svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

"ตูน" สร้างกระแส ปลุกพลังเพื่อสุขภาพ ชวนออกมา "วิ่ง" กันเถอะ

10 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้ วิ่งหรือออกกำลังกายแบบอื่นๆ เป็นประจำ ช่วยให้สุขภาพดี ย้ำ วอร์มอัพ-คูลดาวน์ทุกครั้ง ช่วยลดความเสี่ยงอาการบาดเจ็บ

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกระแสของโครงการ ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เบตง แม่สาย 2,191 กิโลเมตร นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจการออกกำลังกายโดยเฉพาะการวิ่งมากขึ้น


ซึ่งประชาชนที่อยากออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ควรมีการเตรียมพร้อม โดยประเมินร่างกายของตนและให้วิ่งเท่าที่ร่างกายไหว เริ่มจากน้อย ๆ ไปหามาก เริ่มจากช้าๆ ไปหาเร็ว เริ่มจากเบาๆ ไปหาหนัก


ซึ่งก่อนเริ่มวิ่ง ต้องอบอุ่นร่างกาย ยืดเหยียดขา แกว่งมือ แกว่งแขน เพื่อให้เลือดสูบฉีด ไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ของร่างกาย


อธิบดีกรมอนามัย ชี้ว่า อย่าเริ่มวิ่งหรือออกกำลังกายทันทีโดยไม่อบอุ่นร่างกาย และเมื่อเริ่มออกตัววิ่ง ควรออกตัวอย่างช้าๆ เบาๆ ในช่วง 15 - 20 นาทีแรก ถ้าเหนื่อยให้ผ่อนความเร็วและความหนักลง เมื่ออาการเหนื่อยลดลงจึงค่อยเพิ่มความเร็วใหม่


สำหรับผู้ที่เริ่มต้นออกกำลังกายด้วยการวิ่ง อาจจะวิ่งช้าสลับกับเร็วบ้าง หรือทำช้าๆ โดยไม่หยุดพัก 5 นาที แล้วค่อยเพิ่มเป็น 10 นาที


นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า ก่อนหยุดวิ่งให้ชะลอความเร็ว ความหนักลงทีละน้อย เพื่อให้หัวใจเต้นช้าลง ทีละน้อย อย่าหยุดกะทันหันเนื่องจากหัวใจจะปรับตัวไม่ทัน อาจเป็นอันตรายได้ จากนั้นจึงคลายอุ่นหรือคูลดาวน์ (Cool down) เพื่อปรับสภาพการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายให้กลับสู่สภาวะปกติ

"ตูน" สร้างกระแส
ปลุกพลังเพื่อสุขภาพ 
ชวนออกมา "วิ่ง" กันเถอะ




แต่หากมีอาการรู้สึกเหนื่อยผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ การหายใจขัดหรือหายใจไม่ทั่ว เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หน้ามืด ให้หยุดการวิ่งหรือออกกำลังกายทันที และหากไม่สบาย มีอาการไข้ หรือท้องเสีย มีอาการบาดเจ็บ ให้หยุดพักให้อาการทุเลาลงก่อนแล้วค่อยเริ่มใหม่


สำหรับ ชุดเครื่องแต่งกาย ควรเบา สวมใส่สบาย ระบายความร้อนได้ดี สวมรองเท้าที่เหมาะกับการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ


"ทั้งนี้ การออกกำลังกายทุกแบบหรือแม้แต่การขยับ เคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานบ้าน การขึ้นลงบันได การปั่นจักรยานไปทำงาน จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจและสมอง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นการเจ็บป่วยน้อยลง ต้นทุนในการรักษาพยาบาลก็จะลดลง ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ"


อธิบดีกรมอนามัย ย้ำว่า การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน จะต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาทีควรหลีกเลี่ยงภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ไม่หักโหมมากจนเกินไป โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

logoline