svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คิดอย่างไร? ถ้าคนบางบาล ต้องรับน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพไปตลอดชีวิต

19 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พื้นที่รับน้ำทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นด่านสุดท้ายในการป้องกันน้ำท่วมเขตเมือง และ กรุงเทพมหานคร ก่อนระบายออกไปฝั่งตะวันตก ทางแม่น้ำท่าจีน ออกทะเล ดังนั้น คนบางบาลจึงต้องกลาย "ผู้เสียสละ" เป็นพื้นที่รับน้ำ เพื่อป้องกันเมือง ไปตลอดชีวิต

ผมลงพื้นที่ ดู สถานการณ์น้ำท่วม อ.บางบาล เมื่อวันที่ 8 พฤจิกายน 2560 น้ำค่อยๆลด แต่พื้นที่ริมตลิ่งยังท่วมสูง 1 เมตร ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบบอกว่า ต้องจมอยู่กับน้ำเป็น 5 เดือน ไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ

คิดอย่างไร? ถ้าคนบางบาล ต้องรับน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพไปตลอดชีวิต



ผมกลับมาที่นี่ หลังรู้ข่าวว่ากรมชลประทาน เริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พบว่าวันนี้น้ำลดไป 50 เซนติเมตร และกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ น้ำแห้สนิท ก็น่าราวกลางเดือน ธันวาคม ชาวบ้านตำบลบางชะนี บอกว่าตลอดระยะเวลาห้าเดือนที่จมอยู่กับน้ำท่วมสูง แทบไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือรวมถึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับค่าชดเชยหรือไม่ ขณะที่ตอนนี้ ต้องอาศัยเงินจากเบี้ยผู้สูงอายุไปก่อน ส่วนความเสียหายจากน้ำท่วมเช่นสังกะสีผุฝาบ้านพังยังไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาซ่อมแซม เพราะชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย

ตลอดทางของถนนทางหลวงชนบทสาย 4038 บางบาล-ป่าโมก อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เพิ่งเสริมความสูงมาไม่กี่ปีมานี้ กลายเป็นที่ตั้งของเต็นท์ ที่ชาวบ้านแต่ละชุมชนใช้เป็นจุดจอดมอเตอร์ไซค์ ขายของชำ ขายอาหาร วางสุ่มไก่

เราหยุดพูดคุยกับชาวบ้านตำบลไทรน้อย พวกเขาบอกว่าล่าสุด กำนันและผู้ใหญ่บ้านแจ้งให้ลูกบ้านถ่ายภาพบ้านที่ถูกน้ำท่วมรวบรวมส่งไปยังเทศบาลเพื่อที่จะพิจารณาให้ค่าชดเชยในภายหลังแต่ได้เท่าไหร่นั้นยังไม่ทราบ

ล่าสุดจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ นายกอร์ปศักดิ์ ภูตระกูลรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีบอกว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือพื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดครัวเรือนละ 3000 บาท เอาเฉพาะที่ โครงการปรับเปลี่ยนระบบผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่มรวมถึงทุ่งบางบาลด้วย เบื้องต้น จะใช้วงเงินในการช่วยเหลือ 127,000,000 บาทมีเกษตรกรที่รับความช่วยเหลือ 68,000 ราย

ตามปกติแล้วพื้นที่อำเภอบางบาล ซึ่งติดแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีแต่ปีนี้ท่วมผิดปกติ ผิดธรรมชาติเพราะท่วมแล้วก็ลงแล้วก็ท่วมซ้ำ ถึงห้ารอบซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่อั้นไว้ในทุ่งแห่งนี้ ชาวบ้านที่นี่บอกว่ายังมีพื้นที่อื่น เหลือมากพอที่จะกระจายไปทั่วถึง ไม่มาอั้นอยู่ที่ทุ่งบางบาล

ในยุครัฐบาลคสช. เมื่อพูดถึงทุ่งบางบาล ถูกเรียกว่าเป็นพื้นที่รับน้ำบ้าง หรือไม่ก็เรียกว่าเป็นพื้นที่แก้มลิงบ้างโดยที่ชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นอะไรกันแน่ แล้วต้องเป็นผู้เสียสละแบบนี้ไปตลอดชีวิตหรือไม่

คำขอบคุณจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ที่มีให้กับชาวบางบาล ซึ่งต้องยอมจำนน รับสภาพ อยู่ในพื้นที่รับน้ำเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่ต้องการ มากไปกว่าความช่วยเหลือที่เป็นธรรม ...แต่ถ้าเลือกได้ "ค่าชดเชย" ต่างๆก็คงไม่คุ้มกับการที่ต้อง "แช่อยู่ในน้ำนานถึงห้าเดือน"

มาจนถึงนาทีนี้ชาวบางบาล เริ่มตั้งคำถามกับสถานะ "ผู้เสียสละ" ว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่จะต้องเป็น "ผู้เสียสละ" แบบนี้ไปตลอดชีวิต



ต่อไปนี้ คือข่าวประชาพันธ์ ของกรมชลประทาน ที่ออกมาเมื่อ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 "กรมชลฯ ชี้แจงการรับน้ำเข้าทุ่งบางบาล ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง"
กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าว "นำน้ำเข้าทุ่งบางบาลไม่ถามชาวบ้านสักคำว่ายินดีหรือไม่ และการใช้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะในการจัดการระบายน้ำเข้าทุ่ง ทำให้น้ำท่วมที่นาและบ้านเรือนรวม 8 ครั้ง" นั้น

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้นว่า กรมชลประทาน มีแนวทางบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฤดูฝนปี 2560 ตามนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดให้มีการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร็วขึ้นกว่าปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมา ก่อนที่จะใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นทุ่งรับน้ำนอง โดยได้รับความยินยอมจากประชานชนในพื้นที่

สำหรับในกรณีของพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางบาล ที่มีพื้นที่ประมาณ 27,450 ไร่ นั้น ได้มีการบริหารจัดการน้ำตามนโยบาย และผลจากการดำเนินงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในการปรับเปลี่ยนเวลาการเพาะปลูกข้าวตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2560 ทำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จประมาณต้นเดือนกันยายน และได้เริ่มผันน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ในวันที่ 25 กันยายน 2560 โดยทุ่งบางบาลได้เริ่มผันน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2560 ในระดับน้ำลึกเฉลี่ยไม่เกิน 2 เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางสัญจรสายหลัก(สายผักไห่-บางบาล 3412) และบ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่ในทุ่ง ต่อมาในวันที่ 19 ต.ค. 60 ระดับน้ำในทุ่งกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ลงมาอีก กรมชลประทานได้ประสานกับฝ่ายปกครอง เพื่อทำการปิดอาคารท่อลอดคันกั้นน้ำรอบทุ่งทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 60 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวระดับน้ำในคลองโผงเผง คลองบางบาล และแม่น้ำน้อย ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำเปิดบานประตูน้ำที่ได้ปิดไว้ ด้วยเข้าใจว่าจะทำให้ระดับน้ำด้านนอกคันกั้นน้ำลดลง ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าทุ่งมากกว่าที่กำหนด ทำให้น้ำไหลล้นข้ามเส้นทางสัญจรและบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ในทุ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนอกคันกั้นน้ำ เพื่อขอให้ปรับลดบานประตูน้ำในจุดที่ระดับน้ำด้านนอกคันสูงกว่าในทุ่ง เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าไปอีก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีความเข้าใจที่ดีขึ้น ได้ให้ความร่วมมือในการปิดบานประตูน้ำ ส่วนจุดใดที่ระดับน้ำในทุ่งสูงกว่าด้านนอกคัน ได้ทำการเปิดระบายน้ำออก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่อยู่ในทุ่ง นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้กำหนดแผนการสูบน้ำออกจากทุ่งให้ทันก่อนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งปี 2560/61 ด้วย ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติประมาณกลางเดือนธันวาคมเป็นต้นไป

คิดอย่างไร? ถ้าคนบางบาล ต้องรับน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพไปตลอดชีวิต


ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 พื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 13 ทุ่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 1,821 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทาน ได้วางแผนทยอยระบายน้ำออกจากทุ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ไปจนถึงต้นเดือนมกราคม 2561 โดยเริ่มจากทุ่งบางระกำ(ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน) เป็นลำดับแรก เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้ทันเวลาตามแผนที่วางไว้ และเป็นไปตามข้อตกลงที่ได้สร้างการรับรู้กับราษฎรในพื้นที่ของแต่ละทุ่งด้วย
สำหรับการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน นั้น ขอเรียนชี้แจงว่า ในการบริหารจัดการน้ำในทุ่งบางบาล นั้น ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ที่มีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุทกศาสตร์(กองทัพเรือ) สำนักการระบายน้ำ(กรุงเทพมหานคร) กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมโยธาธิการและผังเมือง และ Gisda เป็นต้น ที่ได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์น้ำ และวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาวะที่ฝนและน้ำท่าที่เกิดขึ้น ในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม
**************************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะกรมชลประทาน14 พฤศจิกายน 2560

logoline