svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ลุ้น! วันนี้ ศาลฎีกาตัดสิน "คดีครูจอมทรัพย์"

16 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถึงวันที่ทุกคนรอคอย..วันนี้ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา"คดีครูจอมทรัพย์" ขอรื้อฟื้นคดีที่เธอเคยถูกจำคุกในคดีขับรถประมาทชนคนตาย จะได้รู้กันเสียทีว่าเธอเป็น "แพะ" หรือไม่

หลังจาก ระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนครพนมได้ทำการสืบพยานบุคคล ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่มีคำสั่งรับคำร้องขอรื้อฟื้นคดีของนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตครูโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สกลนคร อายุ 54 ปี ขึ้นมาพิจารณาใหม่แล้ว

ล่าสุดช่วงบ่ายวันนี้ (17 พ.ย.) เวลา 13.30 น.ศาลจังหวัดนครพนม ได้นัด "ครูจอมทรัพย์" ที่ต้องโทษจำคุก 3 ปี 2 เดือนในคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควรฯ ซึ่งพ้นโทษแล้วหลังจากได้รับอภัยโทษเมื่อปี 2558 หลังจากถูกจำคุกมานาน 1 ปี 6 เดือน ผู้ยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดี และอัยการซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องในคดีเดิมดังกล่าว มาร่วมฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในการพิจารณาพยานหลักฐานที่นำสืบตามคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาใหม่ว่า "จะยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดีว่ากรณีเป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาเดิมที่ได้วินิจฉัยแล้ว หรือจะยกพิพากษาเดิมและพิพากษาว่าบุคคลนั้นไม่ได้กระทำความผิด" ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณามใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 13

โดยคดีของ "ครูจอมทรัพย์" วัย 54 ปี เริ่มต้นเมื่อถูกกล่าวหาว่า ขับรถกระบะอีซูซุ สีเขียว ทะเบียน บค 56 สกลนคร ชน นายเหลือ พ่อบำรุง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 มี.ค.48 ในพื้นที่ สภ.นาโดน อ.เรณูนคร จ.นครพนม กระทั่งมีการดำเนินคดี จนกระทั่ง 24 ก.ย.56 ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 3 ปี 2 เดือน

ซึ่งระหว่างนางจอมทรัพย์ ถูกจองจำตามคำพิพากษาปรากฏว่า เมื่อกลางปี 2557 ได้มีนายสับ วาปี ชาว จ.มุกดาหาร ได้รับสารภาพว่า เป็นผู้ขับรถอีซูซุ สีเขียว รุ่นเคบีแซด ทะเบียน บค 56 มุกดาหาร ชนนายเหลือ พ่อบำรุง ตาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย.58 "ครูจอมทรัพย์" พ้นโทษออกมา หลังจากนั้นจึงได้เข้าร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ ยื่นคำร้องต่อศาลจังนครพนมที่เป็นศาลชั้นต้นซึ่งเคยพิพากษาคดีเดิมขอรื้อฟื้นคดีดังกล่าว โดยปี 2559 ศาลก็ได้ไต่สวนคำร้องเบื้องต้นแล้วเห็นว่ามีมูลพอที่ยื่นได้ตามหลักเกณฑ์แล้วจึงส่งคำร้องพร้อมสำนวนและความเห็นนั้นเสนอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ทำคำสั่งว่าจะรับคำร้องของ "ครูจอมทรัพย์" ไว้พิจารณารื้อฟื้นคดีใหม่หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องและให้ศาลจังหวัดนครพนม ทำการสืบพยานที่อ้างว่าเป็นหลักฐานใหม่นั้นให้เสร็จสิ้น ซึ่งศาลจังหวัดนครพนม ก็ได้ดำเนินการสืบพยาน ตั้งแต่วันที่ 8-10 ก.พ.60 จนเสร็จสิ้น

โดยเป็นพยานของ "ครูจอมทรัพย์" ผู้ร้อง 9 ปากแต่ไม่ได้อ้างนายสับ วาปี เป็นพยานในชั้นศาล เนื่องจากฝ่ายผู้ร้องให้น้ำหนักทางนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าพยานบุคคล โดยฝ่ายผู้ร้องนำสืบเน้นในเรื่องของรถกระบะอีซูซุ สีเขียว ทะเบียน บค 56 สกลนคร ของครูจอมทรัพย์ไม่ได้มีการเฉี่ยวชนเกิดอุบัติเหตุ รวมกับประเด็นที่นายสับ วาปี ออกมารับสารภาพว่าเป็นคนชนนายเหลือ

ส่วนฝ่ายอัยการซึ่งยื่นคัดค้านการรื้อฟื้นคดี ได้นำพยานซึ่งเป็นพยานโจทก์ในคดีเดิมและตำรวจ มาเบิกความเป็นพยานในชั้นศาล รวม 15 ปาก ที่นำสืบเน้นเรื่องของการครอบครองรถอีซูซุ ทะเบียน บค 56 มุกดาหาร ว่าไม่ได้อยู่ในการครอบครองของนายสับ วาปี ที่ออกมาอ้างว่าเป็นคนขับรถชนคนตายในคดีดังกล่าว แต่รถอยู่ในการครอบครองของบุคคลอื่นคือ นายอุบล ไชยบัน ระหว่างปี 2547 - 2551

จากนั้นศาลจังหวัดนครพนม ก็ได้รวบรวมคำสืบพยานดังกล่าวทั้งหมด เสนอไปยังศาลฎีกาตามขั้นตอนที่กำหนดในพ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ มาตรา 13(2) ที่บัญญัติ หากคดีเดิมคำพิพากษาถึงที่สุดในศาลชั้นใด ก็ให้ศาลที่สืบพยานตามคำร้องขอรื้อฟื้นใหม่ ส่งคำสืบพยานนั้นให้ศาลชั้นที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีเดิมนั้นพิจารณาและมีคำวินิจฉัย พิพากษาเรื่องการขอรื้อฟื้นคดี ซึ่งคดีเดิมของ "ครูจอมทรัพย์" คำพิพากษาได้ถึงที่สุดชั้นฎีกาดังนั้นจึงต้องส่งสำนวนและคำสืบพยานใหม่ดังกล่าวเสนอศาลฎีกา ทำคำวินิจฉัยเป็นคำพิพากษาออกมา ซึ่งจะมีคำพิพากษาในวันนี้ ( 17 พ.ย.)

ขณะที่คำพิพากษานี้ จะถือเป็นการสิ้นสุด ตามกระบวนการที่ พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาฯ กำหนดขั้นตอนไว้ โดยคดีนี้ก็ถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกาแล้ว ซึ่งหากศาลมีคำพิพากษาว่าให้ยกคำร้องโดยไม่เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเดิม ผู้ต้องโทษนั้นก็ไม่สามารถยื่นคำร้องใหม่ใดได้อีก โดยการยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นพิจารณาคดีอาญาฯ นั้นสามารถยื่นได้เพียงครั้งเดียว

สำหรับคำพิพากษานั้นออกได้ 2 แนวทาง คือ 1.ถาศาลฎีกา เห็นวา "ครูจอมทรัพย์" ซึ่งเคยได้รับโทษอาญาจำคุกในคดีเดิมไดกระทําความผิดจริง ก็จะยกคํารองขอรื้อฟื้นคดี 2.แตถาศาลฎีกา เห็นวา "ครูจอมทรัพย์" ไม่ไดกระทําความผิด ก็จะพิพากษายกคําพิพากษาเดิมและพิพากษาใหม่วา "ครูจอมทรัพย์" ไม่ไดกระทําความผิด และศาลฯยังสามารถกำหนดค่าทดแทนสิทธิที่เสียไปจากการถูกจำคุกได้ตามคำขอของผู้ร้องและตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เช่น การรับค่าทดแทนที่ถูกกักขังตามอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการกักขังแทนค่าปรับในประมวลกฎหมายอาญา , การคืนทรัพย์กรณีที่เคยถูกสั่งปรับ , การคืนทรัพย์สินที่ถูกสั่งริบ เป็นต้น

สำหรับการรื้อฟื้นคดีของ"ครูจอมทรัพย์" ที่ผ่านมาใช่ว่า จะราบรื่นเมื่อนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ออกมาแฉว่า "ครูจอมทรัพย์" ไม่ใช่ "แพะ" ในคดีที่เธอถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกในข้อหาขับรถประมาทชนคนตาย และมี"ขบวนการรับจ้างติดคุก" แทน "ครูจอมทรัพย์"และนายอัจฉริยะ ยังขอเดิมพันว่าหากสุดท้ายมีการพิสูจน์ออกมาว่านางจอมทรัพย์ เป็น"แพะ"จริง ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยินดีให้"ครูจอมทรัพย์" ฟ้องทั้งอาญาและแพ่งได้ทันที และยินดีที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องนี้ ด้วยการยุติการทำหน้าที่ของชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และจะไม่มีชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมอีกต่อไป แต่ถ้าหากครูจอมทรัพย์ เป็น"แกะ" ทางชมรมฯ ต้องการเพียงแค่ให้"ขบวนการรับจ้างติดคุก" ถูกนำตัวมาลงโทษตามกฎหมายเท่านั้น

ขั้นตอนการรื้อฟื้นคดี (ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ)

1.จำเลยที่ต้องรับโทษ หรือผู้แทน ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่เคยพิจารณาคดีนั้น เพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่

2.ศาลชั้นต้นจะไต่สวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องก่อนว่า คำร้องมีมูลความจริงพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ เมื่อไต่สวนเสร็จแล้วก็จะส่งเรื่องต่อไปยังศาลอุทธรณ์

3.ศาลอุทธรณ์จะเป็นผู้พิจารณาและออกคำสั่งว่าจะให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่คำสั่งของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด ไม่อาจยื่นฎีกาคำสั่งต่อศาลฎีกาได้อีก

4.ถ้าศาลอุทธรณ์สั่งให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ส่งคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นอีกครั้งเพื่อทำหน้าที่พิจารณาคดีใหม่ และให้เรียกโจทก์ในคดีเดิมเข้ามาในคดีใหม่ด้วย

5.ในการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นใหม่ ให้ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบก่อนเพื่อพิสูจน์ว่ามีพยานเท็จหรือหลักฐานเท็จในคดีเดิม หรือมีหลักฐานใหม่อย่างไรที่แสดงได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด แล้วจึงให้โจทก์ในคดีเดิมมีสิทธินำพยานเข้าสืบ

6.เมื่อพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นใหม่เสร็จแล้ว และศาลจะต้องพิพากษาใหม่ ถ้าคดีเดิมสิ้นสุดที่ศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้ทำคำพิพากษาได้เลย ถ้าคดีเดิมสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นส่งคดีไปให้ศาลนั้นๆ ทำคำพิพากษาใหม่

7.ถาศาลฯเห็นวา ผู้ร้องซึ่งเคยได้รับโทษอาญาในคดีเดิมไดกระทําความผิดจริง ก็จะยกคํารองขอรื้อฟื้นคดี แต่ถ้าศาลฯเห็นว่าผู้ร้องขอรื้อฟื้นคดีไม่ไดกระทําความผิด ก็จะพิพากษายกคําพิพากษาเดิมและพิพากษาใหม่วา ผู้ร้องไม่ไดกระทําความผิด และศาลฯยังสามารถกำหนดค่าทดแทนสิทธิที่เสียไปจากการถูกจำคุกได้ตามคำขอของผู้ร้อง

8.หากคดีที่รื้อฟื้นขึ้นไม่ได้พิพากษาโดยศาลฎีกา คู่ความที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษายังมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลที่สูงกว่าได้อีก 1 ครั้ง ( สำหรับ"คดีครูจอมทรัพย์" ที่พิพากษาในคดีรื้อฟื้นวันนี้ เป็นคำพิพากษาของศาลฎีกา จึงเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีก)

9.คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ยื่นได้ครั้งเดียว

logoline