svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รวมเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ "ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว

09 ตุลาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มีหลายเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับ"ยิ่งลักษณ์" กับโครงการรับจำนำข้าว "คมชัดลึกออนไลน์" รวบรวมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ไว้

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ให้จำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี โดยระบุว่ามีความผิดฐานปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรับจำนำข้าว

แม้ว่าถึงตอนนี้คดีน่าจะจบลงแล้ว เนื่องจาก "ยิ่งลักษณ์"หลบหนีคดี ในขณะที่กฎหมายลูกฉบับใหม่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดให้จำเลยต้องเดินมายื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเอง แต่ก็มีหลายเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับคดีนี้"คมชัดลึกออนไลน์"รวบรวมไว้

เริ่มโครงการรับจำนำข้าวเมื่อไหร่

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ใช้นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2554/2555 โดยยกระดับราคารับจำนำข้าวเปลือก เป็นตันละ 15,000 บาท ซึ่งได้ประกาศเป็นนโยบายตอนหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และประกาศเริ่มโครงการรับจำนำผลผลิตข้าวจากชาวนาหมดทุกเมล็ดในวันที่ 7 ต.ค. 2554

รวมเหตุการณ์
ประวัติศาสตร์
"ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว

มีใครบ้างร้องให้ตรวจสอบเรื่องทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

ตุลาคม-พฤศจิกายน 55 มีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. 3 ครั้ง ให้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว ได้แก่ พรรคการเมืองใหม่,องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และน.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โดยโฟกัสไปที่การทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรับจำนำข้าว

รวมเหตุการณ์
ประวัติศาสตร์
"ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว

อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล "โครงการรับจำนำข้าว"

25-27 พ.ย. 55 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นำ ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประเด็นทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

ยื่นตรวจสอบซ้ำโครงการรับจำนำข้าว

5 มิ.ย. 56 น.พ. วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการระบายข้าวค้างเก่าในโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/2555 เป้าหมายในการยื่นเน้นไปที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติและ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ

รวมเหตุการณ์
ประวัติศาสตร์
"ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว

ป.ป.ช.เริ่มไต่สวนเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว

28 ม.ค.57 ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ไต่สวน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว

ใช้เวลาไต่สวนนานเท่าไหร่

ป.ป.ช. ใช้เวลาไต่สวนข้อเท็จจริง 21 วัน โดยในวันที่18 ก.พ.2557 ป.ป.ช. มีมติให้มีหนังสือเรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 27 ก.พ.57

ป.ป.ช. มีมติส่งเรื่องให้ถอนถอน "ยิ่งลักษณ์ "

8 พ.ค.57 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิด น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในโครงการรับจำนำข้าว ส่งเรื่องให้ สนช. ดำเนินการถอดถอน

รวมเหตุการณ์
ประวัติศาสตร์
"ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดอาญา "ยิ่งลักษณ์"

17 ก.ค. 57 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในโครงการรับจำนำข้าว ในส่วนคดีอาญา

อัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดีอาญา" ยิ่งลักษณ์" และ สนช.มีมติถอดถอนวันเดียวกัน

23 ม.ค. 58 ช่วงเช้า อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในข้อหา เป็นเจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาและมาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช. ต่อมาช่วงเที่ยง สนช.มีมติถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ด้วยคะแนน 190 ต่อ 18 เสียง ส่งผลตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาล

19 ก.พ.58 อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 123/1

รวมเหตุการณ์
ประวัติศาสตร์
"ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว

ศาลฎีกาฯ สั่งให้ "ยิ่งลักษณ์" มาศาลทุกนัดและให้ประกันตัว

19 พ.ค. 58 ศาลฎีกาฯนัดพิจารณาคดีครั้งแรก และสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาศาลทุกครั้งในการไต่สวนพยานทั้งฝ่ายโจทก์-จำเลย และให้ประกันตัวด้วยเงินสด 30 ล้านบาท

อัยการยื่นเพิ่มเอกสารเกี่ยวกับการระบายข้าว

ก่อนการไต่สวนพยานจะเริ่มขึ้น อัยการได้ยื่นเพิ่มเติมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวเกือบ 7 หมื่นแผ่นต่อศาลฎีกาฯ จากเดิมที่เอกสารในชั้นกล่าวหาของ ป.ป.ช. มีเพียง 329 แผ่น

รวมเหตุการณ์
ประวัติศาสตร์
"ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว

ไต่สวนพยานโจทก์

15 ม.ค. 59 เริ่มไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก

ไต่สวนพยานจำเลยนัดแรก "ยิ่งลักษณ์" แถลงด้วยวาจาเปิดคดี

5 ส.ค.59 " ยิ่งลักษณ์" ยืนแถลงด้วยวาจาในห้องพิจารณาคดีเพื่อเปิดคดีในส่วนของจำเลย ใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง

ไต่สวนพยานนัดสุดท้าย

21 ก.ค. 60 ไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย

รวมพยานโจทก์-พยานจำเลย

ไต่สวนพยานโจทก์ 10 นัด 15 ปาก ไต่สวนพยานจำเลย 16 นัด 30 ปาก

รวมเหตุการณ์
ประวัติศาสตร์
"ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว

"ยิ่งลักษณ์" แถลงปิดคดีด้วยวาจา

1 ส.ค. 60 น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีด้วยวาจา คำแถลงมีความยาว 19 หน้า 6 ประเด็น

นัดพิพากษา "ยิ่งลักษณ์"ไม่มาศาล

ศาลฎีกาฯนัดฟังคำพิพากษา 25 ส.ค.60 แต่ "ยิ่งลักษณ์" หนีคดีไม่มาศาล ศาลฎีกาฯออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ก.ย. 60

ศาลจำคุก 5 ปี ปล่อยให้มีการทุจริตในการระบายข้าวจีทูจี

27 ก.ย.60 ศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย เนื่องจากไม่ได้ตัว "ยิ่งลักษณ์" มาศาล โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า "ยิ่งลักษณ์" ไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้มีการทุจริตในการระบายข้ายจีทูจี เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตลงโทษบทหนักสุดตามพ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 123/1จำคุก 5ปี และออกหมายจับแบบไม่มีอายุความ เพื่อนำตัวมาบังคับตามคำพิพากษา โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายป.ป.ช. ปี 58 ที่ไม่ให้นับอายุความหากจำเลยหนีคดีไปหลังมีคำพิพากษา

รวมเหตุการณ์
ประวัติศาสตร์
"ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว

ใช้เวลาพิจารณาคดีนาน 2 ปี 7เดือน

นับแต่วันที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯจนถึงวันที่มีคำพิพากษาใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ปี 7 เดือน

กฎหมายลูกฉบับใหม่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีอาญาของนักการเมืองมีผลบังคับใช้

29 ก.ย. 60 พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560มีผลบังคับใช้ ซึ่งในมาตรา 25 วรรคสาม ระบุ ไม่ให้นับอายุความกรณีจำเลยหนีคดีหลังมีคำพิพากษา เท่ากับตอกย้ำว่า"ยิ่งลักษณ์" หนีคดีไปนานเท่าไหร่ ก็ไม่มีวันขาดอายุความ ต้องหนีคดีตลอดชีวิต

รวมเหตุการณ์
ประวัติศาสตร์
"ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว

อุทธรณ์คดี

การอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทั้งนี้ พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 61 ระบุว่าจําเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นหากถือตามกฎหมายฉบับนี้"ยิ่งลักษณ์"จะมอบหมายให้ทนายความดำเนินการแทนในเรื่องยื่นอุทธรณ์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลฎีกาฯจะเห็นว่าจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามรัฐธรรมนูญปี 60

ในกรณี"ยิ่งลักษณ์"เดินทางมาศาลเพื่ออุทธรณ์ ศาลก็จะออกหมายขังควบคุมตัวเพราะสัญญาประกันตัวหมดลงแล้วเนื่องจากผิดสัญญาไม่มาศาลในนัดฟังคำพิพากษาครั้งแรก หากต้องการได้ประกันตัวต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่

ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตลอดชีวิต

หากคดีอาญาถึงที่สุด"ยิ่งลักษณ์" ต้องห้ามลงสมัคร ส.ส.เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.และผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี2560 มาตรา 98 (9,10)

นอกจากนี้ยังมีคดีแพ่งเรียกให้"ยิ่งลักษณ์"ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

จุดเริ่มต้นเรียกค่าเสียหาย

12 ก.พ. 58 ป.ป.ช. ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ให้เรียกค่าเสียหายจาก น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในโครงการรับจำนำข้าว

เคาะเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง

21ก.ย.59 นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ของกระทรวงการคลัง ลงนามรับรองมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่ให้เรียกค่าเสียหาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 35,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าความเสียหาย 178,586 ล้านบาท และนำเสนอต่อ รมว.คลัง

13 ต.ค.59 รมว.คลัง เซ็นคำสั่งทางปกครองให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 35,717 ล้านบาท ภายใน 30 วัน

รวมเหตุการณ์
ประวัติศาสตร์
"ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว

"ยิ่งลักษณ์"ฟ้องเพิกถอนคำสั่งเรียกค่าเสียหาย

23 พ.ย.59 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชากับพวก ต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้สั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว พร้อมไปกับยื่นคำร้องขอให้ทุเลาการบังคับคดีเป็นการชั่วคราวไว้ก่อน

ศาลปกครองยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี

10 เม.ย. 60 ศาลปกครองกลาง ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี โดยเห็นว่า ยังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองยึดหรืออายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อย่างใด

"ยิ่งลักษณ์ "ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีครั้งที่ 2

19 ก.ค.60 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีเป็นครั้งที่ 2 โดยอ้างว่าเริ่มมีการอายัดบัญชีเงินฝากในธนาคารของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งศาลปกครองกลางได้พิจารณาคำร้องแล้วได้ให้กระทรวงการคลังและกรมบังคับคดีชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องทำการยึด อายัด ทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ชี้แจงเป็นเอกสารมายังศาลปกครองกลางแล้ว ขณะนี้ศาลปกครองกลางกำลังรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อมีคำสั่งต่อไป

logoline