svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เปิดแฟ้ม !! "เทคนิคกฎหมาย" เลื่อนเลือกตั้ง ของ คสช.

21 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

(ขยายปมร้อน) ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝ่าย คสช.ใช้ "เทคนิคกฎหมาย" เพื่อเลื่อนการเลือกตั้ง มาไล่เรียงดูว่า ที่ผ่านมามีอะไรบ้าง

แทบจะไม่มีใครตื่นเต้นตกใจกับการที่ (คสช.)จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป จากที่ "บิ๊กตู่" เคยประกาศไว้ว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน นี้

ถามว่าทำไมจึงไม่แปลกใจ ก็เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำ"เทคนิคข้อกฎหมาย"มาเป็นเครื่องมือทำให้โรดแม็พการเลือกตั้งเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงการใช้เทคนิคกฎหมายที่ส่วนใหญ่เป็นการ"เอื้อประโยชน์"ให้ฝ่าย คสช.

นับเฉพาะครั้งสำคัญๆ

ส่วนแรก คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช. เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรกที่มีการแก้ไข โดยแก้ไขไปถึง 4 ครั้ง ขณะที่ไม่เคยปรากฏว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับไหนในอดีตที่เคยมีการแก้ไข แม้บางฉบับจะเขียนเปิดทางให้มีการแก้ไขได้ก็ตาม

การแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งแรก เพื่อเพิ่มขั้นตอนว่าต้องมีการทำประ่ชามติด้วย แต่เนื่องจากประเด็นนี้เป็นความต้องการของประชาชนด้วย จึงไม่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์นัีก

แต่ในการแก้ไขครั้งนั้นซึ่งเกิดเมื่อ18 มิถุนายน 2558 ก็แก้ไขประเด็นอื่นสอดแทรกเข้ามาด้วย ที่สำคัญคือการกำหนดให้มี"คำถามพ่วง"พร้อมกับการทำประชามติได้ ซึ่งสุดท้ายคำถามพ่วงนี่แหละ ที่เปิดทางให้ดึง ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯใน 5 ปีแรก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องคุณสมบัติของผู้เป็นรัฐมนตรี โดยตัดข้อห้ามเรื่องเคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองมาก่อน เพื่อที่จะเปิดทางให้"สมคิด จาตุศรีพิทักษ์"เข้ามาเป็นรองนายกฯด้านเศรษฐกิจ แทน"หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลที่ผลงานไม่เข้าตา

ครั้งที่สอง เป็นการแก้ไขถ้อยคำที่ผิดพลาดในการแก้ไขครั้งแรก เรื่องการนับคะแนนประชามติ ที่ครั้งแรกกำหนดให้ใช้เสียง "เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ" ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นโอกาสที่รัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติมีสูงมาก จึงแก้มาเป็น "เสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติ" โดยแก้ไขไปเมื่อ 10 มีนาคม 2559

ครั้งที่สาม แก้ไขเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เพื่อเพิ่มสนช.อีก 30 คน จาก 220 คน เป็น 250 คน ซึ่งต่อมาก็ชัดเจนว่าเป็นการเพิ่มจำนวน สนช.เพื่อแต่งตั้งนายทหารที่เกษียณอายุราชการ และที่เพิ่งได้เลื่อนขั้น โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนั้นทำ

และครั้งสุดท้าย แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2560 เพื่อเปิดช่องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามพระราชทานข้อสังเกตได้

และแม้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว แต่เนื่องจาก คสช.ยังคงอยู่ และอำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ซึ่งถือว่าเป็น "อำนาจครอบจักรวาล" ก็ยังอยู่ ซึ่งมีการนำมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลตลอดเวลา

ทีนี้มาดูเฉพาะเรื่อง"เทคนิคทางกฎหมาย"หรือถ้าจะเรียกตามคำที่"รองนายกฯวิษณุ เครืองาม"มือกฎหมายของรัฐบาลเคยใช้ ก็คือ"อภินิหารกฎหมาย"ที่ส่งผลให้โรดแม็พการเลือกตั้งต้องขยับออกไป

แน่นอน คสช.ไม่เคยบอกว่าการใช้เทคนิคทางกฎหมายแต่ละครั้งมีจุดประสงค์เพื่อเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนคนที่ติดตามการเมืองก็มองไปในทิศทางเดียวกัน

ครั้งแรก คือ การที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)คว่ำร่างรัฐธรรมนูญของ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ"ซึ่งถูกมองว่าเป็นการใช้เทคนิคทางกฎหมายที่แทบจะไม่มีใครคาดถึงเพราะตอนนั้นก็ไม่ได้มีประเด็นที่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่โตที่จะทำให้ สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ถจึงเป็นข้อสรุปในสายตานักวิเคราะห์การเมืองว่า เป็นการล้มรัฐธรรมนูญเพื่อยืดเวลาที่จะไปสู่การเลือกตั้ง

ข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งในตอนนั้นคือ คนที่เป็นคนล้มร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็คนที่ใกล้ชิดฝ่าย คสช.เอง และเมื่อมีการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ขึ้นมา คนส่วนหนึ่งที่ได้รับเลือกเข้ามาก็คือคนที่เคยโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น

ต่อมา คือการวางกลไกในรัฐธรรมนูญเรื่องการจัดทำกฎหมายลูกซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้จะมีการแยกในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งออกมาจากกฎหมายลูกฉบับอื่น และกำหนดให้ทำเสร็จก่อน แต่ครั้งนี้กลับรวมกฎหมายลูกไว้ด้วยกัน และกำหนดให้ทั้งหมด คือ 10 ฉบับ เสร็จภายใน 240 วัน

เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นเกมยื้อวันเลือกตั้งหรือไม่"มีชัย ฤชุพันธุ์"ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพยายามแก้ต่างให้ แต่สุดท้ายก็คณะกรรมการชุด "มีชัย" นี่แหละ ที่ทำคลอดกฎหมายเลือกตั้งออกมาเป็นฉบับสุดท้ายในบรรดากฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ โดยมาเสร็จก็ตอนจะครบ 240 วันพอดี

ต่อมาคือการที่คสช.ไม่ยอมปลดล็อคพรรคการเมืองทั้งที่กฎหมายพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ เดือนตุลาคม ปีที่แล้ว และสุดท้ายก็มาออกคำสั่งตามมาตรา 44 ซึ่งแม้ฝ่าย คสช.จะบอกว่า เป็นการออกคำสั่งเพื่อช่วยพรรคการเมือง แต่ที่จริงคือการล็อคพรรคการเมืองต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

และก็มาชัดแจ้ง เมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณา้กฎหมายเลือกตั้ง ของ สนช.เสนอให้แก้ไขวันบังคับใช้กฎหมายช้าออกไปอีก 90 วัน

ทุกอย่างเป็นไปอย่างมีขั้นมีตอน สอดประสานกันอย่างดีในทุกจังหวะ จนทำให้ถูกมองว่าถ้าไม่ได้วางแผนอย่างละเอียดไว้ตั้งแต่ต้น คงไม่สามารถทำได้ขนาดนี้

เมื่อ คสช.ยังคงแก้ไข "กติกา" ตามที่ต้องการอยู่เรื่อยๆ คำถามเรื่องวันเลือกตั้ง จึงยังคงอยู่ต่อไป !!

เรื่องโดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ คมชัดลึกออนไลน์

***เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ทำใจ...ปีนี้ไม่มีเลือกตั้ง !!

เลื่อนเลือกตั้ง (อีกครั้ง) !! ด้วย "อภินิหารกฎหมาย"

logoline