svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รักโลก by วชิรวิทย์ | นิยามความจน

08 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานแสนนาน และเราคงจะเคยชินกับการได้ยินคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่จะแก้ปัญหานี้ แต่จนแล้วจนรอด ปัญหาความยากจนก้ยังอยู่กับเรามาจนถึงทุกวันนี้ แต่บางทีการที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้ดีนั้น อาจจะต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจความหมายที่แท้จริง ของคำว่า "ความยากจน"

แม้ซอยทองหล่อ ศูนย์กลางแหล่งบันเทิงใหญ่ของกรุงเทพมหานคร และบ้านห้วยฮี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะอยู่กันเกือบ 1,000 กิโลเมตร (924 กิโลเมตร) แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือความยากจน

การฉลองเทศกาลปีใหม่ผ่านไปอีกหนึ่งปี แต่สำหรับชาวบ้านที่ บ้านห้วยฮี้ ตำบลห้วยปูลิง จ. แม่ฮ่องสอน คงไม่มีอะไรให้ฉลองมากนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นปีใหม่หรือปีเก่า ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม

บ้านห้วยฮี้เป็นเพียง 1 ในหลายสิบหมู่บ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ไม่มีถนนตัดผ่าน และยังไม่มีไฟฟ้าใช้
เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ที่พื้นที่ที่ต้องเรียกว่าเป็นป่า ไม่มีโฉนด และห่างไกลจากโรงเรียน และโรงพยาบาล

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดให้แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีคนจนเยอะที่สุดในประเทศไทย

ร้อยละ 65 ของประชากรในจังหวัดมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน ต่ำกว่าคนกรุงเทพมหานครถึง 6 เท่า

บ้านห้วยฮี้ตั้งอยู่เขตอำเภอเมือง และห่างจากย่านเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพียง 30 กิโลเมตร แต่การเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านแห่งนี้ เหมือนกับการผจญภัยเล็กๆ ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ไต่ขึ้นเขาบนถนนลูกรังตลอดทาง

ชายวัย 40 ปีคนนี้ ใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดอยู่ที่บ้านห้วยฮี้มาตลอด และสิ่งหนึ่งที่โยธิน ไพรประเสริษฐ์ยิ่ง ยืนยันได้ก็คือ ใครก็ตามที่เชื่อว่าชีวิตที่อยู่บนเขาควรจะอยู่ได้อย่างสบายกับทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินสด คิดผิดอย่างมาก

โยธิน ยอมรับว่ากับไพรม์ไทม์ว่า วันนี้เขามีเงินติดตัวไม่ถึงพันบาท และถึงแม้ค่าใช้จ่ายวันต่อวันอาจไม่มากนัก แต่เขาก็มีภาระที่ไม่ต่างจากคนในเมือง นั่นคือต้องส่งลูกเรียนหนังสือ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล โดยให้กับเฉพาะพ่อและแม่ในวัยชรา

หลายครั้งที่คนป่วยในหมู่บ้าน ต้องเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล เพราะเส้นทางที่ยากลำบาก

บางทีความยากจนไม่ได้วัดกันด้วยจำนวนเงินในกระเป๋าแต่เพียงอย่างเดียว และสิ่งที่ชาวบ้านฮ้วยฮี้ต้องอาจไม่ใช่ความช่วยเหลือ แต่เป็นถนนและไฟฟ้า

แหล่งไฟฟ้าของครอบครัวไพรประเสริฐยิ่งทุกวันนี้คือแผงโซล่าเซลล์ที่สร้างงบประมาณในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

โทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือที่โยธินใช้อยู่อาจสวนทางกับภาพของความยากจนของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ แต่โยธินมีคำอธิบาย...

"ในยุคนี้จำเป็น แต่ขนาดไอโฟนคงไม่มี เป็นโทรศัพท์ปกติทั่วไป บางคนที่เขาเล่าเน็ตเล่นไลน์ อันนั้นคงไม่ใช้ แต่มีไว้ติดต่อหากัน ลูกไม่สบาย ใครจะไปไหน นักท่องเที่ยวจะมาไหม"การตัดถนนเข้ามาในหมู่บ้านนอกจากจะทำคนป่วยได้รับการรักษาทันท่วงทีแล้ว ผลิตผลทางการเกษตรอย่างเมล็ดกาแฟ ซึ่งเป็นพืชเกษตรชนิดเดียวที่ชาวบ้านที่นี่ปลูกได้ โดยไม่ต้องถางป่า จะถูกขนส่งออกไปขายในเมือง หรือมีคนมีรับซื้อได้ง่ายขึ้น

โยธินไม่มีช่องทางการหารายได้ที่หลายทางมากนัก ท่ามกลางข้อจำกัดที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ไม่สามารถปลูกพืชไร่แบบเกษตรอุตสาหกรรมได้ ทำให้ไม่ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ เหมือนอย่างเกษตรกรพื้นราบ

รายได้ของเขา นอกจากการขายเมล็ดกาแฟเล็กๆน้อยๆ แล้ว คือการต้อนรับนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่นานๆ ครั้ง จะเข้ามา

ในระยะหลัง หลายครอบครัวในหมู่บ้าน จึงส่งลูกไปเรียนหนังสือในเมือง และทำงานในเมืองเพื่อส่งเงินกลับบ้าน

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนรู้ดีว่าทำไมจังหวัดของตัวเองจึงมีคนจนมากที่สุด นั่นเป็นเพราะว่าประชากรกว่าร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในป่า 232 หมู่บ้านอยู่ในเขตป่าสงวน 25 หมู่บ้านอยู่ในเขตอุทยานฯ และ 120 หมู่บ้านอยู่ในเขต รักษาพันธุ์สัตว์ป่า

การแก้ไขปัญหาความยากจนของ กระทรวงมหาดไทย พิจารณาจาก 4 ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต นั่นคือ ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค

คนจนในพื้นที่ห่างไกล จึงไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินมากสุด พวกเขาไม่รู้ว่าจะถูกขับไล่ออกจากป่าเมื่อไหร่ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความจนมีหลายมิติ และความจนเกิดจากหลายสาเหตุ ...

ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI เห็นว่านโยบายรัฐ มีส่วนซ้ำเติมคนจน เช่น นโยบายที่ไล่คนออกจากป่าพอถูกไล่ออกไปช่องทางในการทำมาหากินก็หายไป ทำให้กลายเป็นคนจน

ในฐานะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ทำวิจัยเกี่ยวกับคนจนมานานหลายปี เขาพอจะบอกแทนคนจนได้ว่า อะไรคือสิ่งที่คนจนต้องการมากที่สุด

"โอกาส เป็นสิ่งที่คนจนต้องการมากที่สุด ขยับขึ้นมาก็คือโอกาสที่จะได้มีการศึกษาที่ดี"

ประเทศไทยเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ แม้แต่ความยากจนก็ยังมีหลายระดับ และ ครอบครัวของโยธินและชาวบ้านห้วยฮี้ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าพวกเขาควรจะอยู่ในกลุ่มไหนตามคำนิยามของนักวิชาการ..

...จนถาวร จนดักดาน จนอยู่เรื่อยๆ หรือคนจนโอกาส

ที่นี่คือซอยทองหล่อ บนถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร แหล่งบันเทิงทำเลทองของนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสัญลักษณ์ของวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่และมีฐานะ

แต่ท่ามกลางแสงสีและความคึกคัก มีบางอย่างที่หลบซ่อนอยู่

ทางเดินแคบๆ นี้เป็นทางเดินเข้าไปในชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ พวกเขาสร้างบ้านอยู่บนที่หลวง ซึ่งเคยเป็นรางน้ำเก่ามาก่อน ตอนนี้ถูกโอบล้อม ด้วยตึกสูง

ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ มีบ้านเรือนแออัดกันถึง 42 หลังบนเนื้อที่แคบๆ เพียง 3 งาน 22 ตารางวา

หญิงคนนี้ คือ ประธานชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย มานานกว่า 10 ปี

เธอและเพื่อนบ้านมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงที่จะถูกไล่ที่ตลอดเวลา และดูเหมือนว่า ปัจจัยพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัยดูจะเป็นปัญหาร่วมกันของคนจน

ชุมชนเล็กๆ และแออัด แห่งนี้มีประชากรราว 400 คน มีอาชีพหาบเร่แผงลอย ขับวินมอเตอร์ และรับจ้างทั่วไป แน่นอนว่าอาชีพเหล่านี้จะมีรายได้มากขึ้นหากกำลังซื้อของคนมีเพิ่มขึ้น แต่วันนี้มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น การถูกขับไล่ออกมาจากการขายของบนทางเท้า ปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงรายได้ทางหนึ่ง เศรษฐกิจที่ย้ำแย่คนตกงาน ซ้ำเติมความยากจนของคนในชุมชนแห่งนี้

ที่บ้านหลังนี้ ไม่มีประตูเหมือนบ้านทั่วไป การสร้างบ้านในที่หลวง ซึ่งที่เป็นที่ดินตาบอด ทำให้พวกเขามีทางเลือกไม่มากนะ

ท่ามกลางบ้านหลายหลังที่มีคนอยู่แต่ค่อนข้างปิดเงียบ กรวรรณ บุญเทียน ผู้เป็น เจ้าของบ้านหลังนี้ ยอมออกมาพูดคุยกับไพร์มไทม์ เธอบอกว่าตอนนี้รับจ้างทั่วไป เช่น ล้างจานและ เย็บผ้า และวันนี้สามีของเธอกำลังตกงาน

แน่นอนว่าเงิน คือสิ่งที่คนจนต้องการมากที่สุด แต่โอกาสที่จะทำให้พวกเขาได้เงินมากกว่าเดิมคืออะไร

ดร. สมชัย บอกว่า มีอยู่ 2 เรื่อง 1 ก็คือในเรื่องของโอกาสที่เราพูดไปแล้วโอกาสทางด้านการศึกษา การศึกษาต้องแน่ใจว่าเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้มันห่างกันมาก

เรื่องที่ 2 ที่ต้องทำก็คือ ให้สิ่งที่ภาษาทางวิชาการเรียกว่าการคุ้มครองทางสังคมซึ่งการคุ้มครองทางสังคมถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านคือ ถ้าเกิดเค้าโชคร้าย เกิดเจ็บป่วยถูกรถชนตกงานบ้างหรืออะไรต่างๆ ต้องมีมาตรการรองรับ

ถ้าจะค้นหาสาเหตุ รากเหง้าของความยากจนความเหลื่อมล้ำว่าเกิดจากอะไร นักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องคนจนมาเกือบ 20 ปีคนนี้ เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำทั้งหลาย มีรากเหง้าจากสิทธิทางการเมือง

"คือมีสิทธิ์ไม่เท่ากันทางการเมือง ซึ่งตรงนี้ก็หนึ่งของปัญหาคนไทย เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข มีอย่างหนึ่งที่ผมชอบมากก็คือการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น กระจายอำนาจการคลัง ให้เขาสามารถเลือกตั้งกันเองได้ ซึ่งคล้ายๆกับอธิปไตยรากหญ้าให้ส่งเสริมตรงนี้ไป และถ้าหากมีเงินด้วยมีอำนาจด้วยอยู่ในมือที่เท่าเทียมกันมากขึ้นด้วย ผมว่าในที่สุดแล้วเขาจะได้รับโอกาสมากขึ้นอย่างที่ผมพูดมาทั้งหมดมันก็จะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมาจริงๆ"

และถ้ามันเป็นไปอย่างที่ ดร.สมชัย บอกจริงๆ ก็ไม่แปลกใจเลย ที่ชาวบ้านฮ้วยฮี้ ที่แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่โยธิน บอกว่าพวกเขาตื่นตัวกับการใช้สิทธิ์ออกเสียงอย่างมาก เช่นเดียวกับ ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ ที่แม้จะตั้งอยู่บนที่ดินไม่มีโฉนด แต่ยังมีทะเบียนบ้าน การเลือกตั้งไม่ว่าระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ จึงเป็นความหวังเดียวของคนจน ที่จะได้เลือกผู้นำที่ฟังเสียงพวกเขาบ้าง.

logoline