svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

แยก 5 บัญชี เงินทองครอบครัว พ่อแม่ไม่กลุ้ม ลูกไม่ต้องรับกรรม

09 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ลูกหนี้คนล่าสุดที่เพิ่งเจอ จริงๆ ก็มีชีวิตคล้ายๆ กับลูกหนี้คนอื่นๆ ครอบครัวแตกแยก ฐานะไม่ดี มีลูกหลายคน และลูกคนเล็กเจ็บป่วยอาการปางตายตั้งแต่อายุแค่ 5 เดือน

จะแตกต่างจากลูกหนี้คนอื่นอยู่บ้าง ก็ตรงที่เธอมีทัศนคติทางบวกในการใช้ชีวิต ทำให้มีสติพอจะประคองชีวิตให้ดีขึ้นได้บ้าง และนั่นทำให้เธอตัดสินใจให้โอกาสสามีที่เคยทิ้งเธอและลูกไป ให้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้งในฐานะพ่อแม่ของลูก
แต่เส้นความสัมพันธ์ในฐานะสามีภรรยานั้น เธอบอกว่า "มันแทบจะไม่เหลือแล้ว"
ทั้งคู่ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย โดยรายได้ของครอบครัวน่าจะอยู่ในราว 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน จะว่าไปก็พอกินพอใช้ได้สบาย ถ้าไม่มีหนี้สินที่ติดมาจากการกู้ยืมเงินเพื่อเลี้ยงดูลูกในช่วงที่สามีทิ้งไป
รวมถึงหนี้ที่เกิดจากการหยิบยืมมาเพื่อรักษาชีวิตลูกคนเล็ก ถ้าประหยัดกินประหยัดใช้จริงๆ ก็น่าจะเอาตัวรอดไปได้ มีเพียงประเด็นเดียวที่เป็นความไม่สบายใจส่วนตัว ก็คือ การที่เธอตัดสินใจให้ลูกสาวคนโตในวัย 19 ปีแต่งงาน เพราะต้องการ "ค่าดอง" หรือค่าสินสอดสำหรับเอามาใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลลูกคนสุดท้อง
เพราะหลายๆ กรณีที่พ่อแม่ผลักไสลูกให้แต่งงาน โดยที่ลูกอายุน้อย หรือลูกยังไม่พร้อม เพื่อแก้ปัญหาการเงินของครอบครัว จะเพราะต้องการเงินมาใช้จ่าย ใช้หนี้ใช้สิน หรือเพราะเลี้ยงดูต่อไปไม่ไหว
หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ เหล่านี้ล้วนเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ที่นำมาซึ่งปัญหาระยาว โดยเฉพาะกับชีวิตที่เหลือของลูก
กรณีที่เคยเจอแล้วรู้สึกว่าหนักหนามาก คือ แม่จับลูกสาววัยเพียง 12 ขวบให้แต่งงานกับผู้ชายที่อายุมากกว่า เพราะแม่มีเหตุผลว่า "เลี้ยงดูต่อไปไม่ไหวแล้ว" ต้องผลักให้คนอื่นเลี้ยงดูแทน ซึ่งแม่คิดว่า นี่คือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดแล้ว โดยไม่ได้นึกต่อไปในอนาคตว่า เด็กหญิงวัย 12 ขวบที่ยังไม่ประสาต่อโลก ต้องกลายเป็นแม่เมื่อเธออายุเพียงแค่ 13 ขวบ แล้วชีวิตที่เหลืออยู่ของเธอจะเป็นอย่างไร
ถ้าเลือกได้ ก็คงไม่มีครอบครัวไหนอยากเดินมาถึงจุดนี้ แต่ก็อย่าเพิ่งรีบบอกตัวเองว่า "เราเลือกไม่ได้" เพราะจริงๆ แล้ว เราสามารถป้องกันหายนะทางการเงินของครอบครัวได้ ด้วยการวางแผนการเงินฉบับครอบครัว
แต่จุดเริ่มต้นที่สำคัญ คือ ครอบครัวต้องมี "รายได้" และต้องทำให้รายได้มากกว่ารายจ่ายเสียก่อน ส่วนที่เหลือ ก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีเป้าหมายในการสร้างครอบครัวให้แข็งแกร่ง เพื่อส่งต่อความมั่นคงให้กับลูก
แน่นอนว่า จากเดิมที่เคยอยู่แบบโสดๆ หารายได้เอง กินเอง ใช้เอง เมื่อมีครอบครัวก็ต้องปรับตัวหลายอย่าง และต้องวางแผนเพื่ออนาคต คำแนะนำแบบกลางๆ สำหรับการบริหารจัดการเงินฉบับครอบครัวเรื่องแรกเลยก็คือ ต้องแยกบัญชีต่างๆ ให้ชัดเจนค่ะ บัญชีไหนของฉัน บัญชีไหนของเธอ และบัญชีไหนของเรา ทีนี้จะแยกกี่บัญชีดีล่ะ นี่เลยค่ะ แยกเป็น 5 บัญชีตามนี้เลยบัญชีที่ 1 : บัญชีใช้จ่ายส่วนตัว เป็นบัญชีที่ทั้งสามีและภรรยาควรแยกไว้สำหรับใช้จ่ายส่วนตัว ไม่นำไปรวมกับบัญชีอื่นๆ เพราะต่างคนต่างก็อยากมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองบ้าง
ดังนั้น เพื่อป้องกันความบาดหมางจึงควรแยกบัญชีให้ชัดเจนตั้งแต่แรก จะแยกไว้เป็นบัญชีออมทรัพย์เพื่อความคล่องตัวในการใช้จ่าย หรือจะแบ่งบางส่วนไปลงทุนหาผลตอบแทนเพิ่มเติมบ้างก็ได้ค่ะ
ต้องบอกก่อนค่ะว่า บัญชีนี้เป็นบัญชีเดียวที่แยกเป็นของฉันและของเธอ ส่วนที่เหลืออีก 4 บัญชี เป็นบัญชีของเราที่ต้องลงขันร่วมกันค่ะ
บัญชีที่ 2 : บัญชีใช้จ่ายของครอบครัว เป็นบัญชีที่สามีภรรยาร่วมกันลงขันเอาไว้ใช้จ่ายในครอบครัว ส่วนใครจะออกมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการจัดสรรและตกลงกัน เงินในส่วนนี้ควรจะเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ผูกกับบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตเพื่อให้กดเงินมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ และถ้ามีเงินเหลือจากการใช้จ่ายรายเดือน จึงค่อยโยกเงินที่เหลือนี้ไปไว้ในบัญชีลงทุนเพื่อวัยเกษียณต่อไป
บัญชีที่ 3 : บัญชีสำรองฉุกเฉิน บัญชีนี้มีไว้เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับครอบครัว เช่น เกิดเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ในบัญชีนี้ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัว
บัญชีที่ 4 : บัญชีลงทุนเพื่อวัยเกษียณ เป็นบัญชีที่สามีภรรยานำเงินมาลงทุนระยะยาว เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ ซึ่งเงินในส่วนนี้ควรจะแบ่งลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ ประเภท เช่น ตราสารหนี้ ประกันชีวิต ประกันบำนาญ หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ แต่จะลงทุนเป็นสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละครอบครัวบัญชีที่ 5 : บัญชีออมเงินเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เป็นบัญชีที่ควรออมเงินไว้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ซึ่งจะมีเวลาในการออมแตกต่างกันค่ะ เช่น ออมไว้เป็นค่าเทอมลูก หรือส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ หรือจะออมไว้สำหรับซื้อบ้านใหม่ ปรับปรุงบ้าน หรือซื้อรถใหม่ ก็ควรแยกไว้ให้ชัดเจนจะว่าไป ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายแทนหลายๆ ครอบครัวที่ไม่มีโอกาสได้จัดสรรเงิน แยกบัญชีหรือบริหารรายได้ เพื่อสร้างครอบครัวให้แข็งแกร่ง เหมือนกับสองครอบครัวแรกที่เราหยิบมาเป็นกรณีศึกษา
เพราะแค่เริ่มต้นก็ทำมาหากินยากลำบากแล้ว รายได้แต่ละเดือนก็น้อยกว่ารายจ่าย และจบลงที่การเป็นหนี้ ไม่นับรวมเหตุไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นในชีวิต
ดังนั้น หากย้อนมองตัวเองแล้วพบว่า เรายังมีโอกาส ก็ลงมือทำเถอะค่ะ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่พึงทำ เพื่อส่งต่อความมั่นคงในชีวิตให้กับลูก

logoline