svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ผู้พิพากษาย้ำ3ตร.พา "ปู" หนีไม่ผิดคดีอาญา

24 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมชี้ 3 ตร.พา"ปู"หนีไม่ผิดคดีอาญา เหตุพาไปก่อนศาลออกหมายจับ "สุริยะใส"จี้คสช.รื้อกรรมการสอบแก๊งพาอดีตนายกฯ หนี มีชัย ย้ำรีเซต ป.ป.ช

ยังเป็นเรื่องที่ประชาชนชาวไทยให้ความสนใจสำหรับการสอบสวนเพื่อดำเนินการเอาผิดกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขับรถพา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลบหนีออกจากประเทศไทย ซึ่งเรื่องดังกล่าวแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา แต่ในด้านการดำเนินการเอาผิดกลับมีกระแสข่าวระบุออกมาว่า กลุ่มนายตำรวจทั้ง 3 คนอาจจะไม่มีความผิดทางคดีอาญาจากการกระทำดังกล่าว จึงทำให้สังคมยิ่งแคลงใจว่าเหตุใดตำรวจทั้ง 3 จึงรอดจากการกระทำผิดที่เกิดขึ้น

3 ตำรวจพา "ปู" หนีไม่ผิดอาญา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน แหล่งข่าวผู้พิพากษาจากศาลยุติธรรม กล่าวถึงข้อกฎหมายกรณีที่มีนายตำรวจขับรถช่วยเหลือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางออกนอกประเทศว่า ตามกฎหมายนั้น ผู้ใดช่วยผู้อื่น ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้ที่พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 จะเป็นความผิดต่อเมื่อศาลออกหมายจับแล้ว ซึ่งคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังจากที่จำเลยไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษา แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 189 จะต้องเป็นการกระทำหลังจากที่ศาลออกหมายจับแล้วในวันที่ 25 สิงหาคม ดังนั้นการพา น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปที่ใดก่อนวันที่ 25 สิงหาคม คือวันนัดฟังคำพิพากษาย่อมไม่มีความผิด แต่ในเมื่อวันดังกล่าวไม่มีการส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์มาฟังคำพิพากษา นายประกันจะผิดสัญญาประกันที่ทำไว้กับศาล ศาลจึงมีหน้าที่ปรับนายประกันและออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษา เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติกรรมหลบหนี

แหล่งข่าวชี้แจงต่อว่า หมายจับจะมีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลออกหมายจับไปจนถึงวันที่ 27 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาลับหลัง ทั้งนี้หากหลังจากวันที่ 27 กันยายน ศาลพิพากษาลงโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ศาลจะออกหมายจับฉบับใหม่ ซึ่งเป็นหมายจับที่ให้นำตัวจำเลยมาลงโทษตามคำพิพากษาของศาล แต่ถ้ายกฟ้องหมายจับที่เคยออกไว้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม จะถูกยกเลิกไปในทันที

ผู้พิพากษาย้ำ3ตร.พา "ปู" หนีไม่ผิดคดีอาญา

เมื่อถามว่า นายตำรวจที่พา น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปยังจังหวัดชายแดนนั้นเป็นก่อนวันที่ศาลออกหมายจับวันที่ 25 สิงหาคม จะมีความผิดอาญาหรือไม่นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ไม่มีความผิดอาญา เพราะก่อนที่จะออกหมายจับย่อมสามารถที่จะพาไปที่ไหนก็ได้ในประเทศ จึงไม่ถือว่าเป็นความผิด

ส่วนที่ถามว่าเมื่อคนที่พา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งศาลสั่งห้ามออกนอกประเทศหลบหนีไป อยู่ในสถานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะมีความผิดในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า ไม่มีความผิดเพราะตอนนั้นยังไม่รู้ว่าวันฟังคำพิพากษา น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมาฟังคำพิพากษาหรือไม่ เช่นเขาไปสระแก้ว แต่บอกว่า ตอนเช้าจะขับรถกลับมาฟังคำพิพากษาก็ได้ หมายจับออกวันที่ 25 สิงหาคม ฉะนั้นเวลานับจะเริ่มจากวันนั้น ถ้าพาคนที่ถูกหมายจับหลบหนีหลังวันที่ 25 สิงหาคมตรงนั้นจะเป็นความผิด ยิ่งถ้าป็นเจ้าพนักงานตำรวจและคุณไม่ทำตามหน้าที่จะมีความผิด ซึ่งหมายจะใช้ถึงวันที่ 27 กันยายน เป็นวันอ่านลับหลัง ถ้าวันนั้นยังไม่มาอีก หมายจับวันที่ 25 สิงหาคม จะยกเลิก เพราะถือว่าอ่านลับหลังไปแล้ว แต่ถ้ามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกก็จะออกหมายจับใหม่เพื่อนำตัวมาลงโทษ ถ้ายกฟ้องหมายจับก็สิ้นสุด ขั้นตอนของหมายจับจะแบ่งเป็น 2 สเต็ป

จี้รื้อ กก.สอบแก๊งพา "ปู"หนี

ขณะที่ นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย(สปท.) กล่าวถึงขบวนการพา น.ส.ยิ่งลักษณ์ หนีคดี หนีหมายศาลว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนจับตามองและจะเป็นบทพิสูจน์ว่าคสช.จริงจังที่จะสะสางเรื่องนี้ให้เป็นที่กระจ่างต่อสังคมหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าความแคลงใจของประชาชนต่อเรื่องนี้สูงมาก และ คสช.ก็ถูกมองว่า ปิดตาข้างเดียวปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนี เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับความมั่นคงของประเทศกรรมการสอบสวนไม่ควรใช้ตำรวจด้วยกัน จะต้องมีความน่าเชื่อถือมากกว่านี้ ควรมีตัวแทนจากหน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร กอ.รมน. สมช. เข้าไปร่วมสอบสวนขยายผลด้วย เพราะเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องที่ตำรวจระดับนายดาบหรือสารวัตรทำกันเองตามลำพัง ต้องมีคนระดับบิ๊ก มีอำนาจอยู่เบื้องหลังหรือร่วมขบวนการครั้งนี้ด้วย พอเอาระดับนายตำรวจยศเดียวกันมาสอบกันเองก็เลยตั้งข้อหาเบาจนน่าสงสัยและกลายเป็นเรื่องตลกขบขันของสังคม เช่น ฐานความผิดใช้ป้ายทะเบียนรถปลอม ผิดไฟแนนซ์ เป็นต้น ซึ่งทำลายความรู้สึกของประชาชนเกินไปอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมเอาผิดได้เฉพาะคนจนคนไร้อำนาจเท่านั้น ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นปัญหาด้านการข่าว และหนอนบ่อนไส้ด้วย

"เรื่องนี้ชักเริ่มแปลกๆ สังคมต้องจับตาอย่างใกล้ชิดอย่าให้เป็นมวยล้มต้มคนดู เพราะคนร่วมขบวนการก็รับสารภาพแล้ว่าเป็นผู้พาหลบหนีจริงและโยงกับคนมีอำนาจทั้งในราชการและนอกราชการ และการปล่อยตัวผู้ต้องหาไปง่ายๆ ก็อาจโดนคุกคามปิดปากหรือตัดตอนได้ในที่สุด อย่าคิดว่าเร่งรีบสอบสวนตัดตอนคดีเพื่อให้จบๆ คลายข้อแคลงใจของสังคมเท่านั้น ระวังสังคมจะมองว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิด ผลเสียจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลและ คสช. ในที่สุด ที่สำคัญจะทำลายความไว้วางใจของประชาชนต่อระบบยุติธรรมด้วย" นายสุริยะใส กล่าว

มท.พร้อมร่วมมือสอบปม ปู หนี

ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการเปิดเส้นทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลบหนีในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มีการเรียกผู้ว่าฯ หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นเข้าให้ข้อมูลแก่ฝ่ายความมั่นคงหรือไม่ว่า ทางเราไม่ว่าจะฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายปกครองยินดีให้ความร่วมมือในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด เท่าที่ทราบก็มีความคืบหน้าและหากเกี่ยวข้องเชื่อมโยงตรงไหนที่ใด ทั้งนี้ถ้าต้องการขอความร่วมมือเพื่อตรวจสอบหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ทางกระทรวงมหาดไทยก็พร้อม ไม่ว่าจะเป็นส่วนท้องถิ่น หรือท้องที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถึงวันนี้มีการรายงานเข้ามาหรือไม่ว่ามีข้าราชการส่วนท้องถิ่นเข้าไปเกี่ยวข้อง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไปถามฝ่ายความมั่นคงจะดีกว่า ทั้งนี้ มหาดไทยพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่ยืนยันว่ายังไม่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว ขอร้องสื่อว่าอย่าถามแบบนี้เพราะจะกลายเป็นวัวพันหลัก เพราะการดำเนินการสอบสวนเขาไม่ได้มานั่งบอกตนว่าใครไปทางไหน เข้าออกช่องใด

ผู้พิพากษาย้ำ3ตร.พา "ปู" หนีไม่ผิดคดีอาญา

หนุนสอบ เรือเหาะ ชี้เป็นเรื่องดี

นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงการแถลงกรณีการปลดประจำการเรือเหาะตรวจการณ์ว่า ยังไม่ได้รับฟังสิ่งที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)ได้แถลงไป แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้มีโอกาสได้ชี้แจง และให้มีการตรวจสอบดีกว่าให้คนไปพูดหรือวิจารณ์กันโดยไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไม่ดีอย่างไรก็ให้ตรวจสอบมา เพราะเท่าที่ทราบเรื่องการตรวจสอบการทุจริตนั้นไม่มี เพราะป.ป.ช.เคยตรวจสอบแล้ว แต่วันนี้ได้มีการยื่นเรื่องเข้าไปใหม่กรณีว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ ขอให้ไปตรวจสอบซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสังคมจะได้รู้ว่ากลไกของประเทศเรามีหรือดำเนินการอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไรก็ขอให้มีการตรวจสอบ

ยันเอาจริงหากโกงโครงการ 9101

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงโครงการตามรอยเท้าพ่อใต้ร่มพระบารมี (9101) ที่มีกระแสข่าวว่ามีข้าราชการท้องถิ่นอาจจะเข้าไปพัวพันกับการทุจริตว่า นโยบายการทำงานทุกอย่างต้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยยึดความโปร่งใส และเป็นไปตามกฎหมาย หากพบใครที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมายก็จะต้องถูกดำเนินการ ส่วนโครงการ 9101 นั้นก็ต้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลด้วย ดังนั้นหากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย ผู้ที่กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินการไม่ว่าใครก็ตาม โดยเรื่องนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอจะต้องไปกวดขันไม่ให้มีการทุจริต หรือหากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสจะต้องดำเนินการเอาผิดทันที แต่ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการกระทำที่ไม่โปร่งใส หรือมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งนี้โครงการ 9101 ความจริงแล้วเป็นโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คิดว่ากระทรวงเกษตรฯ ก็คงไม่ปล่อยให้มีการทุจริต

"มีชัย"ย้ำจุดยืนรีเซต ป.ป.ช.

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อกังวลที่หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตีตกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. หลังพ้นกรอบการทำงานของ กรธ. ไปแล้ว 240 วัน ว่า กรธ.จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่ากฎหมายลูกทั้งหมดมีผลบังคับใช้ และหาก สนช. ตีตกร่างกฎหมายดังกล่าว กรธ.ก็จะนำประเด็นที่ สนช.ไม่เห็นด้วยมาปรับแก้ โดยไม่จำเป็นต้องยกร่างขึ้นใหม่ เว้นแต่ว่าแก้แล้วจะไม่ถูกใจสนช.ด้วยกันเอง ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 10 ฉบับนั้น ขณะนี้เสร็จสิ้นเกือบทั้งหมดแล้ว คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ที่ กรธ.กำลังพิจารณาอยู่ และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่ง กรธ.จะต้องใช้เวลาในการพิจารณา ไม่สามารถทำลวกๆ ได้ พร้อมยืนยันว่า ไม่ว่าอย่างไร กรธ.จะต้องรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้น หากไม่ทันต้องนัดประชุมเพิ่มวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ส่วนความเป็นไปได้ที่จะเชิญ สนช.เข้ามาร่วมพิจารณากฎหมายกับ กรธ. เพื่อลดขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการร่วม หลังกฎหมายผ่านวาระ 3 จาก สนช.นั้น นายมีชัย ระบุว่า โดยปกติ สนช.จะพิจารณาคู่ขนานกับ กรธ.อยู่แล้ว เมื่อเสร็จสิ้นก็จะมีการส่งความเห็นมายังกรธ.

เมื่อถามว่า ความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ในประเด็น สถานะการคงอยู่ ป.ป.ช. จะเป็นอย่างไร นายมีชัยกล่าวว่า ยังไม่พูดถึง ส่วนเมื่อคราวประชุมนอกสถานที่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรธ.มีแนวทางรีเซตกรรมการ ป.ป.ช.ที่ขาดคุณสมบัติพ้นจากตำแหน่ง ส่วนจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่นั้น เบื้องต้นยังคงยืนยันจุดยืนเดิม ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ยอมรับว่าอยากให้ ป.ป.ช.อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนครบวาระ เพราะ ป.ป.ช.มีลักษณะการทำงานพิเศษ ต้องใช้บุคคลที่มีความสามารถนั้น ยืนยันว่า ต้องทำตามหลักการเดิม เว้นแต่จะมีกรณีพิเศษอย่าง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ กรธ.เสนอให้เซตซีโร่ทั้งคณะ

ผู้พิพากษาย้ำ3ตร.พา "ปู" หนีไม่ผิดคดีอาญา

กม.ลูก 4 ฉบับทันกรอบ 240 วัน

ด้าน นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. แถลงว่า การพิจารณาร่างพ.ร.ป. 4 ฉบับสุดท้าย เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 240 วัน ตามรัฐธรรมนูญกำหนด ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ มีกำหนดส่งให้สนช.วันที่ 26 กันยายนนี้ และคาดว่าสนช.จะบรรจุเข้าวาระการประชุมได้ในวันที่ 28 กันยายนนี้ ร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณารายละเอียด และส่งให้สนช.พิจารณาในวันที่ 24 ตุลาคมเป็นอย่างเร็ว หรือวันที่ 31 ตุลาคมเป็นอย่างช้า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ทางกรธ.คาดว่าจะส่งให้สนช.ได้ในวันที่ 21 พฤศจิกายน และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่าจะส่งให้สนช.ได้ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม กรธ.เร่งรัดการทำงาน หากร่างกฎหมายฉบับใดคาดว่าจะเสร็จไม่ทันตามกำหนด ก็จะนัดประชุมเป็นพิเศษในวันเสาร์และวันอาทิตย์

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช. ทางกรธ.เคยนำข้อมูลที่ฝ่ายต่างๆ ส่งมา เช่น จากกรรมาธิการสนช. การรวบรวมความเห็นมาพิจารณาในรายละเอียด ขณะนี้กำลังพิจารณาในส่วนของบทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล ซึ่งยอมรับว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และยังมีส่วนเกี่ยวพันกับองค์กรอิสระอื่นๆ กรธ.จำเป็นต้องดูให้ละเอียด เพื่อไม่ให้กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

ปชป.ยันมีชายชุดดำซุกในนปช.

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.ออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หยิบยกคดีสลายการชุมนุม ปี 2553 มาดำเนินคดี และมีการกล่าวอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงว่า ความพยายามในครั้งนี้ของนายณัฐวุฒิ เป็นการหวังทำลายใส่ร้ายกันในทางการเมือง และเป็นความพยายามสร้างราคาให้แก่ตัวเองของนายณัฐวุฒิ เพราะขณะนี้นายณัฐวุฒิรู้ว่าตนเองตกอยู่ในที่นั่งลำบาก การเอาตัวรอดจากทุกเหตุการณ์ทำให้มิตรสหายรู้ถึงธาตุแท้

รองโฆษกพรรคปชป.กล่าวต่อว่า ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2560 หน้า 15 บางตอนระบุชัดเจนว่า "มีการปะทะกัน มีการใช้อาวุธยิง ทำร้าย เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารและผู้ร่วมชุมนุมบาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก การชุมนุมของคนจำนวนมากต่อต้านรัฐบาลมีกองกำลังติดอาวุธเข้าปะทะเจ้าหน้าที่ทหารหลายครั้ง คำสั่งของโจทก์ที่ 2 แต่ละฉบับเป็นการออกคำสั่งกำหนดแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารให้เป็นไปตามสถานการณ์ เช่นกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงได้ในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันชีวิตตน และผู้อื่น การกระทำของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของโจทก์ทั้งสอง" จะเห็นได้ว่าคำสั่งต่างๆ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นประเด็นที่จะนำมาเปิดเผย จะเปิดให้นายณัฐวุฒิรู้ทีละเรื่อง แล้วสังคมจะรู้ว่า นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ไม่ได้ทำผิดตามที่นายณัฐวุฒิได้พยายามใส่ร้ายโจมตี

"ปธ.กสม."ทำหนังสือถึง "บิ๊กตู่

วันเดียวกัน นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในฐานะประธาน กสม. ได้ทำหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 (2) ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยสาระสำคัญของหนังสือที่ส่งให้นายกฯ นั้นเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ว่า 6 ประเด็นที่กสม.เคยเสนอความเห็นไปนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนทางนายกฯจะดำเนินการส่งร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของท่าน อย่างไรก็ตาม การทำหนังสือส่งถึงนายกฯ ในครั้งนี้เป็นการทำในฐานะตำแหน่งประธาน กสม. ไม่ได้ทำในนามขององค์กรแต่อย่างใด

เร่งติดตั้งเครื่องรูดบัตรคนจน

วันเดียวกัน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมความพร้อมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐเพื่อรองรับการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยได้เร่งติดตั้งเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี)ในร้านธงฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว 3,000 แห่งทั่วประเทศ และมีเป้าหมายจะติดตั้งให้ได้ถึง 5,700 ร้านค้าภายในต้นเดือนตุลาคมนี้ ส่วนในพื้นที่ที่ร้านธงฟ้าไม่สามารถติดตั้งเครื่องรูดบัตรได้ทันกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมจัดรถโมบายเคลื่อนที่ประมาณ 200 คัน ที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตรแล้ว ออกไปจำหน่ายสินค้าธงฟ้าประชารัฐให้แก่ประชาชน ซึ่งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านค้าอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ขณะนี้กรมบัญชีกลางกำลังรวบรวมข้อมูลร้านค้าและสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ และจะส่งไปยังสาขาต่างๆ ของ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น

ผู้พิพากษาย้ำ3ตร.พา "ปู" หนีไม่ผิดคดีอาญา

พล.ท.สรรเสริญกล่าวต่อว่า นอกจากนี้รถโดยสารของขสมก. ก็ได้ติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ทิกเก็ต) แล้ว โดยติดตั้งในรถโดยสารธรรมดา จำนวน 200 คัน และจะทยอยติดตั้งให้ครบ 800 คัน ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งรถที่ร่วมโครงการจะติดสติกเกอร์สีเขียวระบุข้อความว่ารถคันนี้ใช้ระบบเก็บเงินอัตโนมัติ ซึ่งผู้ถือบัตรแค่นำบัตรแตะที่เครื่องอ่านบัตรระบบจะหักค่าใช้จ่ายทันที สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนไว้ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.3 ล้านคน จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ เนื่องจากภาครัฐมีความจำเป็นต้องบรรจุข้อมูลลงในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่สอดคล้องกับมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) ของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ซึ่งจะเชื่อมโยงการเดินทางด้วยรถโดยสาร ขสมก. และรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน เพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน จึงทำให้ต้องเพิ่มขั้นตอนการผลิตและควบคุมคุณภาพ ก่อนนำไปทดสอบกับเครื่องอ่านบัตรอี-ทิกเก็ตต่อไป อย่างไรก็ตามรัฐจะชดเชยสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เนื่องมาจากขั้นตอนการผลิตที่ใช้เวลานานขึ้น โดยกรมบัญชีกลางจะยกยอดวงเงินสวัสดิการที่คงเหลือจากการใช้จ่ายในเดือนตุลาคมนี้ให้ไปใช้ต่อได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนเดือนอื่นจะไม่มีการทบยอดคงเหลือแต่อย่างใด

"นายกฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรองรับการใช้งานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เกิดความรัดกุม และในระยะแรกควรศึกษาและประเมินผลการทำงานรวมถึงข้อบกพร่องทุกเดือน เพื่อให้สามารถปรับปรุงแก้ไขให้สำเร็จอย่างทันท่วงที และย้ำว่าการช่วยเหลือประชาชนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น เป็นเพียงการช่วยแบ่งเบาภาระในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวรัฐบาลก็มีหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมตามนโยบายของรัฐบาล" พล.ท.สรรเสริญกล่าว

โพลล์หนุนให้จัด ครม.สัญจร 3 จว.ใต้

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรกับ ครม.สัญจร" ที่ จ.สุพรรณบุรี และจ.พระนครศรีอยุธยา โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,204 คน ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.92 ระบุว่า เป็นกิจกรรมที่ดี นายกฯ ได้ลงพื้นที่ใกล้ชิดประชาชน รองลงมาร้อยละ 71.26 ระบุว่า กระตุ้นให้ข้าราชการในพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งทำงาน ร้อยละ 64.62 ระบุว่าช่วยสร้างสีสัน บรรยากาศคึกคัก กระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับกรณีนักการเมืองจากพรรคชาติไทยพัฒนามาต้อนรับและร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ ประชาชนคิดว่าทิศทางการเมืองไทยต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร โดยร้อยละ 67.94 ระบุว่า น่าจะดีขึ้น แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ดี ร้อยละ 65.45 ระบุว่า แต่ละพรรคมีการเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้ง ร้อยละ 59.14 ระบุว่า ยังมีความขัดแย้งเหมือนเดิม แก่งแย่งผลประโยชน์กัน

เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนได้รับจากการจัด ครม.สัญจรครั้งนี้ ร้อยละ 68.52 ระบุว่า ทำให้ประชาชนมีโอกาสพบปะพูดคุยกับนายกฯ อย่างใกล้ชิด ร้อยละ 60.38 ระบุว่า ได้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาล ได้รู้นโยบาย แนวทางการทำงาน การแก้ไขปัญหา ร้อยละ 53.99 ระบุว่า เป็นการประชาสัมพันธ์พื้นที่และแหล่งท่องเที่ยว ทำให้คนรู้จักมากขึ้น ทั้งนี้ตามกำหนดการจัด ครม.สัญจร ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และหากจะมีการจัด ครม.สัญจรหลังจากนี้ ประชาชนอยากให้จัดที่ใด ร้อยละ 59.63 ระบุว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 32.72 ระบุว่า จ.เชียงใหม่ และร้อยละ 26.38 ระบุว่า จ.อุดรธานี

ชทพ.ไม่ท้อไม่ติดอันดับความนิยม

วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีผลสำรวจพรรคชาติไทยจะไม่ติดอยู่ในอันดับความนิยม ว่า เป็นเรื่องปกติ เลือกตั้งมากี่ครั้งแม้แต่สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา ยังอยู่เขาก็จะมองแต่พรรคใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามไม่รู้ว่า คะแนนนิยมของพรรคอื่นๆ มันรวมพรรคชาติไทยพัฒนาด้วยหรือไม่ เพราะฉะนั้นอย่าไปสรุปว่าไม่มีใครเลือกพรรคเราเลย แต่ตรงนี้ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้พวกเราท้อถอย ตรงกันข้ามมันเป็นฟืนที่ช่วยกระตุ้นให้โหมไฟให้แรงกล้า ทำงานให้หนักขึ้น ส่วนกรณีโพลล์บางสำนักระบุว่าอยากให้ปรองดองสำเร็จก่อนการเลือกตั้งว่า ทุกคนคิดอย่างนี้ เพราะกลัวว่าถ้าเปิดสนามเลือกตั้งแล้วแต่ละฝ่ายจะเผชิญหน้ากัน จะเกิดการปะทะกันอีก คือไปคิดมองอนาคตก่อนแต่มันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ เราไปคิดแทนคนอื่น วันนี้ทุกคนโดยเฉพาะนักการเมืองมีสำนึกต่อบ้านเมือง อะไรที่ทำไปแล้วบ้านเมืองดี ทำให้บาดแผลมันหาย ตนคิดว่าเขาเลือกเป็น อย่าไปหวาดระแวงเลย ถ้าเป็นอย่างนี้เราลองมองมุมกลับถ้ามีอำนาจเบ็ดเสร็จทุกอย่างอยู่ในมือหมด แล้วทำไมมันยังเป็นไม่ได้ดั่งใจ

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้มีรัฐบาลแห่งชาติ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คิดว่าอย่าไปฝืนหลักการของระบอบประชาธิปไตย ในเรื่องของหลักการถ่วงดุล เพราะการมีรัฐบาลแห่งชาติจะเป็นรัฐบาลร่วมกันหมดทุกพรรค ไม่มีการถ่วงดุล ประชาชนจะเสียโอกาสมาก จะไม่มีกระบวนการตรวจสอบเลย อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกฝ่ายจะได้ปรองดอง ร่วมมือร่วมใจสมานฉันท์ สามัคคี แต่ตนบอกได้เลยว่ามันอันตราย เอาผลประโยชน์ของชาติมาแลกกับความปรองดอง มันไม่ได้ มันไม่คุ้ม ต้องยึดในหลักการ ขอให้เล่นไปตามกติกา ระบบรัฐสภาดีอยู่แล้ว ดีกว่าไปปล่อยให้อยู่นอกกติกา

(หน้า1.นสพ.คมชัดลึก)

logoline