศเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2561 ไปจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2561

โดยห้ามมิให้ผู้ใด เคลื่อนย้ายสุนัข แมว หรือซากสัตว์ดังกล่าวภายในเขตที่ประกาศกำหนดไว้ หรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในหรือออกนอกเขต เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตว์แพทย์ เมื่อพบสุนัข และแมวที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ในหมู่บ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงที่มีสุนัข และแมวป่วยหรือตายด้วยอาการคล้ายคลึงกันในระยะเวลาห่างไม่เกิน 7 วัน ให้เจ้าของแจ้งต่อพนักงานท้องถิ่นหรือสารวัตรหรือสัตว์แพทย์ ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์หรือบุคคลใดเคลื่อนย้ายสุนัข และแมวป่วยทั้งหมดไปจากบริเวณนั้น

ในกรณีสุนัขและแมวตาย ให้เจ้าของควบคุมซากนั้นให้อยู่ ณ ที่ที่สัตว์ตาย และห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้าย ชำแหละ หรือกระทำการอื่นใดแก่ซากสัตว์นั้น ทั้งนี้ เจ้าของสัตว์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสัตว์แพทย์ทุกประการ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติหรือคำสั่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่ได้ออกสำรวจและฉีดยาวัคซีนให้กับสุนัขเลี้ยงและสุนัขจรจัดตามแหล่งชุมชนต่างๆ พร้อมทั้งออกประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่เชื้อโรคจากสัตว์สู่คน เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่

นายแพทย์ ประกิต วงศ์ประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า จังหวัดสมุทรปราการ จากสถิติของการเกิดโรคตั้งแต่อดีตระยะ 3 ปี มาจนถึงปัจจุบันพบว่า เกิดขึ้นในทุกตำบลของจังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากพบว่ามีทั้งสุนัขใหม่และแมวใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากมีทั้งผู้ที่รักสัตว์และไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูแลต่อก็มักจะนำมาปล่อยตามวัด โรงเรียน หรือแหล่งชุมชน ต่างๆ ที่มีอาหารเหลือทิ้ง สุนัขเหล่านี้ก็จะมารวมกันบริเวณดังกล่าวและผสมพันธุ์จนเกิดลูกจำนวนมาก ทำให้การควบคุมเป็นไปด้วยความลำบาก จึงกลายเป็นปัญหาของการเกิดโรคในปัจจุบัน

มาตรการหลังเกิดโรคแล้วจึงใช้นโยบายของกรมควบคุมโรค คือการสอบสวนโรคและฉีดวัคซีนในบริเวณที่เกิดโรค และบังคับใช้กฎหมายของกระทรวง เข้ามาช่วยในการดูแลการแพร่ระบาย โดยบังคับให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงทั้งสุนัขและแมวต้องนำสัตว์เลี้ยงมาให้วัคซีน และหากฝ่าฝืนไม่นำมาให้วัคซีนก็จะมีโทษปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค ส่วนการสังเกตอาการของสัตว์ทั้งสุนัขและแมวที่ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้านั้น ให้สังเกตจากนิสัยและการเปลี่ยนแปลงของสัตว์นั้นๆ เช่น ป่วย เบื่ออาหาร ซึม และมีนิสัยดุร้าย และจะมีอาการชัดเจนต่อเมื่อเชื้อเข้าสู่สมองของสัตว์ก่อให้เกิดอาการชัดเจน

วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการนำสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีนประจำปี เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้อีกวิธีหนึ่ง สำหรับจังหวัดสมุทรปราการนั้นปัจจุบันมีการส่งตรวจหัวสุนัขมากกว่า 50 หัว และพบว่าร้อยละ 80 ของหัวสุนัขที่ส่งตรวจนั้นมีการติดเชื้อจริง

จากสถิติของการเกิดโรคระบาดสู่คนและพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดพิษสุนัขบ้าแล้วจำนวน 3 ราย สำหรับจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตั้งแต่คือเดือนมกราคม มาจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว แต่พบพื้นที่เสี่ยงและเกิดโรคแล้วจำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง ซึ่งป้องกันได้โดยไม่คลุกคลีกับสุนัขจรจัดหรือเข้าไปเล่นไปแย่สุนัขจรจัดเพื่อป้องกันการถูกกัดจากสุนัขจรจัดอันจะนำมาซื้อการแพร่เชื่อจากสารคัดหลั่งจากสัตว์สู่คน หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ กัดหรือข่วน ให้ทำความสะอาดแผลด้วยสบู่อย่างน้อย 15 นาที จากนั้นใส่เบตาดีน แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ว่าสัตว์นั้นจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาแล้วหรือไม่ก็ตาม

logoline