svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

ก.แรงงาน รุก! ติวนักศึกษา เน้นฝึกจบมีงานทำ

05 มีนาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ (5 มีนาคม 2561) ณ ห้องประชุม ชั้น 1 อาคารอำนวยการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับภาครัฐและเอกชน เปิด "โครงการการฝึกอบรมทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้นในสาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์" ให้แก่นักศึกษาปวส. ปีสุดท้าย เน้นฝึกจบมีงานทำ

 นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าปัจจุบันคนทำงานในประเทศไทยมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ จะขัดแย้งกับการลงทุนของรัฐบาลมีโครงการเมกะโปรเจ็กมากมายในการพัฒนาประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ตลาดจึงมีความต้องการคนทำงานที่มีทักษะฝีมือเป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีชั้นสูง ระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ โดยกลุ่มนักศึกษาระดับปวช.และปวส. เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ตลาดต้องการ กพร. จึงดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาขีดความสามารถของนักศึกษาให้เป็นช่างฝีมือมีศักยภาพรองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง (High Technology) ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และป้อนสู่สถานประกอบกิจการ


 นายสุรพล พลอยสุข รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในฐานะเป็นประธานเปิดโครงการกล่าวว่าล่าสุดสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) หนึ่งในศูนย์ Excellent Center ของกพร. ได้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ดำเนิน "โครงการการฝึกอบรมทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้นในสาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์" ให้แก่นักศึกษาปวส. ปีสุดท้าย การฝึกอบรมจะเป็นไปอย่างเข้มข้นทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ (ระยะเวลาการฝึกอบรม 162 ชั่วโมง) ภายใต้หัวข้อการใช้งานโปรแกรม CAD/CAM สำหรับงานกัดและงานกลึง ทักษะงานช่างอุตสาหกรรม การเชื่อมแม็กสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ นิสัยอุตสาหกรรม เป็นต้น และเข้าฝึกในสถานประกอบกิจการด้านยานยนต์และชิ้นส่วนอีก 10 เดือน นักศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับโอกาสเข้าทำงานสถานประกอบกิจการที่ฝึกอบรมอีกด้วย 


 "ในปีที่ผ่านมา (2560) มีนักศึกษาได้รับโอกาสเข้าทำงานจำนวน 63 คน .สำหรับในปีนี้ (2561) มีนักศึกษาจำนวน 108 คน จากวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี วิทยาลัยเทคนิคนครนายก วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ และวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เชื่อว่าเมื่อการฝึกอบรมสิ้นสุดลงนักศึกษาเหล่านี้จะได้เข้าทำงานในสถานประกอบกิจการ โดยขณะนี้มีสถานประกอบกิจการแสดงความจำนงรับนักศึกษาเข้าฝึกอบรมและทำงานจำนวน 24 แห่ง ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้เยาวชนของชาติให้เป็นกำลังแรงงานของประเทศที่มีคุณภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันได้ในทุกระดับ ขณะเดียวกันเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายในการพัฒนากำลังแรงงานให้ตรงกับความต้องการสถานประกอบกิจการด้วย" อธิบดีกพร. กล่าว

logoline