svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

คุก "วัฒนา" บึ้ม รพ.พระมงกุฎฯ 26 ปี 12 เดือน!

06 ธันวาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จำคุกตลอดชีวิต "มือบึ้ม รพ.พระมงกุฎฯ" วัย 62 ปี เจ้าตัว รับสารภาพ อัยการสืบ ตร.-อีโอดี ประกอบคดี ศาลพิพากษาผิดจริงตามฟ้อง หลักฐานวงจรปิด-แผนผังวงจรระเบิดในบ้านมัด คำรับสารภาพไม่ใช่ถูกขู่เข็ญ ลดโทษเหลือ 26 ปี 12 เดือน ปรับ 500 บ. ยังมีคดีระเบิด กทม. รอตัดสินอีก 4 สำนวน

ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 6 ธ.ค.60 เวลา 09.30 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาคดีระเบิด รพ.พระมงกุฎเกล้า คดีหมายเลขดำ อ.2868/2560 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวัฒนา หรือตุ่ม ภุมเรศ อดีตวิศวกร กฟผ.วัย 62 ปี เป็นจำเลย ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288,289 (4) , ทำให้เกิดระเบิด ,ทำให้เสียทรัพย์ , พกพาอาวุธระเบิดไปในที่สาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(4) , 221,222,224,358,371 และพ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 , พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 โดยอัยการ ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 ก.ย.60 ระบุพฤติการณ์สรุป ระหว่างวันที่ 21- 22 พ.ค.60 จำเลยได้ประกอบระเบิดแสวงเครื่องชนิดจุดปะทุด้วยไฟฟ้าซึ่งเป็นระเบิดแรงต่ำชนิดดินดำประกอบไว้ในท่อพลาสติกพีวีซี สีฟ้า หรือเรียกว่า ไปป์บอมบ์ จำนวน 1 ลูกที่ใส่ตะปูเข็มเป็นสะเก็ดระเบิดไว้ในแจกันดอกไม้พลาสติก ที่หากระเบิดก็จะทำอันตรายต่อร่างกายให้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้ รวมถึงทำลายทรัพย์สินในรัศมี 5-10 เมตร

โดยจำเลยได้สวมหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกพรางตัวไว้ ระหว่างนำแจกันซึ่งใส่ระเบิดแสวงเครื่องดังกล่าวไปติดไว้ที่บนผนังห้องวงษ์สุวรรณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ แล้วเปิดสวิตช์ตั้งเวลาให้ระเบิดทำงานในเวลา 30 นาที ซึ่งการทำให้วงจรระเบิดทำงานส่งผลให้ พ.ท.กฤษฎา อินทรณเดช , พ.อ.หญิงพูนศรี บุญปาลิต และผู้เสียหายอื่นทั้งทหาร-พลเรือน รวม 21 คนได้รับบาดเจ็บแก่กายและอันตรายสาหัส และยังทำให้กล้องวงจรปิด รวมทั้งอุปกรณ์อื่นของรพ.พระมงกุฎฯ เสียหายรวมมูลค่า 1,201,000 บาท ซึ่งการติดตามจับกุมนั้น ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านของจำเลย ย่าน จ.นนทบุรี ก็ยึดได้แบตเตอรี่ , ชิ้นส่วนตัวเก็บปะจุไฟฟ้า , ชิ้นส่วนท่อพีวีซี , สวิชต์ , ตะปู , ตะขออลูมิเนียม ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบของวัตถุระเบิด ซึ่ง นายวัฒนา อดีตวิศวกร ไม่ได้ยื่นประกันตัวนับตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.60 และได้ขอให้การรับสารภาพคดีในชั้นศาล โดยศาลได้สืบพยานประกอบคำรับสารภาพเนื่องจากความผิดที่อัยการยื่นฟ้องนั้นมีอัตราโทษสูงและเมื่อสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว วันนี้ศาลจึงได้เบิกตัว นายวัฒนา มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อฟังคำพิพากษา

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ ประกอบคำรับสารภาพจำเลยแล้ว คดีนี้โจทก์ มีพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค.60 ได้รับแจ้งเหตุเกิดระเบิดที่บริเวณจุดนั่งรอรับยา รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบเศษวัตถุระเบิด ซึ่งภายหลังทราบว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบขึ้นเอง และเมื่อได้มีการตรวจสอบกล้องวงจรปิด ช่วงเวลาที่ใกล้กับเวลาเกิดเหตุ พบชายต้องสงสัยได้ถือแจกันดอกไม้ที่ใส่ไว้ในถุงพลาสติกเดินมาบริเวณที่เกิดเหตุ และขากลับออกไปในมือไม่ได้ถือแจกันดอกไม้อีก ซึ่งรูปพรรณสัณฐานผู้ต้องสงสัยนั้นมีลักษณะคล้ายกับจำเลย จึงได้มีการขอศาลออกหมายจับและติดตามจับกุมตัวจำเลยได้ในเวลาต่อมา ซึ่งการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า จำเลยได้นำระเบิดที่ประกอบใส่ไว้ในรถที่จอดอยู่ใน กฟผ. โดยเช้าของวันที่ 22 พ.ค. จำเลยได้นำวัตถุระเบิดดังกล่าวไปยังโรงพยาบาล ขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) ก็เบิกความถึงชนิดระเบิดว่า ผลิตจากท่อพีวีซีที่ใส่หัวตะปู มีการตั้งเวลา โดยรัศมีที่จะก่อให้เกิดอันตรายจากระเบิดมีระยะ 5-10 เมตร

ซึ่งพยานทั้งสองปากดังกล่าวไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงเชื่อว่าไม่มีเหตุปรักปรำจำเลย ขณะเดียวกันจำเลยเป็นผู้นำชี้จุดสถานที่เกิดเหตุให้รายละเอียดถูกต้องตรงกัน รวมทั้งเมื่อตรวจเจอแผนผังวงจรประกอบระเบิดที่เขียนไว้ในกระดาษที่บ้านพักของจำเลย เป็นวงจรแบบเดียวกับที่ใช้ในการก่อเหตุ และเมื่อให้จำเลยทดลองประกอบก็สามารถทำได้ตามแผนผัง ซึ่งระเบิดนั้นจะทำให้เกิดระเบิดได้ อีกทั้งเมื่อตรวจสอบลายนิ้วมือก็พบว่าตรงกับชนิดวัตถุระเบิดในพื้นที่เคยเกิดเหตุที่หน้ากองสลากฯ และโรงละครแห่งชาติ ซึ่งหากจำเลยไม่ได้กระทำเองหรือก่อเหตุดังกล่าวก็ยากที่พนักงานสอบสวนจะให้รายละเอียดได้ รายละเอียดนั้นก็เกี่ยวกับครอบครัวจำเลย รวมทั้งแรงจูงใจการก่อเหตุ และวิธีการซึ่งมีรายละเอียดมาก โดยคำรับสารภาพนั้นก็ไม่ได้เกิดจากขู่เข็ญ ดังนั้นพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง ซึ่งการกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันจึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และทำให้เกิดระเบิดจนผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส กระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 221, 222, 224 วรรคสอง ฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตฐานทำให้เกิดระเบิดจนผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักสุด , ให้จำคุก 3 ปี ฐานประกอบวัตถุระเบิดซึ่งทำให้เกิดระเบิด , ให้จำคุก 1 ปี ฐานครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต และปรับ 1,000 บาทฐานนำวัตถุระเบิดไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จึงจำคุก 25 ปี ฐานทำให้เกิดระเบิดฯ , จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานประกอบวัตถุระเบิดฯ , จำคุก 6 เดือน ฐานครอบครองยุทธภัณฑ์ฯ รวมจำคุกทั้งสิ้น 26 ปี 12 เดือน และปรับ 500 บาทฐานนำวัตถุระเบิดไปในที่สาธารณะฯ โดยให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีหมายเลขดำ อ.2869/2560 ฐานครอบครองวัตถุระเบิดซึ่งพบในบ้านพักจำเลย ย่านบางเขนด้วย ที่ศาลอาญา พิพากษาเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา จำคุก 4 ปี ปรับ 975 บาท ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วโดยไม่มีการยื่นอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายวัฒนา ก็มีสีหน้าเรียบเฉย โดยใช้มือยกขึ้นป้องหน้าไว้ขณะเดินออกจากห้องพิจารณาคดี โดยมีญาติซึ่งเป็นหญิง 2 คน เดินตามออกมา เมื่อถามว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ นายวัฒนา จำเลยไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ได้ควบคุมตัวเพื่อเตรียมนำตัวกลับเข้าเรือนจำต่อไปอย่างไรก็ดี สำหรับ นายวัฒนา อดีตวิศวกร วัย 62 ปี ยังได้ถูกอัยการยื่นฟ้องคดีที่ทำให้เกิดระเบิดในพื้นที่ กทม.อีก 4 สำนวนต่อศาลอาญาแล้ว ซึ่งอัยการยื่นฟ้องในความผิดฐานเดียวกับคดีระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ประกอบด้วย

1.คดีหมายเลขดำ อ.2926/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 19 ก.ย.60 กรณีเมื่อวันที่ 27-30 ก.ย.50 จำเลยนำระเบิดแสวงเครื่องที่ใส่ชิ้นส่วนโลหะ แบตเตอรี่ สายไฟ ดินดำ ในขวดพลาสติกซึ่งใส่น้ำมันเบนซิน และตั้งเวลาระเบิดไว้ 30 นาที นำไปวางไว้ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร ซึ่งเป็นเหตุให้ตำรวจ 2 นาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยสูญเสียอวัยวะด้วย ขณะที่ตู้โทรศัพท์เสียหายเป็นเงิน 20,000 บาท

2.คดีหมายเลขดำ อ.3157/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 6 ต.ค.60 กรณีเมื่อวันที่ 5 พ.ค.50 จำเลยได้จัดเตรียมวัตถุระเบิดแสวงเครื่องไปป์บอมบ์ตั้งเวลา ใส่ไว้ในถุงพลาสติกแล้วนำไปวางไว้บนทางเท้าติดกับตู้โทรศัพท์สาธารณะของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริเวณปากซอยราชวิถี 24 แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต ซึ่งการระเบิดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน และทำให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะนั้นเสียหาย กระจกแตก เป็นเงิน 1,000 บาท

3.คดีหมายเลขดำ อ.3221/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2560 กรณีเมื่อวันที่ 14 -15 พ.ค.60 จำเลยได้นำระเบิดแสวงเครื่องไปป์บอมบ์ตั้งเวลาที่ประกอบขึ้นเองติดตัวไปบนรถประจำทางตามถนนพหลโยธิน เขตบางเขน แล้วจำเลยนำระเบิดนั้นไปวางไว้ใต้ต้นไม้ บนฟุตบาทหน้าโรงละครแห่งชาติ เขตพระนคร จนทำให้เกิดระเบิดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย

4.คดีหมายเลขดำ อ.3220/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 12 ต.ค.60 กรณีเมื่อวันที่ 4-5 เม.ย.60 จำเลยนำวัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบขึ้นเองซึ่งห่อด้วยกระดาษขาวม้วนกลมคล้ายห่อโรตีที่ใส่ถุงก๊อบแก๊บแล้วมัดปากถุง ออกจากบ้านพักย่านบางเขน แล้วนำขึ้นรถโดยสารประจำทางไปตามถนนราชดำเนิน แล้วนำไปวางไว้ใต้ต้นไม้ใกล้ป้ายรถเมล์ฝั่งตรงข้ามร้านข้าวต้มสกายไฮ ถ.ราชดำเนินกลาง ซึ่งตั้งเวลาทำให้เกิดระเบิดจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย

โดยคดีทั้ง 4 สำนวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพไว้ อยู่ระหว่างรอศาลสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งมูลเหตุจูงใจที่เคยรับสารภาพในชั้นสอบสวนจำเลยอ้างว่า ไม่ชอบรัฐบาลและไม่ชอบทหาร

อย่างไรก็ดี สำหรับคดีระเบิดในพื้นที่ กทม.นี้ หลังจากนายวัฒนาถูกจับกุมก็ได้มีการสอบสวนขยายผลว่าเป็นผู้ก่อเหตุในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการฟ้องถึง 7 คดี โดยขณะนี้ยังเหลืออีก 1 สำนวน ซึ่งเป็นเหตุนำวัตถุระเบิดไปวางไว้ตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์รัชโยธิน เขตจตุจักร เมื่อวันที่ 9 เม.ย.50 ที่อัยการยังไม่ได้มีคำสั่งคดี

logoline