svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

2+2 เรื่องต้องรู้ ลดความเสี่ยงลงทุน

01 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มีผู้ฟังส่งคำถามในรายการเงินทองต้องรู้ ว่าระหว่างการฝากเงินกับบริษัทเงินทุน (ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์) เป็นเงินฝากระยะเวลา 19 เดือน ผลตอบแทน 3.25% ต่อปี กับซื้อหุ้นกู้ของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระยะเวลา 4 ปี ผลตอบแทน 3.05% ต่อปี แบบไหนดีกว่ากัน

อ่านถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งรีบโวยว่า "นี่มันเรื่องของคนรวยชัดๆ ทุกวันนี้ จะกินยังไม่มี จะเอาที่ไหนมาฝาก มาลงทุน" ต้องใจเย็นๆ ก่อนค่ะ เพราะที่จะขยายความต่อไปใน Money Care

วันนี้ ต้องบอกว่า ไม่เกี่ยวกับความรวย ความจน แต่เป็นเรื่อง "หลักคิดในการตัดสินใจลงทุน" ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปปรับใช้กับหลายๆ เรื่องได้จริงถ้าแยกประเด็นทางเลือก 2 ทางที่ผู้ฟังท่านนี้ส่งมา เราสามารถแยกความแตกต่างได้เป็น 3 ส่วน

โดยส่วนแรก คือ สินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนต่างกัน เพราะหนึ่ง คือ เงินฝาก และอีกหนึ่ง คือ หุ้นกู้

ส่วนที่ 2 คือ ผลตอบแทนแตกต่างกัน เพราะเงินฝากให้ผลตอบแทน 3.25% ต่อปี ขณะที่หุ้นกู้ให้ผลตอบแทน 3.05% ต่อปี

และส่วนที่ 3 คือ ระยะเวลา นี่ก็ยิ่งเห็นชัด เพราะถ้าเลือกฝากเงิน จะล็อคระยะเวลาแค่ 19 เดือน หรือประมาณ 1 ปี 7 เดือน แต่ถ้าเลือกหุ้นกู้ เงินลงทุนจะถูกล็อคนาน 4 ปี

ถ้าเทียบกันหมัดต่อหมัดแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ก็จะเห็นว่า ผลตอบแทนของเงินฝากสูงกว่าเห็นๆ ระยะเวลาก็สั้นกว่า แล้วจะคิดมากให้เสียเวลาทำไม

ก็เพราะมองปราดเดียวแล้วตัดสินใจแบบนี้แหละค่ะ ที่ทำให้หลายๆ ครั้ง เราพลาดแบบที่ไม่ควรพลาด เพราะเราต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่มาคู่กันกับผลตอบแทน คือ "ความเสี่ยง"
ไม่ว่าจะฝากเงิน จะลงทุน จะทำธุรกิจ หรือแม้แต่จะตัดสินใจซื้อล็อตเตอรี่สักหนึ่งใบ หรือแม้แต่เพื่อนสนิทมาชวนเข้าหุ้นลงทุนอะไรโดยพูดล่อใจว่า ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ เราก็ต้องไม่ลืมนึกถึงเรื่องของความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย

ดังนั้น 2 ปัจจัยที่ต้องตระหนักรู้ก่อนคิดลงทุนเสมอ ก็คือ หนึ่ง ผลตอบแทน และสอง ความเสี่ยง ทั้งสองปัจจัยนี้จะแปรผันตามกันค่ะ ยิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็จะสูง ยิ่งผลตอบแทนต่ำ ความเสี่ยงก็จะต่ำ

"ความเสี่ยงสูงสุด" ของเงินฝากในบริษัทเงินทุน กับหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียน ก็คือ ความเสี่ยงว่า บริษัทจะเจ๊ง แล้วเราจะไม่ได้เงินคืน แต่กรณีของเงินฝาก ความเสี่ยงจะถูกคุ้มครองภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก (ณ ตอนนี้คุ้มครองสูงสุด 15 ล้านบาท ก่อนจะลดวงเงินการคุ้มครองลงเหลือ 1 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันการเงินต่อ 1 บัญชีในปี 2563)

หมายความว่า ถ้าเรามีเงินฝากไม่เกิน 15 ล้านบาท แล้วสถาบันการเงินมีอันเป็นไป เราก็ยังได้เงินฝากที่เป็นเงินต้นคืนครบเต็มจำนวน

ส่วน "หุ้นกู้" ของบริษัทจดทะเบียน ความเสี่ยงจะพิจารณาได้จากสิ่งที่เรียกว่า "อันดับเครดิต" ซึ่งจะมีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นผู้จัดอันดับเครดิตให้ หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตสูงๆ (เช่น AA หรือ AAA) ก็จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่า

ถ้าถามว่า แล้วระหว่าง "ความเสี่ยง" กับ "ผลตอบแทน" ควรให้น้ำหนักเรื่องไหนมากกว่ากัน อันนี้ต้องบอกว่า เราต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วยค่ะ โดยเฉพาะถ้าเงินที่จะลงทุนเป็นก้อนเดียว หรือก้อนสุดท้ายในชีวิต

เราก็ลองคิดดูว่า เราอยากได้ผลตอบแทนสูง โดยยอมรับความเสี่ยงสูงๆ หรือเราสามารถยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลง เพื่อให้เงินก้อนสุดท้ายของเราปลอดภัยมากขึ้น

แต่ถ้าเงินก้อนนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเงินอีกหลายก้อน เราก็สามารถยอมรับความเสี่ยงจากการสูญเสียได้มากขึ้น แบบนี้แหละค่ะที่เรียกว่า "กระจายความเสี่ยง"

แยกไข่ใส่หลายตะกร้า ถ้าตะกร้าหล่นพื้น ไข่ก็หล่นแตกแค่ตะกร้าเดียว ไม่ถึงกับหมดเนื้อหมดตัว

เอาจริงๆ ถ้าคิดได้แบบนี้ คนที่หลงเป็น "เหยื่อ" การลงทุนประเภทตกทอง หลอกขายล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง หรือแม้แต่ลงทุนแชร์ลูกโซ่จะลดลงเยอะมาก

นอกจาก 2 เรื่อง คือ ผลตอบแทนและความเสี่ยงแล้ว ยังมีอีก 2 เรื่องที่ควรรู้ นั่นคือ "สภาพคล่อง" หมายถึงความคล่องตัวในการเข้าออกของเงินลงทุน

อย่างกรณีของเงินฝาก 19 เดือน ก็ชัดๆ ว่าเงินที่นำไปฝากต้องไม่มีภาระนำไปใช้จ่ายในช่วง 19 เดือน หรือกรณีหุ้นกู้ 4 ปี ก็เหมือนกัน ต้องทำใจไว้เลยว่า เงินจะถูกล็อคอยู่ 4 ปี

ดังนั้น การตัดสินใจ "เลือก" ว่าจะลงทุนอะไร เราก็ต้องดูด้วยว่า เราสามารถ "ฟรีซ" เงินลงทุนของเราได้ในระยะเวลาเท่าไหร่ โดยที่ไม่ทำให้เราเดือดร้อน

เรื่องสุดท้าย อาจจะดูเพ้อๆ บ้าง แต่สำคัญมากพอๆ กับเรื่องอื่น คือ "ความชอบ" ลองคิดดูนะคะว่า พอตั้งหลักจะลงทุนอะไรซักอย่าง ดูความเสี่ยงแล้วยอมรับได้ ดูผลตอบแทนแล้วน่าพอใจ จัดระบบเงินแล้วมีสภาพคล่อง แต่ดัน "ไม่ชอบ" แบบนี้ก็จบ เทียบเคียงกับการเลือกทำธุรกิจนี่จะเห็นชัดเจนเลย

ข้อคิดก่อนตัดสินใจลงทุน 2 ปัจจัยแรก คือ ความเสี่ยงและผลตอบแทน ขณะที่ 2 ปัจจัยหลัง คือ สภาพคล่องและความชอบ ไม่ต้องไปไกลถึงเงินฝากหลักล้านหรือหุ้นกู้หลักสิบล้านค่ะ จะลงทุนหลักพันหลักหมื่น จะเปิดร้านเสริมสวย ร้านส้มตำ ร้านข้าวมันไก่ ก็ต้องคิดให้รอบ

สำคัญที่สุด คือ อย่าคำนวณทั้งหมดในอากาศ ให้คำนวณลงกระดาษ เพราะคำตอบที่ปรากฏตรงหน้าจะชัดเจนมากขึ้น และช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นค่ะ

logoline