svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

บันได 3 ขั้น ของการออม เพื่อเกษียณตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

06 ตุลาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เกษียณอย่างพอเพียง คือ การอยู่ให้สมฐานะ เพราะความหมายของคำว่า พอเพียงไม่เจาะจงตายตัว นั่นคือ มีกิน มีอยู่ ตามแต่อัตภาพ สมควรแก่ฐานะ ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนตนเอง แต่ไม่เกินฐานะของตัวเอง"

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "เกษียณสุขเพียงพอ ออมตามพ่ออย่างยั่งยืน" โดยศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

และเป็นส่วนหนึ่งของงาน SEC Retirement Savings Symposium 2017 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อย้ำเตือนให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อวัยเกษียณ
ในระหว่างกล่าวปาฐถกาพิเศษ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ยังชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่มีผลต่อวัยเกษียณว่า เพราะปัจจุบันเรามีอายุยืนยาวขึ้นจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ขณะที่สังคมไทยเปลี่ยนไปเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และไลฟ์สไตล์ตลอดจนวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเคยรับสั่งเรื่องพอเพียงในหลายวาระ เพื่อเตือนพวกเราทุกคน เช่น เวลาที่เรามีรายได้สม่ำเสมอ และเพิ่มพูนตามหน้าที่การงานที่สูงขึ้น เราอาจไม่ห่วงสไตล์การใช้ชีวิต รายจ่ายเรื่องกิน-เที่ยวไม่ค่อยมีผลกระทบ เพราะพอสิ้นเดือนก็ได้เงินใหม่ แต่พอเกษียณแล้วตัวเลขเหล่านี้จะกลับกัน กลายเป็นรายจ่ายมาก รายได้คงที่ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงรับสั่งจึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มคิดตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ใช่เริ่มที่อายุ 60 เพื่อปูทางว่า เมื่อวันหนึ่งที่เราไม่มีรายได้เท่าเดิม เราควรยังชีพแบบใด"

ดังนั้น ก็ต้องเริ่มด้วยการออมเสียแต่เนิ่นๆ ซึ่งถ้าจะพูดถึงเงื่อนไขการออม ก็ต้องบอกว่า มีหลักง่ายๆ อยู่ 3 ประการ นั่นคือ
หนึ่ง ควรออมให้เร็ว คือ ยิ่งเริ่มต้นได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีความมั่นคงในวัยเกษียณมาก
สอง เลือกออมเท่าไหร่ คือ ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน
สาม เลือกออมแบบไหน คือ ออมโดยตนเอง และการรวมกลุ่มกันลงทุน เช่น การออมหรือลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ขณะที่ คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.ระบุว่า ถ้ามุ่งไปที่ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" จะพบข้อมูลที่น่ากังวลใจ ประการแรก คือ การออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งแม้จะมีมานานถึง 30 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันสมาชิกในระบบยังมีน้อย เพียงแค่ประมาณ 3 ล้านคน หรือ 20% ของพนักงานภาคเอกชน และมีนายจ้างเข้าระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 17,000 ราย หรือไม่ถึง 3% จากผู้ประกอบการทั้งหมดปริมาณทั้งลูกจ้างและนายจ้างก็ว่าน้อยแล้ว แต่ที่น้อยกว่า และน่าห่วงมากกว่า ก็คือ จากผลการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า การจะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขในวัยเกษียณจะต้องมีเงินเกือบ 3 ล้านบาท

แต่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกือบ 50% มีเงินก้อนสำหรับใช้หลังเกษียณไม่ถึง 1 ล้านบาท แน่นอนว่า เงินจำนวนนี้ย่อมไม่เพียงพอกับชีวิตหลังเกษียณ
"เราอยากกระตุ้นให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างเข้าใจถึงปัญหา อยากให้พวกเขาเริ่มต้นการออมและการลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการเกษียณนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรคิดตั้งแต่สมัยเริ่มต้นทำงานมากกว่าจะมาคิดเมื่อใกล้เกษียณ ซึ่งจะช้าเกินไป"

นอกจากจะพบว่า คนไทยส่วนใหญ่เริ่มช้า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญแล้ว เลขาธิการ ก.ล.ต.ยังบอกด้วยว่า คนไทยยังมีปัญหาเรื่อง "ออมน้อย" และ "ขาดความรู้เรื่องการลงทุน" ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคกับการเกษียณทั้งนั้น
"เราพบว่า การใส่เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างเฉลี่ยมีเพียง 4-5% เท่านั้น ทั้งที่สามารถใส่ได้ถึง 15% และอัตราการออมขั้นต่ำจริงๆ แล้ว รวมกันอย่างน้อยควรจะอยู่ที่ 15-20% อย่างต่อเนื่อง"

ขณะเดียวกัน การขาดความรู้เรื่องการลงทุนยังสะท้อนผ่านการเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำมาก โดยมีสัดส่วนการลงทุนสูงถึง 84-85% ขณะที่ตลาดหุ้นซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลับเลือกลงทุนเพียง 16% เท่านั้น

ทั้งหมดนี้ ดูเหมือนจะตอบเงื่อนไขที่ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ตั้งไว้เป็นประเด็นตั้งแต่ต้นว่า
ต้องออมให้เร็ว (เริ่มทันที)ออมเท่าไหร่ (15-20% อย่างต่อเนื่อง)ออมแบบไหน (เข้าระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้าง และศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อที่เราจะได้เลือกลงทุนแบบที่รับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น)
เป็นบันได 3 ขั้น 3 เงื่อนไข เพื่อที่จะพาตัวเองเดินข้ามสะพานไปสู่การเกษียณตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมีคุณภาพ

logoline