svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ออมเท่าไหร่ ออมอย่างไร ถึงจะพอใช้ทั้งชีวิต

22 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พี่คิดถึงวันเกษียณ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน" ประโยคหนึ่งที่ดิฉันจำขึ้นใจจากการสัมภาษณ์ "พี่ก้อย-วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ" หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ตั้งแต่ เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา

บางคนฟังแล้วอาจจะหัวเราะ หรือขำว่า อะไรกัน คิดจะเลิกทำงาน ตั้งแต่ชีวิตการงานยังไม่เริ่มเลย แบบนี้อาชีพการงานจะรุ่งหรือ ?"

จริงๆ ถ้าจะขำก็ไม่แปลกนะคะ แต่ถ้าลองคิดให้ลึกลงไปอีกชั้น จะเห็นว่า สิ่งที่ "พี่ก้อย-วิวรรณ" พูดในวันนั้น สะท้อนว่า การเตรียมพร้อมรับวัยเกษียณนั้น "ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น"

เริ่มเร็ว ก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก เผลอๆ จะไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าที่คิด แต่ถ้าเริ่มช้า ต้องใช้แรงมากกว่า เหนื่อยมากกว่า หนำซ้ำหลายคนอาจจะมาเหนื่อยในวันที่อายุเรามากขึ้นแล้วอีกต่างหาก

ถึงตรงนี้ คำถามยอดนิยม ก็คือ "ต้องออมเท่าไหร่ถึงจะพอ" และ "ต้องออมอย่างไรถึงจะพอ"

ถามว่า "ออมเท่าไหร่ถึงจะพอ" ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เราอยากมีชีวิตหลังเกษียณแบบไหน ต้องตอบแบบไม่เข้าข้างตัวเองด้วยนะคะ จะมาบอกว่า ฉันกินใช้วันละ 100 บาท เดือนละ 3,000 บาทก็พอ แบบนั้นมันกินอยู่แบบเบียดเบียนตัวเองมากเกินไป

แต่ถ้าใครบอกว่าทำได้จริงๆ ก็ต้องอนุโมทนาค่ะ แต่ถ้าจะเอาแบบใช้ชีวิตในระดับมาตรฐานของคนทั่วไป กินอยู่แบบสบาย ไม่ถึงกับลำบาก แต่ก็ไม่ได้หรูหราฟู่ฟ่า ก็ว่ากันว่า ค่าใช้จ่ายต่อเดือน (แบบไม่มีภาระหนี้สินหรือไม่รวมภาระหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระ) จะอยู่ในราว 15,000-20,000 บาทต่อคน

ดังนั้น ถ้าเราคิดเลขแบบเร็วๆ ว่า เราจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี หลังจากนั้นเราควรจะมีชีวิตหลังเกษียณอีก 20 ปี เงินก้อนที่เราต้องมีในวันที่เราเกษียณที่เพียงพอกับการใช้จ่ายเดือนละ 15,000-20,000 บาท จะต้องอยู่ที่ 3.6 ล้านบาทถึง 4.8 ล้านบาทซึ่งเรื่องน่าเศร้าก็คือ ในความเป็นจริง เราพบว่า ค่าเฉลี่ยของเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ของคนวัยเกษียณนั้นอยู่ที่ 1.6 แสนบาทเท่านั้นเอง นี่ขนาดคนที่มี PVD ยังขนาดนี้ แล้วคนที่ไม่มี จะขนาดไหน 

เห็นเงินในบัญชีออมแล้ว บอกได้เลยว่า ยังห่างไกลจากเป้าหมายความเป็นอยู่ในระดับแค่ "ไม่ลำบาก" ยังไม่ต้องคิดไปไกลถึงอยากอยู่อย่างสบายในวัยเกษียณ เพราะแค่อยู่อย่างไม่ลำบากในบั้นปลายชีวิตก็ยังยาก นี่แหละค่ะเป็นที่มาว่า คนไทยนั้นโดยเฉลี่ยแล้ว จะเจอภาวะ "เกษียณทุกข์" มากกว่า "เกษียณสุข"

ที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะเราเริ่มต้นช้า เราไม่ได้คิดถึง "วันเกษียณ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงาน" น่าตกใจไปอีกที่มีผลการวิจัยบอกว่า คนไทยโดยเฉลี่ยเริ่มต้นออมตอนอายุ 40 ปี ซึ่งช้ามาก และที่น่าตกใจกว่านั้น คือ เราเริ่มต้นออมช้าแล้วยังออมน้อยเกินไปอีกด้วย โดยพบว่า การออมเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ของเงินเดือนเท่านั้น

ดังนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า "ออมเท่าไหร่ถึงพอ" ก็คือ คุณต้องการชีวิตหลังเกษียณแบบไหนกันล่ะ ถ้าต้องการแบบพออยู่พอกินไม่ลำบาก คุณก็ต้องมีเงิน 3.6-4.8 ล้านบาทในวันที่คุณเกษียณ 

นั่นแปลว่า ถ้าคุณเริ่มตอนอายุ 40 ปี คุณก็ต้องออมให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 15,000-20,000 บาท แต่ถ้าคุณเริ่มตอนอายุ 30 ปี คุณก็ต้องออมให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000-13,333 บาท แต่ถ้าคุณเริ่มได้เร็วกว่านั้น เช่น เริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปี คุณจะมีเวลามากกว่าคนอื่น อัตราการออมเฉลี่ยของคุณก็จะลดลงเหลือเดือนละ 7,500-10,000 บาท

หลายคนบอกว่า บ้าไปแล้ว เพราะตอนอายุ 20 ปี รายได้แค่เดือนละ 15,000-20,000 บาท จะให้ออม 50% ของรายได้แล้วจะเอาอะไรกิน ออมขนาดนี้ถ้าเกิดพรุ่งนี้ตายขึ้นมา ก็เท่ากับใช้ชีวิตไม่คุ้มแล้ว 

ต้องบอกว่า ทั้งหมดที่ยกมาเป็นค่าเฉลี่ยและเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า "ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหนื่อยน้อยลงเท่านั้น" เพราะในทางทฤษฎีแล้ว การออมเพียงเดือนละ 10% ของรายได้ตลอดอายุการทำงาน ก็สามารถตอบโจทย์บั้นปลายชีวิตได้ในระดับหนึ่ง 

แต่ถ้าเราสามารถออมได้มากกว่านั้น เช่น 15% หรือ 20% ก็จะยิ่งมองเห็นโอกาส "เกษียณสุข" ได้มากขึ้น และถ้า "เงินออม" สามารถแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ได้ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกษียณสุขได้มากขึ้น

ทีนี้ จะ "ออมอย่างไรถึงพอ" อันนี้ มันเป็นเรื่องของวิธีการและการลงมือปฏิบัติ ซึ่งต้องบอกว่า ไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าคำว่า "ต้องออมอย่างมีวินัย" ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างยากที่สุด แต่ก็ต้องบอกอีกว่า เป็นเรื่องโชคดีสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีสถานะเป็น "ลูกจ้าง" เพราะหลายคนสร้างวินัยด้วยตัวเองไม่ได้ บังคับตัวเองให้ออมไม่ได้ เพราะมือมันเติบ และใจมันอยาก "ใช้" มากกว่า "ออม" อยู่เรื่อยไป 

เราจึงอาจจะต้องยอมใช้เครื่องมือที่จะสร้างวินัยให้กับเรา หนึ่งในนั้น ก็คือ กลไกการออมผ่าน "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" ที่เคยย้ำไปหลายครั้งว่า มีประโยชน์หลายสถาน 

นอกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะทำให้มนุษย์เงินเดือนหลักหมื่น มีโอกาสสะสมเงินหลักล้านได้จริงแล้ว การออมผ่านกลไกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างยังได้เงินสมทบจากนายจ้าง ที่จ่ายสมทบให้ทุกเดือน ไม่ต้องชะเง้อรอเหมือนโบนัสตอนสิ้นปีที่ต้องลุ้นแล้วลุ้นอีก 

ที่สำคัญ มันบังคับเราให้มีวินัย บังคับเราให้ออม จนตอบโจทย์ว่า "ออมอย่างไรถึงพอ" ให้กับเราได้ 

เป็นเรื่องน่าดีใจที่หลายหน่วยงานให้การสนับสนุน อย่างล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ได้เตรียมที่จะจัดงานสัมมนา SEC Retirement Savings Symposium 2017 ในวันพุธที่ 4 ตุลาคมนี้ ที่โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย สยามพารากอน 

ซึ่งต้องบอกว่า งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมยิ่งใหญ่ระดับโลก นั่นคือ World Investor Week 2017 ที่หลายประเทศพร้อมใจกันจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุน

สำหรับประเทศไทย ก.ล.ต. จะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมให้นายจ้างและลูกจ้างเข้าใจในเรื่องของการออมเพื่อเกษียณผ่านกลไกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เชื่อว่าจะได้ความรู้ดีๆ จากวิทยากรระดับประเทศ เรื่องวิธีการออมให้พอใช้ในวัยเกษียณอย่างแน่นอนค่ะ อยากรู้ว่า ในเวทีสัมมนามีเรื่องอะไรน่าสนใจบ้าง ครั้งหน้าจะมาเล่าให้ฟังนะคะ 

เอาเป็นว่า ณ จุดนี้ เข้าใจตรงกันว่า ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างวัยเยาว์อายุ 20 ต้นๆ หรือลูกจ้างวัยแพลตินั่ม 40 กะรัตอัพ ก็เริ่มต้นได้ทั้งนั้น แค่คนมาทีหลังต้องออกแรง ต้องใช้พลังมากหน่อย แต่ถึงจะมาช้าก็ยังดีกว่าไม่มาค่ะ

logoline