svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ ทางออกที่ดินอัลไพน์?

13 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ร่าง พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามฯ อันเกี่ยวข้องกับ'ที่ดินอัลไพน์'กำลังถูกวิจารณ์ว่าเป็น 'นิรโทษกรรมเหมาเข่ง'

เรื่อง มหากาพย์ที่อัลไพน์ กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง  หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษา ให้จำคุก 2 ปี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รักษาราชการแทนปลัดมหาดไทย (ในขณะนั้น ) ที่สั่งเพิกถอนคำสั่งของ นายประวิทย์ สีห์โสภณ อธิบดีกรมที่ดิน(ในขณะนั้น) ที่สั่งเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย กับ บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัดและบริษัทอัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด โดยนายยงยุทธ อ้างถึงความชอบธรรมของผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรอัลไพน์ 

            

ประกอบกับก่อนหน้านี้ ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหาร ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2558 ซึ่งต่อมาคณะกรรมการยกร่างกฎหมาย ได้มีคำสั่งลงวันที่ 4 มี.ค.2559 แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา โดยมีกรมที่ดินและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการยกร่าง

           

ซึ่งหากร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาประกาศใช้ จะมีผลทำให้การโอนที่ดินของวัดธรรมิการามวรวิหาร มาเป็นของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยและการโอนขายที่ดินของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยไปเป็นของบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด  และ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ  จำกัด รวมทั้งการที่บริษัททั้งสอง นำที่ดินไปทำหมู่บ้านและที่ดินจัดสรรขายต่อให้กับชาวบ้านชอบด้วยกฎหมายไปด้วยหรือที่เรียกกันว่า นิรโทษกรรมเหมาเข่ง  เพราะเป็นการนิรโทษกรรมกระบวนการดำเนินการโอนและจำหน่ายที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้เป็นเรื่องถูกต้องทั้งหมด

           

มาถึงตรงนี้ ต้องย้อนรอยที่มาของที่ดินอัลไพน์ กันเพื่อจะได้เข้าใจกันมากขึ้น  ที่มาของเรื่องนี้ก็คือ เมื่อปี 2512  นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา  ซึ่งเป็นชาวกรุงเทพฯ ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินจำนวน 2 แปลง ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รวมเนื้อที่ 924 ไร่เศษ  ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ซึ่งอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาวันที่ 22 พ.ค.2514 นางเนื่อม ถึงแก่กรรม ที่ดินตามพินัยกรรมของนางเนื่อม จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดทันทีที่นางเนื่อม เจ้ามรดกถึงแก่กรรม

           

ต่อมาในปี 2533 นายเสนาะ เทียนทอง  รมช.มหาดไทย ปฏิบัติราชการแทน รมว.มหาดไทย มีคำสั่งไม่อนุญาตให้วัดธรรมิการามวรวิหาร ได้มาซึ่งที่ดินมรดกทั้งสองแปลงดังกล่าว  โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 84 ของประมวลกฎหมายที่ดินที่บัญญัติว่า การได้มาซึ่งที่ดินของวัด ต้องได้รับอนุญาตจาก รมว.มหาดไทยและให้ได้มาไม่เกิน 50 ไร่ นายเสนาะ จึงไม่อนุญาตให้ที่ดินตกเป็นของวัดเพราะที่ดินเกิน 50 ไร่(ต่อมานายเสนาะ ถูก ป.ป.ช. ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบจากกรณีดังกล่าว แต่ศาลยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าขาดอายุความ 20 ปี)

           

และในวันที่ 21 ส.ค.2533  มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม ได้จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกเป็นชื่อของมูลนิธิฯ และจดทะเบียนโอนขายให้กับ บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด เมื่อบริษัททั้งสอง ได้ที่ดินมา ก็นำมาพัฒนาที่ดินทำเป็นสนามกอล์ฟมีเนื้อที่ 200 ไร่ นอกนั้นทำเป็นบ้านและที่ดินจัดสรรขาย ให้กับบุคคลทั่วไป โดยมีประชาชนมาซื้อประมาณ 600 ราย  

           

ต่อมาปี 2544 นายประวิทย์ สีห์โสภณ อธิบดีกรมที่ดินในขณะนั้น ได้ทำหนังสือไปถึงรักษาการปลัดมหาดไทย คือ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของนางเนื่อมมาเป็นของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย รวมทั้งการโอนขายระหว่างมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้ขาย กับบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ ผู้ซื้อ ตามคำแนะนำของกฤษฎีกาฯ ที่ระบุว่ามูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยไม่สามารถโอนขายที่ดินด้วยตัวเองได้ และต้องออกเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น เนื่องจากที่ดินได้ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์แล้ว แต่นายยงยุทธ กลับเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินในขณะนั้น  

            

29 ส.ค. 2560 ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯ ได้มีคำพิพากษาให้จำคุกนายยงยุทธ 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จากการที่นายยงยุทธ สั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินที่สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของนางเนื่อมมาเป็นของมูลนิธิฯรวมทั้งการโอนขายระหว่างมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้ขาย กับบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ ผู้ซื้อ

           

และจากการที่ศาลฯ พิพากษาว่านายยงยุทธ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านที่ซื้อบ้านจัดสรร จากบริษัทอัลไพน์ฯ มีความกังวลว่า อาจมีการโอนที่ดินของหมู่บ้านกลับไปเป็นที่ธรณีสงฆ์ เป็นของวัด  จึงได้มีการยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอความชัดเจนในเรื่องนี้  และชาวบ้านบางส่วนมีท่าทีสนับสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ วัดธรรมิการามวรวิหาร  ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย

         

‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ ทางออกที่ดินอัลไพน์?

          

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหารฯ ได้ทำการยกร่างเสร็จแล้ว และมีการนำร่างกฎหมายเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 7-23 ส.ค. 2560 เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายฉบับนี้  และเป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 77 ที่กำหนดว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ  หลังจากนี้ก็จะส่งร่างฯดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก็จะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อไป

          

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ฯ  มีทั้งหมด 5 มาตรา  โดยมีเนื้อหาสำคัญ อยู่ที่มาตรา 3 ที่ระบุว่า ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ วัดธรรมิการามวรวิหาร โฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 รวม 924 ไร่ ที่อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี  ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่  21 ส.ค. 2533 และมาตรา 4  ที่ระบุว่า  ให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและการดำเนินการใดตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ทั้ง 2 โฉนดดังกล่าว ซึ่งได้กระทำลงภายหลังที่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ตามมาตรา 3 จนถึงวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย 

         

สำหรับเหตุผลที่ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมมิการามวรวิหารแล้วตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมซึ่งการจำหน่ายจ่ายโอนจะกระทำได้โดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ  ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และวัดธรรมิการามวรวิหารได้แสดงความประสงค์ไม่ต้องการโอนทางทะเบียนที่ดินมาเป็นชื่อวัดผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่ต้องการจำหน่ายเพื่อนำเงินมาบำรุงวัดและเก็บดอกผล แต่เนื่องจากมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม ได้จัดการมรดกโดยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวมาเป็นของมูลนิธิและได้จำหน่ายต่อไป โดยไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น เพื่อให้การโอนที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งเป็นการคุ้มครองสิทธิและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนซึ่งครอบครองที่ดินอยู่ในขณะนี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

          

สำหรับท่าทีของคนในรัฐบาล เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินอัลไพน์นั้น  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ  บอกว่า  ได้ให้หลักกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไป 2 ข้อ คือ จะต้องไม่นิรโทษกรรม ไม่อภัยโทษ ต้องไม่ล้างมลทินให้กับใคร ถ้าผิดให้เดินไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่จะทำอย่างไรกับชาวบ้านที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ที่สุจริต เพราะมีบางกรณีที่ไม่สุจริต โดยให้ดูเป็นกรณีไป ถ้าสุจริตเสียค่าตอบแทน และไม่ผิดกฎหมาย จดทะเบียนถูกต้อง  ก็จะได้รับความคุ้มครอง แล้วค่อยมาดููว่าจะทำอย่างไรกับคนเหล่านี้

          

ซึ่งหากแปลความจากที่นายวิษณุ พูด แนวโน้มที่ร่าง พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหาร ฯ  ที่มีลักษณะนิรโทษกรรมเหมาเข่ง จะตกไปมีสูง  เพราะหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ อย่างน้อย ก็มีบุคคลถึง 5 กลุ่มที่อาจได้รับประโยชน์   

          

กลุ่มแรก คือ ตัวแทนวัด ที่ปล่อยให้มีการโอนที่ธรณีสงฆ์เปลี่ยนมือไปยังมูลนิธิ ฯ 

          

กลุ่มที่ 2 คือ มูลนิธิฯ ที่จดทะเบียนรับโอนที่ธรณีสงฆ์ 

           

กลุ่มที่ 3 บริษัทเอกชนที่รับซื้อ หรือ รับโอนที่ธรณีสงฆ์ต่อจากมูลนิธิฯ 

          

กลุ่มที่ 4 ประชาชนที่เข้าไปซื้อบ้าน หรือ ที่ดินจัดสรร โดยไม่รู้มาก่อนว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ 

          

กลุ่มที่ 5 คือ ข้าราชการ หรือ นักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการรับรองการโอนย้ายเปลี่ยนมือที่ธรณีสงฆ์ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ไม่สามารถทำได้

        

จะเห็นได้ว่า มีเพียงกลุ่มที่ 4  คือ ประชาชนที่เข้าไปซื้อบ้านหรือที่ดินจัดสรรโดยสุจริตเท่านั้น ที่น่าเห็นใจ และน่าจะได้รับการเยียวยาจากรัฐตามที่นายวิษณุ กล่าวไว้ 

         

ส่วนอีก 4 กลุ่มที่เหลือ หากร่าง กม.ฉบับนี้ ออกมาบังคับใช้ กลับได้ประโยชน์ไปด้วยเพราะกฎหมายไปรับรองสิ่งที่ทำมาว่าถูกต้องตามกฎหมาย  ทั้งที่มีบางคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในทางมิชอบ ควรที่จะถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม 

          

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจมีการหยิบยกกรณีนี้ไปใช้เป็นเงื่อนไขในการอุทธรณ์คดีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปีในคดีอัลไพน์ เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ ออกมาย้อนหลังเป็นคุณ เปลี่ยนสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ถูกกฎหมาย

         

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายของพรรคฯ แสดงความไม่เห็นด้วยกับ ร่างกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหาร ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม

        

"เนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้เรียกได้ว่าเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เพราะเป็นการออกกฎหมายเพื่อให้การโอนที่ดินวัดที่ทำไปโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2533 เป็นเรื่องถูกต้อง และยังกำหนดให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างๆเกี่ยวกับที่ดินนี้ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย"

         

นายวิรัตน์ กล่าวว่า หากต้องการจะออกกฎหมายเพื่อเยียวยาชาวบ้านที่มาซื้อที่ดินและได้รับผลกระทบ ก็ต้องแยกแยะให้ชัดเจน ต้องแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่ได้ที่ดินมาโดยทุจริตหรือมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และกลุ่มที่ได้ที่ดินมาโดยสุจริต คือชาวบ้านที่มาซื้อที่ดินต่อจากบริษัทฯในภายหลัง

         

"คนที่ได้ที่ดินมาโดยทุจริตก็ต้องถูกฟ้องร้องขับไล่ยึดที่คืน ส่วนคนที่ได้มาโดยสุจริตรัฐก็ต้องเข้าไปดูแล" มือกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

          

จึงต้องรอดูกันต่อไปว่า รัฐบาล คสช. จะแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินอัลไพน์อย่างไร  จะเลือกออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือ เลือกเยียวยาเฉพาะชาวบ้านที่เดือดร้อน จากนั้นดำเนินคดีกับคนที่กระทำมิชอบเกี่ยวกับที่ดินวัดหรือไม่    

logoline