svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ไทยรองบ๊วย!! ดัชนีเทียบผลพัฒนากับ 5 ชาติอาเซียน

23 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผลสำรวจดัชนีประสิทธิผลระหว่างประเทศ 7 ด้าน ไทยอยู่อันดับ 5 ของ 6 ประเทศอาเซียน เด่นการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ต้องเร่งพัฒนาการศึกษา สุขภาพอุบัติเหตุ

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 60- ที่โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ สุขุมวิท 20 สภาปัญญาสมาพันธ์ จัดแถลงผล "ดัชนีประสิทธิผลระหว่างประเทศ" โดยนายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัย กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำงานขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนในด้านประสิทธิพล เปรียบเทียบกับข้อมูลจริงของการสำรวจข้อมูลต่างๆและนำมาวิเคราะห์ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของการพัฒนาประเทศของไทยกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน

โดยกำหนดโครงสร้างดัชนีในการวิเคราะห์ใน 7 ด้าน 16 หมวด และ 41 ตัวชี้วัด ดังนี้ 1.เศรษฐกิจ ได้แก่ การเติบโต,เสถียรภาพ,ความยากจน/เท่าเทียม 2.สิ่งแวดล้อม ได้แก่ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 3.การศึกษา ได้แก่ การเข้าถึง,คุณภาพ 4.สุขภาพ ได้แก่ ร่างกายและจิตใจ 5.ความปลอดภัย ได้แก่ อุบัติเหตุและอาชญากรรม 6.ความมั่นคง ได้แก่ ภายในและภายนอก และ7.การดำเนินงานของภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน



นายทวีชัย กล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษาพบว่า ประสิทธิพลการพัฒนาโดยรวมมาเลเซีย มีคะแนนอยู่ในอันดับ 1 ถึง 42.1% รองลงมาฟิลิปปินส์ 38.6% สิงคโปร์ 37.9% อินโดนีเซีย 34% ไทย 27.2% และบรูไน 16.6% โดยพบว่ามาเลเซียนั้นมีการพัฒนาปรับปรุงในด้านการศึกษาและสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทย ยังมีปัญหาในด้านการศึกษาการขาดโอกาส และความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นเดียวกับเรื่องของความปลอดภัย อุบัติเหตุการตายบนท้องถนนก็ อย่างไรก็ตาม เมื่อดูประสิทธิผลการพัฒนาด้านเศรษฐกิจก็พบว่า ไทยทำได้ดีกว่าประเทศอื่น ทั้งการภาพการเจริญเติบโต การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

ไทยรองบ๊วย!!ดัชนีเทียบผลพัฒนากับ 5 ชาติอาเซียน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ และนายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์

ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ใน 3 ประเด็นได้แก่1.ไทยควรให้ความสำคัญกับการปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะเป็นด้านที่มีประสิทธิผลต่ำสุด มีอัตราการตายสูงในอาเซียน และยังมีอัตราเพิ่มสูง ซึ่งหากเป็นในแนวโน้มปัจจุบัน จะส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ความยากลำบากในการดำเนินชีวิต และส่งผลต่อเศรษฐกิจผ่านช่องทางผลิตภาพแรงงานลดลง 2.ควรมียุทธศาสตร์ในการยกระดับคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาที่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะการแก้ปัญหาในกลุ่มนักเรียนที่ขาดโอกาส การลดความเหลื่อมล้ำ

3.ดำเนินการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสีย เนื่องจากพบว่าไทยมีอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงสุดในอาเซียน สูงกว่าประเทศที่เป็นรอง คือเวียดนามถึง 32% และสูงกว่าสิงคโปร์ ที่มีอัตราตายต่ำสุดในอาเซียนถึง 8.6 เท่า ขณะที่อัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่ที่ 31.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน หรือเฉลี่ยทุกๆ 24 นาทีจะมีคนตาย 1 คน


"ดัชนีอาจไม่บอกสาเหตุที่เป็นภาพใหญ่ได้ชัด แต่จะเป็นตัวกระตุ้นสามารถนำไปสู่การวางแผนพัฒนาได้ว่าเรื่องใดที่ยังไม่สมดุล เรื่องใดเป็นจุดอ่อน โดยเปรียบเทียบเรียนรู้จากต่างประเทศ ซึ่งจากผลสำรวจไทยยังมีจุดอ่อนเรื่องของสุขภาพ การศึกษา อุบัติเหตุ เป็นปัญหาเชิงสังคมในเรื่องของประสิทธิผลของประเทศ ดังนั้น หวังว่าข้อมูลนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดการกำหนดเป้าหมายร่วมกันของทุกภาคส่วน ได้รู้ทิศทางและน้ำหนักที่ให้แต่ละเป้าหมาย จัดลำดับความสำคัญการพัฒนาทรัพยากร ว่าควรมุ่งไปในด้านใดก่อนเพื่อให้ประเทศก้าวหน้าอย่างสมดุล"นายทวีชัย กล่าว

ด้าน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสภาปัญญาสมาพันธ์ กล่าวว่า เชื่อว่าผลการสำรวจประสิทธิผลการพัฒนาดัชนีชี้วัดนี้ จะเป็นประโยชน์ที่แต่ละองค์กร หน่วยงานนำไปใช้ในการวางแผนเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นนามธรรม มีเหตุผลรองรับไปสู่การทำงานที่เป็นรูปธรรมต่อไปได้

logoline