svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

‘ใจเริง’ กับความฟุ้งเฟ้อใน ‘เพลิงบุญ’ 5 สัญญาณเตือน ก่อนหนี้ล้นพ้นตัว!

18 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถ้าตัดเรื่องชู้สาวคาวโลกีย์ในละคร "เพลิงบุญ" ที่นำแสดงโดย เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ผู้รับบท ใจเริง ออกไปแล้วเลือกพิจารณาพฤติกรรม การใช้จ่ายของตัวละครหลัก จะพบว่าตัวละครหลักๆ ล้วนแต่มีชีวิตที่ยึดติด "วัตถุนิยม"

ทั้ง เริงใจ (นำแสดงโดย เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ), เทิดพันธุ์ (นำแสดงโดย หลุยส์ สก็อตต์), ฤกษ์ (นำแสดงโดย ป้อง ณวัฒน์) หรือกระทั่ง พิมาลา (นำแสดงโดย เบลล่า ราณี) ล้วนแต่มีชีวิตที่ยึดติดกับ "วัตถุนิยม"


เริ่มจากคู่แรก "ใจเริง" และ "เทิดพันธุ์" ผู้มีความเป็นอยู่สุขสบายในช่วงที่กิจการของครอบครัวรุ่งเรืองถึงขีดสุด สองหนุ่มสาวฟุ้งเฟ้อและฟุ่มเฟือยไปได้เท่าที่ฐานะจะเอื้ออำนวย อาหารการกิน รถยนต์ราคาแพง กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ


เมื่อถึงวันที่ทุกอย่างกลับข้าง มีเพียง "ใจเริง" ที่ยังจมไม่ลง ไขว่คว้าและทำทุกอย่างให้ได้มาซึ่งชีวิตที่สุขสบายเหมือนเดิม โดยไม่สนใจว่า สิ่งที่ทำมันถูกหรือผิด ส่วน "เทิดพันธุ์" ยอมรับชะตากรรมและยิ้มรับให้กับสิ่งที่เขาเรียกว่า "ความบัดซบของชีวิต" เขาอ้าแขนต้อนรับมัน และซึมซับมันไว้เป็นบทเรียนราคาแพง


ขณะที่คู่หลัง "ฤกษ์" และ "พิมาลา" เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลาง ความเป็นอยู่เรียบง่าย แต่เมื่อถึงวันที่ "ฤกษ์" มีรายได้เพิ่มขึ้น มีฐานะดีขึ้น เขาก็เลือกที่ตอบสนองความสุขให้กับหญิงคนรักอย่าง "พิมาลา" ด้วยบ้านหลังใหญ่ อาหารนอกบ้านราคาแพง รถยนต์ยุโรปคันหรู และกระเป๋าแบรนด์เนมใบโต


ทางทฤษฎี การใช้เงินของ "ใจเริง-เทิดพันธุ์-ฤกษ์ และพิมาลา" อาจจะไม่มีอะไรผิด เพราะทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทุกคนอยู่ในฐานะที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ เป็นการกินอยู่ตามอัตภาพ ตามกำลัง ตามฐานะ


แต่การล้มครืนทางการเงิน พลิกชีวิตความเป็นอยู่จากหน้ามือเป็นหลังมือของ "ใจเริงและเทิดพันธุ์" ในช่วงต้นของเรื่องๆ ก็พอจะสะท้อนความผิดพลาดในการบริหารจัดการเงินทองได้ไม่น้อย จัดเป็นการใช้ชีวิตโดยประมาทแบบไม่ต้องสงสัย


มีอยู่หลายฉากหลายตอนในละคร โดยเฉพาะในตอนที่ "ใจเริง" เข้าตาจน มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดนเจ้าหนี้ตามทวงทั้งค่าคอนโดฯ ที่ค้างชำระ และค่างวดรถที่ค้างจ่าย


ทำให้นึกถึง 5 สัญญาณเตือนภัยที่ "เครดิต บูโร" หรือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด แจกแจงไว้ให้ "ลูกหนี้" หมั่นสำรวจตัวเองว่า "ภาระหนี้สิน" ของเรานั้น เข้าขั้นวิกฤติแล้วหรือยัง


สัญญาณที่ 1 มากกว่า 45% ของรายได้ต้องเอาไปให้เจ้าหนี้ใช่หรือไม่ : ถ้าใช่ ก็ลองนึกดูว่า รายได้เกือบครึ่งของเราในแต่ละเดือนต้องใส่พานให้กับเจ้าหนี้ แล้วสุขภาพทางการเงินในระยะยาวของเราจะเป็นอย่างไร


และนั่นหมายถึงทรัพย์สินเกือบครึ่งที่เรามีอยู่ "ไม่ใช่ของเราโดยแท้จริง" แต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินของเจ้าหนี้ทั้งนั้น


สัญญาณที่ 2 จำไม่ได้ว่า มีหนี้อยู่ทั้งหมดเท่าไหร่ : คนแบบนี้มีอยู่จริง เพราะเคยเจอกับตัวเองมาหลายครั้ง ถามว่า "มีหนี้ทั้งหมดเท่าไหร่" จะได้วางแผนแก้ไขได้ เจ้าตัวกลับบอกว่า "จำไม่ได้" อาจจะเป็นไปได้ว่า หนี้มันมากมายหลายเจ้า จนนับไม่ถูก และก็อาจจะเป็นไปได้ว่า แกล้งลืมๆ มันไป จะได้สบายใจ


แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหน ถ้าจำไม่ได้ว่าหนี้ทั้งหมดมีอยู่เท่าไหร่ จะมีแต่เสียกับเสีย เพราะชีวิตจะขาดการวางแผน และอาจจะเผลอก่อหนี้เพิ่ม หรือลืมชำระหนี้ ทำให้เดือดร้อนหนักขึ้นกว่าเดิม


สัญญาณที่ 3 เริ่มกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้หนี้ : "เครดิต บูโร" บอกว่า หนึ่งในวิธีสุดคลาสสิคของคนรวยหนี้ ก็คือการกู้เงินจากแหล่งที่คิดว่า ประนีประนอมง่ายกว่ามาโปะหนี้ส่วนที่ต้องรีบจ่าย ฟังดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ แล้วเป็นแค่การหนีปัญหาเฉพาะหน้า หากเป็นแบบนี้หลายงวดเข้า บัญชีหนี้สินก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย แค่เปลี่ยนเจ้าหนี้ไปเรื่อยๆ เท่านั้น


สัญญาณที่ 4 เริ่มกังวลว่าคนที่บ้านจะเห็นใบแจ้งหนี้ : เวลาไปรษณีย์มากดกริ่งหน้าบ้าน แล้วต้องรีบวิ่งไปรับใบแจ้งหนี้ของตัวเอง เอาไปซ่อนไว้ไม่ให้ครอบครัวเห็น แบบนี้เข้าข่ายอาการหนักแน่นอน


สัญญาณที่ 5 เริ่มผวาเวลามีเบอร์ไม่รู้จักโทรเข้ามา เพราะกลัวว่า เจ้าหนี้จะโทรมาทวงหนี้ : ถ้ามีอาการแบบนี้ ทั้งตัวเองและเจ้าหนี้ ก็น่าจะประเมินได้ในระดับหนึ่งว่า ความสามารถในการชำระหนี้ของเรานั้นถดถอยลงเหลือต่ำสุด แล้วจะใช้ชีวิตให้มีความสุขได้ยังไง


ลองสำรวจตัวเองให้ถี่ถ้วน แล้วสกัดตัวเองตั้งแต่สัญญาณที่ 1 และ 2 อย่าปล่อยให้ถลำลึกมาถึงสัญญาณที่ 3 ก็เท่ากับช่วยเหลือตัวเองให้หลีกเลี่ยงความเป็น "ใจเริง" ในเพลิงบุญไปได้มากแล้ว

logoline