svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมชลฯ ย้ำพื้นที่ชลประทานมีน้ำเพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้

14 กุมภาพันธ์ 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมชลประทาน เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่นอกเขตชลประทาน พร้อมย้ำพื้นที่ในเขตชลประทานมีน้ำเพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 ขอความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัด


ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งอาจจะประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.) มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและให้การช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะประสบกับปัญหาภัยแล้ง นั้น



กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งและการช่วยเหลือประชาชน โดยให้บริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทานด้วยการใช้ระบบชลประทานที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถยนต์บรรทุกน้ำ ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีหากมีการร้องขอ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 47 จังหวัด ตามที่กรมพัฒนาที่ดินได้วิเคราะห์ไว้ กรมชลประทานได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำ ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำไว้ตามโครงการชลประทานต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 2,193 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำอีก 231 คัน


ในส่วนของการติดตามผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2560/2561 ทั้งประเทศ(ข้อมูล ณ 7 ก.พ. 61) พบว่ามีการเพาะปลูกไปแล้วรวม 8.45 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 93 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 9.05 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.95 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.35 ล้านไร่) ทั้งนี้ เฉพาะในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.61 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 107 ของแผนฯ (แผนวางไว้ 5.23 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.55 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 107 ของแผนฯ (แผน 5.17 ล้านไร่)



อนึ่ง จะเห็นได้ว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวรอบที่ 2(นาปรัง) แม้ว่าจะมีการเพาะปลูกเกินแผนที่วางไว้ แต่พบว่าพื้นที่เพาะปลูกมีแนวโน้มทรงตัวและขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่รณรงค์และติดตามการเพาะปลูกให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกร ถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ และต้องใช้ตามแผนจัดสรรน้ำที่ได้วางไว้ เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างไม่ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการใช้น้ำในเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ มีปริมาณเพียงพอที่สนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และการเกษตรใช้น้ำน้อยตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้ ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

logoline