svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เลือกแล้ว " 6 รอง ปธ.ศาลฎีกา" คุมรื้อคดี"ทักษิณ" ภาษีสรรพาสามิต

07 ธันวาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เลือกผู้พิพากษาใหม่อีก 6 คน ร่วมองค์คณะเดิมที่ยังไม่พ้นตำแหน่งอีก 3 คน ดูรื้อคดีทักษิณ ภาษีสรรพาสามิต " 5 คนองค์คณะจำนำข้าวยิ่งลักษณ์" ติดโผด้วย ลุ้นคำสั่งหลัง อสส.ยื่นขอพิจารณาลับหลัง ตาม วิ อม.ใหม่



เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษ เจ้าของสำนวนคดีที่ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เป็นจำเลย คดีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพาสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต ( พ.ศ.2527) พ.ศ.2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551 ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 21 พ.ย.60 ขอพิจารณานำคดีดังกล่าวที่เคยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความไปชั่วคราวเพราะตัวจำเลยหลบหนีคดีซึ่งถูกกออกหมายจับตามขั้นตอนไปแล้ว ขึ้นมาพิจารณาต่อไปตามกระบวนพิจารณาภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับใหม่ พ.ศ.2560 หรือ วิ อม. มีผลบังคับใช้ ซึ่งในมาตรา 28 บัญญัติสาระสำคัญว่า 


ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตาม มาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลยและให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องติดตามหรือจับกุมจำเลย รายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกำหนด แต่ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา โดยล่าสุดที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 176 คนได้เลือกผู้พิพากษา 6 คน แทนองค์คณะฯ ชุดเดิมบางคนที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เพื่อรับผิดชอบสำนวนคดีออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ - ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิตดังกล่าว และพิจารณาคำร้องของอัยการสูงสุดที่ให้นำคดีที่ยื่นฟ้องนายทักษิณ ขึ้นมาพิจารณาลับหลังจำเลยต่อไปเพราะจำเลยไม่มาศาลต่อไป

ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีมติเลือกผู้พิพากษาระดับศาลฎีกา ประกอบด้วย นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา 1 , นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฎีกา คนที่ 2 , นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา คนที่ 3 , นายโสภณ โรจน์อนนท์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 4 , นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกาคนที่ 5 และนายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้นำรายชื่อผู้พิพากษาทั้ง 6 คนที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะฯ ติดประกาศไว้ที่ศาลฎีกาภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ประชุมใหญ่มีมติวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อให้คู่ความในคดีได้รับทราบ ซึ่งเปิดโอกาสให้คู่ความสามารถคัดค้านรายชื่อผู้พิพากษาองค์คณะที่ได้รับเลือกได้หากว่ามีปัญหาต่อการพิจารณาคดี โดยการยื่นคัดค้านนั้นคู่ความสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่มีการติดประกาศ จนถึงก่อนวันที่จะเริ่มกระบวนพิจารณาขณะที่เมื่อ องค์คณะใหม่และองค์คณะเดิม รวม 9 คนแล้ว ก็จะนัดประชุมกันภายในองค์คณะเพื่อเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ต่อไป ก่อนที่จะพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของอัยการสูงสุดวาจะดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลย ตาม วิ อม.ใหม่ มาตรา 28 หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับองค์คณะใหม่ ที่รับผิดชอบคดีของนายทักษิณสำนวนนี้ มีผู้พิพากษา 5 คนที่เป็นองค์คณะฯ พิจารณาพิพากษาคดีโครงการจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนที่ 28 น้องสาวของนายทักษิณ ตกเป็นจำเลยด้วย ได้แก่ นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา คนที่ 1 , นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฎีกาคนที่ 2 , นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา คนที่ 3 , นายโสภณ โรจน์อนนท์ รองประธานศาลฎีกา คนที่ 4 และนายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วน "นายวิชัย เอื้ออังคณากุล" รองประธานศาลฎีกาคนที่ 5 ขณะนี้ก็ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุม พธม.ด้วยส่วนองค์คณะเดิมที่ได้รับเลือกไว้เมื่อปี 2551 นั้น ประกอบด้วย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อดีตเจ้าของสำนวน , นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ,นายเกษม วีรวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา , นายชาลี ทัพภวิมล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ,นายสุมิตร สุภาดุลย์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา , นายรัตน กองแก้ว ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา , นายไพโรจน์ วายุภาพ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา , นายประทีป เฉลิมภัทรกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา , นายดิเรก อิงคนินันท์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

ซึ่งคดีนี้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดปี 2551 ยื่นฟ้องไว้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.51 และศาลฎีกาฯ ประทับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.9/2551 แต่ปรากฏว่าวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลยนั้น นายทักษิณ ไม่มาศาลเนื่องจากได้หลบหนีไปแล้วตั้งแต่ 11 ส.ค.51 ศาลฎีกาฯ จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับเพื่อให้ได้ตัวมาดำเนินคดีต่อไป โดยระหว่างนั้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าจะได้ตัวจำเลยมา ซึ่งนอกจกคดีแก้ ก.ม.แปลงภาษีสรรพาสามิตเอื้อประโยชน์ชินคอร์ปฯ แล้ว ยังคดีอีก 3 สำนวนที่ศาลฎีกาออกหมายจับและจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว ประกอบด้วยคดีที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท และคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) กับคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องนายทักษิณ ร่วมกับอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยกู้ให้กลุ่มกฤษดามหานคร โดยทุจริตฯ


โดยยื่นฟ้อง นายทักษิณ อดีตนายกฯ คนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว , เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,152,157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ,100 ,122 ซึ่งการยื่นฟ้องนายทักษิณ แก้ ก.ม.แปลงภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์ชินคอร์ปฯนั้น อัยการได้นำพยานหลักฐานจำนวน 3 ลัง 20 แฟ้ม รวม 19,933 แผ่น เสนอศาลฎีกาฯ


ขณะที่คำฟ้องของอัยการสูงสุด สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 ก.พ.44 19 ก.ย.49 ซึ่งเป็นเวลาบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ และเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ม.11 โดยจำเลยมีหน้าที่กำกับดูแลทั้งส่วนราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นในฝ่ายบริหารที่ไม่ได้สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ใด รวมทั้งองค์การของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่เป็นข้าราชการและพนักงานในองค์การรัฐวิสาหกิจ และจำเลยในฐานะนายกฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนดและกำกับนโยบายสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 


โดยในส่วนของการจัดการดูแลกิจการโทรคมนาคม จำเลยมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ม.11 ซึ่งจำเลยมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน ในการสั่งราชการส่วนกลาง ชี้แจงแสดงความเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยังการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติ ครม. ซึ่งตาม ม.7 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว กระทรวง เป็นการจัดการบริหารราชการส่วนกลาง และ ม.20 ให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ ม.24 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ และตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ม. 10 กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง การบริหารทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่เพียงผู้เดียวตามกฎหมาย 


จำเลยจึงมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการกระทรวงการคลังผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และบริหารราชการเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที รวมทั้งการสั่งราชการที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิตผ่านทาง รมว.คลัง และที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที นอกจากนี้จำเลยยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ หมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตาม ม.100 ซึ่งต่อมายังได้มีประกาศ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามไม่ให้ดำเนินกิจการตามบทบัญญัติ ม.100

โดยระหว่างวันที่ 9 ก.พ.44 วันที่ 8 มี.ค.48 และระหว่างวันที่ 9 มี.ค.48 19 ก.ย.49 จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟล์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด, บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทุกบริษัทดังกล่าวต่างเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐและเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ โดยจำเลยอำพรางการถือหุ้นไว้ด้วยการให้บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด, บริษัท วินมาร์ค จำกัด ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นของจำเลย โดยมีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่คู่สมรส มีชื่อถือหุ้นแทน

นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 9 ก.พ.44 วันที่ 19 ก.ย.49 จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการสั่งราชการที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิต ผ่านทาง รมว.คลัง และที่เกี่ยวข้องกับทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที ได้ปฏิบัติหรือและเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการโทรคมนาคมด้วยการกระทำการ สั่งการตามอำนาจหน้าที่ให้มีการแปลงค่าสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมให้เป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจของ บมจ.ชินคอร์ปฯ โดยค่าสัมปทานดังกล่าว บมจ.แอดวานซ์ฯ บมจ.ดิจิตอลโฟนฯ ที่ บมจ.ชินคอร์ปฯ ถือหุ้นใหญ่ มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 


โดยจำเลยมอบนโยบายและสั่งการให้ออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68 ) ลงวันที่ 28 ม.ค.46 และมติ ครม. วันที่ 11 ก.พ.46 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม และให้นำค่าสัมปทานหักกับภาษีสรรพสามิต โดยการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ , กระทรวงการคลัง , กระทรวงไอซีที , บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท. รวมทั้งบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยทำให้ บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท.ที่เป็นคู่สัญญานำค่าภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากค่าสัมปทาน ทำให้เสียหายจำนวน 41,951.68 ล้านบาท และจำนวน 25,992.08 ล้านบาท นอกจากนี้จำเลยไม่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้งที่เป็นกิจการโทรคมนาคม และเป็นกิจการที่ บมจ.ชินคอร์ปฯ ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้อำนาจของจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต 


เหตุตามฟ้องเกิดที่แขวง-เขตดุสิต และ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.โดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที มีหนังสือลงวันที่ 29 พ.ย.49 ถึงประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราสรรพสามิต ดังกล่าว ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง คตส.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่ตรวจสอบมาพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ให้บุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นแทนใน บมจ.ชินคอร์ปฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม.100, 122 และ เป็นความผิด ตาม ป.อาญา ม.152 และ 157 จึงเสนอ คตส.ซึ่งได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบแล้วต่อมาจำเลยได้ชี้แจงข้อกล่าวหาโดยให้การปฏิเสธโดยระหว่างไต่สวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัว

logoline