svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รักโลก by วชิรวิทย์ | คนจนหมดประเทศได้จริงหรือ?

08 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐบาลของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ประกาศชัดเจนว่ามีความตั้งใจที่จะทำให้คนจนหมดจากประเทศ"ทย ก็นับว่าเป็นคำประกาศที่ท้าทายความเป็นจริงอยู่มากทีเดียว แต่ถ้ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาความยากจน ให้คนจนหมดไปจากประเทศไทยจริงๆ คำถามใหญ่ก้คือว่า จะเริ่มต้นที่ตรงไหน ?

คำประกาศของรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ที่จะทำให้คนจนหมดไป เป็นสิ่งที่ท้าทายความรู้สึกของคนในสังคมไม่น้อยด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะเซื่องซึม

แต่คำว่าเซื่องซึม คงเป็นสิ่งที่รัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยอมรับอย่างแน่นอน เพราะทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมองภาพในทางตรงกันข้ามด้วยความเชื่อว่าทุกอย่างกำลังดีขึ้น
แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะเชื่อย่างไร คงไม่มีเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจได้ดีไปกว่าคนเหล่านี้

"ส่วนใหญ่รัฐบาลชุดนี้จะไปบริหารเรื่องการเมืองการปกครองเสียมากกว่า เรื่องปากท้องประชาชนนี่ยังไม่ดีขึ้นนะคะ"

"คือเงียบไม่ค่อยมีคนซื้อ ไม่ค่อยมีคนจ่าย ยอดขายตกมาก จะว่าของแพง ไม่แพงนะ กลับถูก แต่ไม่มีคนซื้อ ไม่เข้าใจเหมือนกัน"

"จากลูกค้าเยอะๆ ที่เคยซื้อกุ้งเป็นโล 2 โล ที่ขายได้ทุกวัน แต่ตอนนี้ลดมาครึ่งโล แล้ววันเว้นวันบ้าง"

ชัดเจนว่าเสียงสะท้อนจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสวนทางกับความเชื่อมั่นของรองนายกรัฐมนตรีสมคิดที่จะเห็น ปี 2561 เป็นปีที่คนจนจะหมดประเทศ

และแม้แต่ข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ชี้ไปในทิศทางตรงข้ามกับรัฐบาล

นั่นคือ..คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง

เส้นความยากจนของประเทศไทยถูกกำหนดให้อยู่ที่รายได้ 2,920 บาทต่อเดือน หมายความว่าใครก็ตามที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่านี้จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนยากจน

และการสำรวจล่าสุดระหว่างปี 2558-2559 พบว่าประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากจำนวนคนจนในปี 2558

หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ภาวะการณ์ความยากจนเกิดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งแรก ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 5 ล้าน 5 แสนคน

ครั้งที่สอง ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551 จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 398,000 คน และครั้งที่สามก็คือครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวนคนจนเพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

การเพิ่มขึ้นของคนจน 2 ครั้งแรก เกิดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นบวก

แต่รายได้ของกลุ่มรากหญ้า กลับลดลง คำถามก็คือทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

"นโยบายของรัฐพยายามลงไปที่คนจนแต่ว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ลงไปในลักษณะของเพิ่มรายได้หรือเพิ่มโอกาส แต่ไปในลักษณะของการช่วยเหลือเยียวยา เช่น การลดค่าใช้จ่ายผ่านบัตรผู้มีรายได้น้อยอย่างนี้เป็นต้น

ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจที่แท้จริงจะเกิดมาจาก 3 อย่างด้วยกันคือ 1. มีรายได้หรือค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 2. มีประสิทธิภาพหรือความสามารถในการผลิตดีขึ้น และ3. มีโอกาสโอกาสใหม่ๆเพิ่มขึ้นเช่นการศึกษาหรือการกระจายการถือครองที่ดินถือครองทรัพย์สินเป็นต้น แต่ว่ารัฐบาลอาจจะไม่ได้ดำเนินการในฝั่งรายได้มากนักแต่เป็นในลักษณะของการช่วยเหลือคนจนในการจับจ่ายใช้ส้อยมากกว่า" ดร.เดชรัต ระบุ


ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาล คสช. แทบไม่ได้ดำเนินนโยบายที่เพิ่มโอกาสของคนจน ในทางกลับกัน ยิ่งไปส่งเสริมภาคเอกชนมากกว่า ผ่านนโยบายที่เรียกว่า ประชารัฐ

นี่เป็นแนวคิดที่เรียกกันในภาษาเศรษฐศาสตร์ว่า Trickle Down Effect หรือ ทฤษฎีน้ำซึมบ่อทราย ซึ่งหมายถึงการทำให้ผู้ที่มีความสามารถในการผลิตเข้มแข็งก่อน เพื่อที่จะกระจายผลประโยชน์สู่คนชนชั้นกลาง และคนจนในที่สุด

นี่เป็นทฤษฎีที่รัฐบาลทหารและแม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เชื่อในอิทธิพลของกลุ่มทุนในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ใช้มาตลอด

อย่างเช่นในยุคของพลเอกเปรมก็เชื่อว่าทำอีสเทิร์นซีบอร์ดให้เข้มแข็งก่อน และถ้าหากเข้มแข็งแล้ว คนก็จะเริ่มมาลงทุนตรงนั้นก็จะทำให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นในส่วนอื่นๆของประเทศก็จะดีตามมา

"ถ้าเราเปรียบเทียบหรือจำลองภาพการเทน้ำคนที่เชื่อทฤษฎีนี้ก็คือคนที่เทน้ำลงในแก้วใบบนสุด พอแก้วไปบนสุดเต็มแล้วก็จะค่อยๆไหลลงสู่แก้วใบตรงกลางและใบด้านล่างในที่สุด แต่คนที่แย้งในทฤษฎีนี้คือถ้าหากแก้วใบด้านบนไม่ได้อยู่นิ่ง ในทางเศรษฐกิจหากแก้วใบบนสุดเต็มแล้วกลับกลายขยายตัว เพราะฉะนั้นเทไปเท่าไหร่ก็อยู่แต่ในใบบนสุด ส่วนใบหลังๆก็จะได้รับน้ำน้อย" อาจารย์เศรษฐศาสตร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเข้าใจรากเหง้าของปัญหา นโยบายที่ต่อเนื่อง และความมุ่งมั่นของรัฐบาล แต่ดูเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือจากการการยึดอำนาจ การแก้ปัญหาความยากจนเป็นเพียงการจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ...

logoline