svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สกู๊ป "รากหญ้า" รายได้หด สวนทาง "GDP" ขยายตัว

30 ธันวาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คนจนจะหมดประเทศในปี 2561 คือ คำมั่นของรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ที่นำมาสู่เสียงวิพากย์วิจารณ์ และกระแสสังคมเสียดสี เนื่องจากอยู่ท่ามกลางบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เซื่องซึม



เศรษฐกิจที่เซื่องซึม อาจเป็นคำพูดที่รัฐบาล คสช.ปฏิเสธ เพราะที่ผ่านมาทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล บอกตลอดว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนเข้ามาบริหารประเทศ เพราะความเชื่อมั่นที่กำลังกลับคืนมา และโครงการ ลงทุนสร้าง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ถ้า คสช. บอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ทีมข่าวเนชั่นทีวี จึงลองไปสำรวจกำลังซื้อของชาวบ้านให้เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด เราเดินทางไปพูดคุยกับพ่อค้า แม่ค้าในตลาดสด เราอยากรู้ว่า เศรษฐกิจดีขึ้น จริงหรือไม่ ?เสียงสะท้อนจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ดูจะสวนทางกลับคำกล่าวของรองนายกฯ สมคิด ที่บอกว่า ปี 2561 คนจนจะหมดประเทศ คงเป็นเพียงความฝัน เท่านั้น

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุข้อมูลล่าสุด คนจนในประเทศไทยกลับเพิ่มขึ้น การสำรวจความยากจน เทียบกับเส้นความยากจน ที่ 2,920 บาท ต่อคน ต่อเดือน พบว่าในระหว่างปี 2558-2559 ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากจำนวนคนจนในปี 2558

หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิเคราะห์ว่า การเพิ่มขึ้นของคนจน 2 ครั้งแรก เกิดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2550 แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นบวก แต่รายได้ของกลุ่มรากหญ้า กลับลดลง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาล คสช. แทบไม่ได้ดำเนินนโยบายที่เพิ่มโอกาสของคนจน ในทางกลับกัน ยิ่งไปส่งเสริมภาคเอกชนมากกว่า ที่เรียกว่า ประชารัฐ ซึ่งแนวคิดนี้ ดร.เดชรัต วิเคราะห์ว่ารัฐบาลใช้ทฤษฎี เป็น Trickle Down Effect หรือ น้ำซึมบ่อทราย (รายละเอียดในคลิป)

เพื่อให้กลุ่มรากหญ้าลืมตาอ้าปากได้ ดร.เดชรัต มีข้อเสนอเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจเร่งด่วน ต่อรัฐบาลคสช. อย่างแรกคือขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ให้ทันกับอัตราเงินเฟ้อ และอย่างที่ 2 คือราคาสินค้าเกษตรเช่น ราคาข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ที่ต้องปรับตัวสูงขึ้น

logoline