svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เพื่อนบ้านปล่อยของเสียทั้งเสียงทั้งกลิ่น อย่าทำนิ่งฟ้องเอาผิดได้ !

18 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เพื่อนบ้านดีชีวิตไม่ต้องระทม แต่ถ้าเจอเพื่อนบ้านต่ำตม ไม่ต้องร้อนรนรีบไปฟ้องร้องแจ้งความเลย" อีกหนึ่งปัญหาโลกแตกสำหรับคนที่มองหาที่อยู่อาศัยแนวราบ นอกจากต้องดูโครงการ ดูทำเล ตรวจเช็คตัวบ้านแล้ว หนึ่งสิ่งที่ต้องทำการตรวจสอบเช่นกันก็คือ "เพื่อนบ้าน" อีกหนึ่งครอบครัวข้างเคียงที่ไม่รู้ว่าจะมาดีมาร้าย และเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบ ดังนั้นสิ่งที่แก้ไขปัญหานี้ได้ดีที่สุด หากต้องเจอเพื่อนบ้านนิสัยเสียคอยสร้างความเดือดร้อนให้อยู่ตลอดก็คือการงัดกฎหมายมาต่อกรกับคนเหล่านี้



ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากเพื่อนบ้านในทางกฎหมายที่พบเห็นได้บ่อย และเป็นข่าวใหญ่โตในปัจจุบันจะเป็นเรื่องของดินแดนกรรมสิทธิ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลังคาบ้าน รั้วบ้าน ต้นไม้ใหญ่ หรือ สิ่งต่างๆ อันเป็นการรุกล้ำดินแดนกรรมสิทธิ์ซึ่งมีผลโดยตรงทางกฎหมาย รวมไปถึงการจอดรถหน้าบ้านขวางทางเข้าออกก็ถือเป็นคดีอาญา ที่เจ้าพนักงานจำเป็นต้องรับเรื่องไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาเพื่อนบ้าน ทางเจ้าพนักงานมักจะมองเป็นเรื่องเล็กน้อย และไม่รับแจ้งความ แต่ในทางกลับกันปัญหาที่มาจากเพื่อนบ้านเหล่านี้จะเป็นการละเมิดกฎหมายตามมาตราต่างๆ และถือเป็นคดีอาญา หากเจ้าพนักงานไม่รับเรื่องจะถือว่าเป็นการผิดวินัยร้ายแรง หากพบเจอเจ้าหน้าที่ที่ไม่รับแจ้งความกรณีที่เป็นคดีอาญา สายตรงผู้กำกับร้องเรียนได้เลย

นอกจากที่กล่าวมาในเรื่องของการรุกล้ำดินแดนกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องมีที่มีผลทางกฎหมายโดยตรงแล้ว ปัญหากับเพื่อนบ้านก็ไม่ได้จบแค่นั้น หลายคนยังเจอเพื่อนบ้านตัวแสบ สร้างความเดือดร้อนทางด้านอื่นๆ โดยกระทำในดินแดนของตนเอง แต่มีผลกับบ้านเรือนข้างเคียงให้เดือดร้อน อาทิ กลิ่น เสียง และการสร้างความรำคาญอื่นๆ เช่น การเลี้ยงสัตว์ ซึ่งกรณีเหล่านี้ก็สามารถเกิดขึ้นเป็นคดีอาญา และทำการฟ้องร้องได้ ถึงแม้จะไม่ได้รุกล้ำดินแดนกรรมสิทธิ์ แต่ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิของบ้านพักผู้อยู่อาศัยหลังอื่นๆ ทีนี้สำหรับใครที่กำลังเจอเพื่อนบ้านตัวปัญหาสร้างความเดือดร้อนทางมลภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะเพื่อนบ้านหัวหมอที่อ้างว่ากระทำโดยจำเป็น อยู่ในพื้นที่บ้านของตัวเองไม่ได้ละเมิดสิทธิใคร หากเจอเพื่อนบ้านทำตัวฉลาดแกมโกงเช่นนี้ เตรียมงัดกฎหมายขึ้นมาใช้ได้เลย

เสียงและกลิ่นจากเพื่อนบ้าน ทางกฎหมายสามารถฟ้องร้องได้อย่างไร

เพื่อนบ้านปล่อยของเสียทั้งเสียงทั้งกลิ่น อย่าทำนิ่งฟ้องเอาผิดได้ !




ในกรณีของกลิ่นและเสียงที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนจากเพื่อนบ้าน เกิดได้หลายกรณีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ การประกอบกิจการ หรือเสียงรบกวนอื่นๆ อาทิ ปาร์ตี้สังสรรค์ ส่งเสียงดังจากความมึนเมาเป็นประจำ เป็นต้น กรณีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ถือเป็นการสร้างความเดือดร้อน และความรำคาญเข้าไปสู่ตัวบ้านของคนอื่น ซึ่งในกรณีที่นี้จะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ตามบทบัญญัติมาตราที่ 25 กำหนดว่า "ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อน แก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ต้องประสบกับเหตุนั้น ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่า เป็นเหตุรำคาญ เช่น แหล่งน้ำ ทางระบายน้ำ ที่อาบน้ำ ส้วม หรือที่ใส่มูล หรือเถ้า การเลี้ยงสัตว์ในที่ หรือวิธีใด หรือมีจำนวนเกินสมควร การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า ฯลฯ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ตามบทบัญญัติมาตรา 25" ดังนั้นหากรู้สึกว่าเพื่อนบ้านมีการกระทำดังกล่าวที่ส่งผลมาถึงบ้านของเราก็สามารถแจ้งความต่อเจ้าพนักงานและดำเนินคดีตามกฎหมายได้

กลิ่นและเสียงจากเพื่อนบ้าน ที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย เรียกร้องสินไหมทดแทนได้


เพื่อนบ้านปล่อยของเสียทั้งเสียงทั้งกลิ่น อย่าทำนิ่งฟ้องเอาผิดได้ !




ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 ได้บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดใช้สิทธิของตนจนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือ ได้รับความเดือนร้อนจากกลิ่น เสียง แสงสว่าง หรือมลภาวะใดๆ เกินกว่าที่บุคคลทั่วไปจะทนได้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น มีสิทธิกระทำการเพื่อป้องกันความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป อันเป็นการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนจากกลิ่น เสียง แสงสว่าง หรือมลภาวะนั้นให้มีสุขลักษณะที่ดี"

ปัญหานี้ส่วนใหญ่จะมาจากเพื่อนบ้านเข้ามาประกอบกิจการ ส่งเสียงรบกวนทั้งวันทั้งคืน รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ที่ส่งทั้งเสียง และกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ในกรณีนี้ ถ้าหากเกิดการฟ้องร้องขึ้น จำเลยหรือเพื่อนบ้านที่สร้างความเดือดร้อนจำเป็นจะต้องควบคุมและกำจัดสิ่งปฏิกูลเหล่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องขับไล่หรือย้ายสัตว์เลี้ยง และโรงงานของจำเลยไปที่อื่น เนื่องจากเป็นวิธีที่เกินความจำเป็นหากสามารถควบคุมสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นไม่ให้เกิดความเดือดร้อนได้

นอกจากนั้นหากกลิ่น เสียง แสงสว่าง สัตว์เลี้ยง สิ่งรบกวนอื่นๆ ที่เป็นมลภาวะก่อให้เกิดผลเสียที่ตามมาของสุขอนามัยของผู้อื่น รวมไปถึงสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ตามพฤติการณ์แห่งคดีต้องถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ว่าด้วย "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" ดังนั้นผู้ที่เดือดร้อนหรือบ้านข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบ จึงสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามเหมาะสมได้ด้วย

กลิ่นและเสียงจากเพื่อนบ้านที่ยังสร้างความเดือดร้อนไม่หยุดยั้ง ทั้งๆ ที่มีการฟ้องร้องไปแล้ว

เพื่อนบ้านปล่อยของเสียทั้งเสียงทั้งกลิ่น อย่าทำนิ่งฟ้องเอาผิดได้ !



สุดท้ายสิ่งที่ควรกันไว้ดีกว่าแก้สำหรับการฟ้องร้องคดีกับเพื่อนบ้านหัวหมอที่ทำเป็นนิ่งเฉย ไม่แก้ปัญหาที่ก่อไว้ โดยอ้างว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากคดีอาญาพ้นผิดสร้างความเดือดร้อนต่อไป ข้อกฎหมายที่ควรรู้ไว้จัดการกับคนเหล่านี้ก็คือ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 64 ว่าด้วย "บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากควารับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่า ตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็น ความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาล เชื่อว่า ผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นศาลจะลงโทษน้อย กว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"เมื่อเจ้าพนักงานมีคำสั่งออกมาไม่ว่าจะโทษหนักหรือเบา สิ่งที่เพื่อนบ้านตัวปัญหาจะต้องทำก็คือทำตามข้อกฎหมายคือควบคุมสิ่งรบกวนเหล่านั้นในได้ แต่ในกรณีที่เพื่อนบ้านไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น และมีการละเลยเหตุ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมวดที่ 5 มาตราที่ 28 กล่าวไว้ว่า "ในกรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในสถานที่เอกชน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้นระงับเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควรตามที่ระบุไว้ในคำสั่ง และถ้าเห็นว่าสมควรจะให้กระทำโดยวิธีใดเพื่อระงับเหตุรำคาญนั้น หรือสมควรกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในอนาคตให้ระบุไว้ในคำสั่งได้"ในกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นสำหรับในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นในสถานที่เอกชนอาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพหรือมีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะออกคำสั่งเป็นหนังสือห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้สถานที่นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน จนกว่าจะเป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าได้มีการระงับเหตุรำคาญนั้นแล้วก็ได้สำหรับใครที่งัดกฎหมายมาใช้กับเพื่อนบ้านถึงขั้นตอนนี้ต้องบอกเลยว่าเหมือนกับใช้ข้อกฎหมายมาขับไล่ หรือ บีบบังคับไม่ให้ก่อความรำคาญ ซึ่งถ้าเป็นภาษาทางธุรกิจ เรียกได้ว่า สั่งปิดบริษัท หรือ สั่งย้ายก็ว่าได้เลย ทั้งนี้เองถ้าหากต้องการตอกย้ำความสำเร็จในการฟ้องร้องควรทำคดีความให้มีน้ำหนักมากขึ้น โดยการรวบรวมเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบ และเดือดร้อนไปตามๆ กัน ไปร้องเรียนที่กรมสาธารณะสุข เทศบาล เจ้าพนักงาน หรือ ฟ้องร้องบังคับคดีต่อศาล คดีก็จะมีน้ำหนักมาก และบังคับให้เจ้าหน้าที่มีส่วนในการรีบจัดการปัญหาจากเพื่อนบ้านอย่างรวดเร็วเรื่องข้างต้นเขียนโดย กิตติคม พจนี Content Writer ประจำ DDproperty.com

บทความข้างต้นเผยแพร่ครั้งแรกที่ DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์ ที่รวบรวม ข่าวอสังหาฯ คู่มือซื้อขาย และ รีวิวโครงการใหม่ ไว้กว่า 10,000 บทความ

logoline