svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วีวอล์ค" โวย! รัฐคุกคามไม่หยุด

19 กุมภาพันธ์ 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วีวอล์ค" ร้องกสม.ตรวจสอบเร่งด่วน. เจ้าหน้าที่รัฐคุกคามหนักตั้งแต่เริ่มจนจบกิจกรรม "อังคณา" พร้อมตรวจสอบ เบื้องต้นยังไม่พบการข่มขู่ ทำร้าย


19 ก.พ.61 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เวลา 13.00 น.นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชน หรือ พีเพิล โก เน็ตเวิร์ค จัดกิจกรรมเดินมิตรภาพ หรือวีวอล์ค จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 20 ม.ค.-17 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และรณรงค์ให้ประชาชนทราบถึงปัญหาสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1.รัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ 2. เกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร 3.สิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และ4. สิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย


ซึ่งได้รับการคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้ตามสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่สมาชิกผู้ร่วมกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม ถูกติดตามถ่ายภาพหน้าและทะเบียนรถยนต์ และพยายามปิดกั้นในหลายรูปแบบ มีการติดตามไปในชุมชน ที่ทำงาน และบ้านพักเพื่อตามหาตัว โดยการคุกคามเป็นไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. จนถึงกิจกรรมวันสุดท้าย และยังต่อเนื่องมายังวันที่ 18 ก.พ. ซึ่งตำรวจสภ.บึงกาฬ ได้เข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านสมัชชาคนจน ภาคประชาชนจึงเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการข่มขู่คุกคาม และขัดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุด จึงขอให้กรรมการสิทธิดำเนินการตรวจสอบเป็นวาระเร่งด่วน


"กรณีที่หนักที่สุดคือกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งมาร่วมเดินกิจรรมเดินมิตรภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปรายงานตัว และจับกุมตัวไปส่งฟ้องศาลฝากขัง โดยศาลให้ประกันตัวคนละ 5,000 บาท แต่กำหนดให้มารายงานตัวทุก ๆ 6 วัน ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก" นายนิมิตร์ กล่าว


นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสม. ได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม และตรวจสอบไม่ให้มีการละเมิดสิทธิ์ นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยด้วยวาจากับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ก็ไม่พบว่าจะมีสัญญาณที่จะเกิดปัญหาข่มขู่คุกคาม และเท่าที่ได้รับฟังจากเครือข่ายภาคประชาชนยังไม่พบพฤติการณ์ว่ามีการเข้าไปข่มขู่หรือทำร้าย มีเพียงกรณีกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรภาคเหนือที่ถูกยื่นฟ้องเป็นคดีในชั้นศาล

หลังจากนี้จะทำหนังสือถึงหน่วยงานเพื่อให้ชี้แจงข้อร้องเรียนของเครือข่ายภาคประชาชน เนื่องจากการเข้าไปติดตามตัวสอบถาม จะทำให้เกิดความหวาดระแวง หากเจ้าหน้าที่พบว่ากิจกรรมของภาคประชาชนจะนำไปสู่ความไม่สงบหรือไม่ปลอดภัยก็ต้องแจ้งให้เลิกจัดกิจกรรม ไม่ใช่ไปติดตามตัวผู้ร่วมกิจกรรม เพราะชาวบ้านก็แค่มารับฟังเนื้อหากิจกรรม การติดตามไปยังบ้านพักที่มีพ่อแม่ ญาติพี่น้องร่วมพักอาศัยอยู่ด้วย จะเป็นการสร้างความหวาดกลัวหวาดระแวง

logoline