svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ออมเงินจากแบงก์ 50 บาท แค่พอดี ยังไม่ดีพอ ไม่ตอบโจทย์ชีวิตหลังเกษียณ

02 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เคยเข้าไปอ่านเทคนิคการออมในรูปแบบต่างๆ ที่มีการแชร์กันในโลกโซเชียล พบว่า เทคนิคที่ได้รับการตอบรับมาก และดูเหมือนใครๆ ก็พยายามทำให้ได้ ก็คือ "การออมแบงก์ 50 บาท"

ประมาณว่า ถ้าได้รับเงินทอนหรือได้รับแบงก์ 50 บาทเมื่อไหร่ ให้เก็บทันที ห้ามเอาไปใช้เด็ดขาด
หลายๆ คนที่ออมแบบนี้ บอกว่า "ได้ผล" เพราะสามารถเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น จากเดิมที่ "เก็บเงินไม่อยู่" เอาเสียเลย ถ้าถามว่า ดีมั้ย ก็ต้องตอบว่า ดีค่ะ เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ออมเลย
แต่ถามว่า ออมแบบนี้มัน "พอมั้ย" หรือมันตอบสนองเป้าหมายในระยะยาวได้หรือไม่ ก็ต้องตอบตรงๆ ว่า "ไม่น่าจะ" เพราะถ้าเดือนไหน ไม่มีแบงก์ 50 บาทผ่านมือเลย ก็แปลว่า เดือนนั้น อัตราการออมของเราเท่ากับศูนย์
เคยถามคนที่ใช้วิธีออมด้วยการเก็บแบงก์ 50 บาทว่า ทำไมต้องเป็นแบงก์ 50 ทำไมไม่เป็นแบงก์ 100 หรือแบงก์ 500 จะได้ออมเงินได้เยอะๆ บางคนที่มองในแง่ "มูลค่า" บอกว่า เพราะการเก็บเงิน 50 บาท ดูพอเหมาะพอดี ถ้าเก็บแบงก์ 100 หรือแบงก์ 500 โดยเฉพาะแบงก์ 1,000 บาท อาจจะมีหวังอดตาย หรือถ้าเก็บแบงก์ 20 บาท ก็ดูจะมีมูลค่าน้อยเกินไป
ในขณะที่บางคนที่มองในแง่ "ปริมาณ" บอกว่า เพราะแบงก์ 50 หาได้ไม่บ่อย นานๆ เจอที ก็เลยเต็มใจเก็บ ไม่เหมือนแบงก์ 100 ที่ผ่านมือบ่อยมากคำถามก็คือ แล้วจริงๆ แบงก์ 50 บาท เป็นแบงก์หายาก หรือเป็นแบงก์ที่นานๆ เจอที จริงหรือไม่ ถ้าพิจารณาจากข้อมูลปริมาณธนบัตรหรือแบงก์ที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย ก็ต้องยอมรับว่า จริงค่ะข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุดประจำเดือนมีนาคม 2560 ระบุว่า ธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมีมูลค่าทั้งหมด 1.709 ล้านล้านบาท ส่วนแรกอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และอีกส่วนนั้นใช้หมุนเวียนเปลี่ยนมือให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย
ซึ่งส่วนที่สองนี้มีมูลค่า 1.583 ล้านล้านบาท แยกออกเป็นธนบัตรใบละ 1,000 บาท จำนวน 1,295.23 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่า 1.295 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 75.76% ของธนบัตรที่หมุนเวียนทั้งหมด ธนบัตรใบละ 500 บาท จำนวน 372.15 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่า 1.86 แสนล้านบาท หรือ 10.88% ของธนบัตรที่หมุนเวียนทั้งหมด ส่วนธนบัตรใบละ 100 บาท มีจำนวน 1,631.82 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท หรือ 9.54%ขณะที่ธนบัตรใบละ 50 บาท มีจำนวน 407.42 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่า 2.04 หมื่นล้านบาท หรือ 1.19% สุดท้าย คือ ธนบัตรใบละ 20 บาท ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 1,901 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่า 3.80 หมื่นล้านบาท หรือ 2.22% ที่จริง เรายังมีธนบัตรใบละ 500,000 บาท (ห้าแสนบาท ถูกต้องแล้วค่ะ) อีก 312 ใบ คิดเป็นมูลค่า 156 ล้านบาท รวมทั้งธนบัตรใบละ 80 บาท, 70 บาท, 60 บาท, 10 บาท, 1 บาทและ 50 สตางค์ด้วยนะคะ
ถ้าอ่านแบบนี้หลายคนอ่านจะงง ดังนั้น เพื่อความสะดวกลองจัดเรียงข้อมูลจากมากไปหาน้อย เราจะพบว่า ถ้าพิจารณาในแง่ของมูลค่าแล้ว ธนบัตรใบละ 1,000 บาท มีมูลค่าสูงสุด เพราะมีสัดส่วนปาเข้าไปถึง 75.76% ของธนบัตรที่ออกหมุนเวียนทั้งหมด รองลงมาเป็นธนบัตรใบละ 500 บาท, 100 บาท, 20 บาท และ 50 บาท (อยู่อันดับรั้งท้ายเลย)
ทีนี้ถ้าพิจารณาในแง่ปริมาณหรือจำนวนใบ ก็จะพบว่า แบงก์หรือธนบัตรที่มีจำนวนมากที่สุด เป็นแบงก์ 20 บาท ซึ่งมีจำนวนมากถึง 1,901 ล้านใบ รองลงมาเป็นแบงก์ 100 บาท และแบงก์ 1,000 บาท ส่วนที่มีจำนวนหมุนเวียนน้อยที่สุด 2 อันดับ ได้แก่ แบงก์ 50 บาท (จำนวน 407 ล้านใบ) และแบงก์ 500 บาท (จำนวน 372 ล้านใบ)
ดังนั้น ที่บอกกันว่า นานๆ จะเจอแบงก์ 50 สักที พอเจอแล้วต้องเก็บ ก็เป็นเรื่องจริงตามนั้นค่ะ
รู้แบบนี้แล้ว ต่อไปก็จะได้ไม่ต้องแปลกใจ เวลาเปิดกระเป๋าสตางค์ของเราดู แล้วพบว่า จะเจอแบงก์ 20 กับแบงก์ 100 บ่อยที่สุดและมากที่สุดแต่อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า การออมด้วยวิธีเก็บแบงก์ 50 บาทนั้น ไม่สามารถตอบโจทย์อะไรได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการออมเพื่อเหตุฉุกเฉิน หรือการออมเพื่อวัยเกษียณ อาจจะตอบโจทย์ได้บ้างก็เฉพาะเป้าหมายระยะสั้น ลองดูตัวอย่างว่า ถ้าเราเจอแบงก์ 50 บาททุกๆ วัน วันละ 1 ใบ หมายถึงเราออมวันละ 50 บาททุกวัน เราจะได้อะไรบ้างจากการออมแบบนี้
ธนาคารไทยพาณิชย์ลองทำโมเดลว่า ถ้าเราออมเงินวันละ 50 บาททุกวัน ภายใน 1 เดือน เราจะมีเงินออม 1,500 บาท สำหรับทานอาหารดีๆ ได้ 1 ครอบครัว ถ้าเก็บ 5 เดือน มีเงินออม 7,500 บาท จะซื้อคอร์สตรวจสุขภาพได้ 1 โปรแกรม ถ้าเก็บ 9 เดือน มีเงินออม 13,500 บาท จะเที่ยวกระบี่ พักโรงแรม 5 ดาวได้ 3 วัน
ถ้าเก็บ 12 เดือน มีเงินออม 18,000 บาท จะซื้อทริปเที่ยวเกาหลีได้ 5 วัน ถ้าเก็บ 15 เดือน มีเงินออม 22,500 บาท จะจ่ายค่าเช่าคอนโดมิเนียมได้ 2 เดือน และถ้าเก็บ 18 เดือน มีเงินออม 27,000 บาท จะซื้อสมาร์ทโฟนได้ 1 เครื่อง
"อานุภาพ" ของแบงก์ 50 มีเพียงเท่านี้ค่ะ มันอาจจะ "พอดี" เพราะมันไม่เหนื่อยไม่กดดันเราเกินไป แต่มันยังไม่ดีพอ เพราะมันตอบโจทย์ความเป็นอยู่หลังเกษียณ หรือตอบโจทย์เหตุไม่คาดฝันในชีวิตไม่ได้เลย
สิ่งที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ได้คือ ต้องออมก่อนใช้อย่างน้อย 10% ของรายได้ทุกเดือน ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และต้องเริ่มเดี๋ยวนี้ !

logoline