svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

3 หลักคิด-หลักปฏิบัติ ‘ออม’ ยังไง ไม่ต้อง ‘อด’

12 พฤษภาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เป็นความจริงที่ว่า ต่อให้คุณอ่านหรือฟังเรื่องการออมมากแค่ไหน แม่นทฤษฎีขนาดไหน คุณก็จะไม่มีวันรู้ถึงประโยชน์ของการออมที่แท้จริงได้ ตราบใดที่คุณยังไม่เจอบททดสอบที่เป็นวิกฤติของชีวิต

ดิฉันเคยเจอมาแล้ว เคยผ่านมาแล้ว และนั่นทำให้ดิฉันรู้ซึ้งถึงคุณค่าของการออมในทุกลมหายใจเข้าออก
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้พวกเราตกอยู่ในสถานะ "ตายหมู่" ที่ต้องตกงานก็ตกไป ที่ยังทำงานอยู่ก็ใช่ว่าจะมีเงินเดือน ดิฉันจำได้แม่นยำถึงความยากลำบากในภาวะที่เราต้องทำงานเพื่อรักษาสถานภาพทางการงาน โดยไม่ได้รับเงินเดือนแม้แต่บาทเดียว
เป็นเวลาสองเดือนเต็มๆ ที่ดิฉันไม่ได้รับค่าจ้างแรงงาน เพราะบริษัทที่ทำงานอยู่ในขณะนั้นไม่มีเงินจ่าย ในขณะที่รายได้เท่ากับศูนย์ แต่รายจ่ายทั้งค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำค่าไฟ ค่านมลูก ไม่ได้หยุดเดินตามรายได้
ดิฉันอาจจะเป็นผู้รอดชีวิตหนึ่งในไม่กี่คน ที่ยังมีกำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่านมลูก ได้ทั้งๆ ที่ไม่มีรายได้ ทั้งนี้ก็ด้วยอานิสงส์ของ "เงินออม" ที่ดิฉันมักเรียกติดปากมาถึงทุกวันนี้ว่า เป็น "บุญเก่า" ของตัวเอง
ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว รูปแบบการออมของดิฉันไม่มีอะไรพิเศษพิสดารเลย แค่ "ใช้ให้น้อยกว่าที่หาได้" มีเหลือเก็บฝากแบงก์ เป็นรูปแบบง่ายๆ ที่ทำให้รอดชีวิตมาได้ เป็นหนทางที่ดี แต่ก็ไม่ถึงกับดีที่สุด
ผ่านไป 20 ปี ต้องยอมรับว่า ระหว่างทางจากวันนั้นถึงวันนี้ หลักคิด "ใช้ให้น้อยกว่าที่หาได้" ยังคงเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือ ต้องวางแผนให้เป็นระบบมากขึ้น ไม่สะเปะสะปะ และนี่เป็นสิ่งที่อยากแชร์ให้ผู้อ่าน Money Care เผื่อว่า จะนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้บ้างค่ะ
เรื่องแรก ที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง คือ จากเดิม "ใช้ให้น้อยกว่าที่หาได้" ก็เปลี่ยนมา "เก็บหรือออมก่อนใช้" แม้ว่า จุดหมายปลายทางจะเหลือเงินออมเหมือนกัน แต่การ "ออมก่อนใช้" จะทำให้มีเงินออมแน่นอนกว่า และเราสามารถกำหนดได้เลยว่า จะออมเท่าไหร่
ดิฉันเลือกที่จะออม 10% ของเงินเดือนประจำ ดังนั้น เมื่อเงินเดือนออกทุกสิ้นเดือน ดิฉันจะถอนเงิน 10% ไปฝากบัญชีอีกบัญชีหนึ่ง แยกจากบัญชีเงินเดือนอย่างเด็ดขาด

เรื่องที่สอง หลังจากแยกบัญชีเงินออมออกไปแล้ว เงินส่วนที่เหลืออีก 90% ดิฉันจะวางแผนทางการเงินคร่าวๆ โดยจะคำนวณรายจ่ายประจำเดือนนั้นๆ เริ่มจากรายจ่ายประจำ ค่าบัตรเครดิต ค่าน้ำค่าไฟ ค่าผ่อนชำระอะไรต่อมิอะไร เงินเดือนแม่และเบี้ยเลี้ยงลูก พอคำนวณเสร็จ
เราจะรู้ทันทีว่า 90% ของเงินเดือนที่เหลืออยู่ เมื่อหักรายจ่ายเหล่านี้ออกไปแล้ว เดือนนั้นจะเหลือเงินสำหรับใช้จ่ายเท่าไหร่
พอเห็นเงินที่เหลือว่า มีมากพอที่จะซื้อเสื้อใหม่ 1 ตัว ดิฉันก็ซื้อ หรืออาจจะพอสำหรับซื้อกระเป๋าใหม่ 1 ใบ พอสำหรับการกินอาหารนอกบ้านมื้อแพงได้ 1-2 มื้อในเดือนนี้ หรืออาจจะพอสำหรับค่ากาแฟแพงๆ สัปดาห์ละ 1 แก้ว
เพียงแค่นี้เราก็สามารถ "ออม" ได้ โดยไม่ต้อง "อด" ไม่ต้องเบียดเบียนสิ่งที่เรียกว่า ความสุขของตัวเอง
เป็นการสร้างสมดุลให้เกิดระหว่างเงินในกระเป๋า เงินในบัญชี และความสุขในการใช้ชีวิต
แน่นอนค่ะ ว่าเงิน 90% หักค่าใช้จ่ายโน่นนี่ มันจะไม่เหลือทุกเดือนๆ หรอก เพราะบางเดือน มันมีค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเทอมลูก หรือบางเดือนก็มีรายจ่ายที่ไม่คาดคิด เช่น ค่าซ่อมบ้าน ค่าซ่อมรถ ซึ่งถ้าเดือนไหนมันไม่เหลือ ก็ต้องยอมใจว่า มันไม่เหลือจริงๆ
แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ใช่ไม่เหลือไปซะทุกเดือน และเดือนไหนที่ต้องใช้มาก เราดึง "บุญเก่า" มาใช้ เงินก็ไม่ถึงกับขาดมือเรื่องสุดท้าย ตรงนี้ดิฉันอาจจะโชคดีกว่าคุณๆ เพราะดิฉันมีรายได้หลายทาง นอกจากรายได้ประจำจากงานออฟฟิศแล้ว ยังมีรายได้จากการจัดรายการวิทยุ รายการทีวี การเขียนคอลัมน์ การเป็นผู้ดำเนินรายการ หรือวิทยากรรับเชิญ
หลักคิดเกี่ยวกับการจัดการรายได้ตรงนี้ไม่มีอะไรมากเลยค่ะ ดิฉันแค่ขีดเส้นแบ่งว่า อะไรที่เป็นรายได้พิเศษ ไม่ใช่รายได้จากงานประจำ บรรดารายได้พิเศษพวกนี้หามาได้เท่าไหร่ ก็เก็บทั้งหมด 100% เพราะเรามีรายได้จากการประจำเป็นลาภอยู่แล้ว
งานพิเศษต้องถือเป็น "อดิเรกลาภ" ไม่มีความจำเป็นต้องเอามาใช้จ่ายให้หมดไป
หลักคิดข้อนี้ สำหรับคนที่ซื้อหวยเป็นประจำแล้วเกิดถูกหวย ซึ่งถือเป็น "อดิเรกลาภ" จะเอาไปใช้ ก็ไม่ผิดกติกาค่ะ
ด้วยหลักปฏิบัติแบบนี้ ทุกวันนี้ดิฉันยังใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็นปกติ ไม่เคยชำระหนี้ขั้นต่ำ แต่ชำระเต็มวงเงินทุกครั้ง แปลว่า ไม่เคยเสียดอกเบี้ยผิดนัดชำระให้กับสถาบันการเงิน
ดิฉันยังคงพกบัตรเอทีเอ็มเป็นปกติ ไม่เคยจำกัดจำเขี่ยความสะดวกสบายของตัวเองว่า ต้องพกสมุดไปเบิกเงินที่แบงก์ เพื่อจะได้บีบตัวเองให้ประหยัด
จะออมได้แบบไม่ต้องอด ไม่ต้องเบียดเบียนตัวเอง มันอยู่ที่ใจ อยู่ที่วินัยเท่านั้น

logoline