svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

รวบแก๊ง "อาฉี" คอลเซ็นเตอร์ตุ๋น สูญกว่า 100 ล้าน

12 ตุลาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นครราชสีมา - โคราชรวบแก๊ง "อาฉี" ชาวไต้หวัน คอลเซ็นเตอร์โทรป่วนสร้างเรื่องกล่าวหาพัวพันยาเสพติด ตุ๋นคนไทยให้โอนเงินเข้าบัญชี มูลค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 3 (บก.สส.ภ.3) นครราชสีมา เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 12 ตุลาคม พลตำรวจโทดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 นครราชสีมา พร้อมพลตำรวจตรีสุภากร คำสิงห์นอก ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 3 (ผบก.บก.สส.ภ.3) ร่วมขยายผลการจับกุม Mr.Chi Min หรืออาฉี สัญชาติไต้หวัน อายุ 45 ปี เลขพาสสปอร์ต 311693888 ตามหมายจับศาลจังหวัดสีคิ้ว ที่ จ.172/2560 ลงวันที่ 29 กันยายน 2560 ในข้อหาร่วมกับพวกที่หลบหนี โดยร่วมกันบัตรอิเลกทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิ์ใช้เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้แทนการชำระด้วยเงินสดหรือใช้เบิกถอนเงินสดของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
พร้อมให้ตรวจยึดทรัพย์สินที่มีใช้หรือได้มาจากการกระทำความผิดจำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1.ธนบัตรรัฐบาลไทย จำนวน 270,000 บาท 2.สมุดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ 5 เล่ม บัตรอิเลกทรอนิกส์ 2 ใบ และโทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ที่บริเวณหน้าร้านสมจิตรเนื้อย่างเกาหลี ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งผู้ต้องหารายนี้ยังมีหมายจับศาลจังหวัดพิษณุโลก ลงวันที่ 23 กันยายน 2560 ข้อหามีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ 2556 มาตรา 5 และ 25 และชาวไต้หวัน 3 คน ฐานเป็นผู้ร่วมขบวนการคือนาย Hou Cheng Shon อายุ 30 ปี หนังสือเดินทางเลขที่ 310245444, นาย Hung Wei Che อายุ 22 ปี หนังสือเดินทางเลขที่ 311880706 และนาย Wu Chung Che หนังสือเดินทางเลขที่ 314571752 พร้อมของกลางเงินสด 189,000 บาท บัตรเอทีเอ็มธนาคารไทยพาณิชย์ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 ชุด พล.ต.ต สุภากร ผบก.สส.ภาค 3 เปิดเผยว่า Mr.Chi Min หรืออาฉี ฯ ได้เดินทางเข้ามาฝังตัวอยู่ในประเทศไทย โดยเช่าบ้านพักอาศัย นานกว่า 10 ปี ทำหน้าที่คอยดูแลประสานงานชาวไต้หวัน รวมทั้งรวบรวมเงินจากเครือข่ายจัดสรรผลประโยชน์ให้กับศูนย์ใหญ่ที่ตั้งอยู่ในประเทศไต้หวันเป็นประจำ ส่วนชาวไต้หวัน 3 คน อ้างเศรษฐกิจในประเทศไต้หวันไม่ดี นายจ้างเลิกจ้างทำให้ขาดรายได้และต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว จึงต้องเข้าร่วมกับขบวนการนี้ โดยถูกชักชวนว่าได้ท่องเที่ยวประเทศ พร้อมกับทำหน้าที่รับบัตรเอทีเอ็มจากหัวหน้าเครือข่าย แล้วตระเวน กดเงินตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำเงินออกมา ซึ่งเพิ่งเข้าเริ่มงานเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา จนกระทั่งถูกจับกุมตัว พล.ต.ต สุภากร กล่าวต่อว่า พฤติกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้แบ่งหน้าที่การทำงาน ชุดแรกโทรศัพท์ทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ประจำอยู่จังหวัดต่างๆในประเทศไทย สร้างความน่าเชื่อถือใช้หมายเลขโทรศัพท์ต้นทางเป็นเบอร์องค์กรดังกล่าว แล้วบอกให้เหยื่อโทรศัพท์ติดต่อกลับ เพื่อให้หลงเชื่อ ชุดที่สองรับลูกโดยแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของดีเอสไอ หรือป้องกันปราบปรามยาเสพติด สร้างละครหลอกตรวจสอบในพัสดุด้านในมีสิ่งของผิดกฎหมาย เช่นยาเสพติด สมุดบัญชีหลายเล่ม รวมทั้งมียอดเงินโอนเข้าออกผิดปกติ ซึ่งเข้าข่ายฟอกเงิน เมื่อเหยื่อหลงเชื่อและมีอาการหวาดกลัวก็ออกกลอุบายจะช่วยเหลือให้พ้นผิด ให้เหยื่อแสดงความบริสุทธิ์โอนเงินมาตรวจสอบถ้าไม่มีอะไรจะโอนเงินให้คืน จากการตรวจสอบพบมีเหยื่อถูกหลอกจำนวนมาก ให้โอนเงินเข้าบัญชี ฯ ของกลุ่มคนร้าย ประเมินมูลค่าความเสียหายนับ 100 ล้านบาท และยังมีประชาชนบางส่วนถูกล่อลวงหรือจ้างวานให้เปิดบัญชีธนาคาร เพื่อให้กลุ่มคนร้าย ขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง มิให้ตกเป็นเหยื่อโดยตั้งสติให้ดี อย่าทำตามที่กลุ่มคนร้ายล่อลวงขอให้ปรึกษาผู้ที่มีความรู้และเชื่อใจได้หรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เบื้องต้นได้แจ้งข้อหา ร่วมกับพวกที่หลบหนีร่วมกันใช้ และมีไว้ใช้ เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเลคทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ

logoline