svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ผ่อนบ้านไม่ไหว...จะทำยังไงดี?

06 พฤษภาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มีลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมรายการ "ทีเด็ดลูกหนี้" แล้วมีปัญหา "ผ่อนบ้านไม่ไหว" ซึ่งใครที่ติดตามรายการตลอด จะรู้ว่า ถ้าขึ้นเวทีด้วยปัญหานี้ ส่วนใหญ่ 90% ดิฉันจะกด "ไม่ผ่าน" ทั้งนั้น ที่เหลือรอดประมาณ 10% ถึงจะมีปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหวเหมือนกัน แต่รายละเอียดมันต่างกัน เช่น มีอุบัติเหตุบางอย่างเกิดขึ้นรุนแรงเกินกว่าที่ประมาณไว้ แบบนี้ต้องช่วยค่ะ

ส่วนที่ "ไม่ช่วย" เพราะหลักคิดของดิฉัน คือ หนึ่ง - ถ้าเราจะก่อหนี้ โดยเฉพาะหนี้บ้าน ซึ่งอาจจะเรียกว่า เป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดแล้วสำหรับคนทั่วไป (รองลงมาจากหนี้ธุรกิจ ซึ่งนั่นมันสำหรับเจ้าของธุรกิจ) คงไม่มีใครผลีผลาม วู่วาม โดยไม่วางแผนการเงินให้รอบคอบรัดกุมเสียก่อน ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ เรามีรายจ่ายเท่าไหร่ เรามีเงินเหลือสำหรับผ่อนบ้านเท่าไหร่ เพราะชีวิตจริงไม่เหมือนละครที่เวลาบ้านนางเอกล้มละลาย ถูกยึดบ้าน ยึดทรัพย์สิน แล้วจะมีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย ได้บ้านหลังใหญ่คืน ได้สามีรวยเป็นของแถม แล้วจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง

และสอง - ถ้าเราจะช่วยเหลือคนที่ซื้อบ้าน แต่ผ่อนบ้านไม่ไหว ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองยังพอมีกำลัง ก็คงต้องมีลูกหนี้เป็นแสนคนหรืออาจจะเป็นล้านคนมายืนต่อคิวเข้ารายการหลักคิดสำคัญที่สุดก่อนการตัดสินใจเป็นหนี้ คือ ต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด และหวังพึ่งพิงคนอื่นให้น้อยที่สุด
ถ้าจะพูดถึงปัญหาเรื่องการซื้อบ้านหรือผ่อนบ้าน เราต้องแยกเป็น 2 ระยะค่ะ ระยะแรก คือ "ระยะกันไว้ดีกว่าแก้" เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองก่อนกระโดดเข้าสู่วงโคจรของการเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ระยะนี้ต้องบอกว่า เป็นระยะก่อนสร้างหนี้ ซึ่งถ้าเตรียมให้พร้อม เมื่อเป็นหนี้แล้ว เวลามีปัญหา ไอ้เจ้าภูมิคุ้มกันเหล่านี้แหละที่จะช่วยเราได้มาก

ภูมิคุ้มกันประการที่ 1 : เลือกดาวน์ก้อนใหญ่ เพราะเงินดาวน์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คนกู้ซื้อบ้านจะต้องมี เนื่องจากโดยปกติแล้ว ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อบ้านประมาณ 80% ของราคาบ้าน ดังนั้น ลูกหนี้หรือผู้กู้ก็จะต้องเตรียมเงินดาวน์บ้านไว้อย่างน้อย 20% ของราคาบ้าน เช่น ถ้าอยากซื้อบ้านราคาหลังละ 5 ล้านบาท เราควรมีเงินดาวน์ไว้อย่างน้อย 1 ล้านบาทหากกู้ระยะ 30 ปี ต้องผ่อนเดือนละประมาณ 28,000 บาท เราก็จะต้องมีรายได้อย่างน้อย 70,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้มีความสามารถในการผ่อนชำระได้อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าปัจจุบันเรามีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 50,000 บาท เราจะสามารถกู้ได้เพียง 2.85 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการบ้านราคา 5 ล้านบาทจริงๆ เราก็ต้องเพิ่มเงินดาวน์ให้มากขึ้นจาก 1 ล้านบาท เป็น 2.15 ล้านบาท เพื่อให้ภาระผ่อนชำระต่อเดือนลดลง จะได้มีแรงผ่อนไหว
ภูมิคุ้มกันประการที่ 2 :คือ เพิ่มพลังความสามารถในการผ่อน โดยหาผู้กู้ร่วม สำหรับใครที่ติดปัญหาเรื่องเงินดาวน์บ้าน ไม่สามารถหาเงินมาดาวน์เพิ่มได้ อีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้กู้ผ่านและผ่อนไหว คือ การกู้ร่วม โดยหาคนที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติมากู้ร่วมได้อีก 2 คน เช่น พ่อแม่ สามีภรรยา พี่น้อง หรือลูก เป็นต้น สมมติว่า เลือกกู้ร่วมกับน้อง โดยที่เรามีรายได้เดือนละ 50,000 บาท ส่วนน้องมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท รายได้รวมกันเท่ากับ 80,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่เพียงพอต่อการกู้ซื้อบ้านราคา 5 ล้านบาท แต่ทั้งสองคนนั้น ก็จะไม่ควรมีภาระผ่อนจ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนรถ หรือผ่อนบัตรเครดิตต่างๆ รายเดือน เพราะจะทำให้ความสามารถในการผ่อนบ้านของเราลดน้อยลงไปด้วยมีข้อควรระวังสำหรับกรณีกู้ร่วมว่า ต้องไว้เนื้อเชื่อใจกันได้จริงๆ นะคะ เพราะทรัพย์สินมันเป็นชื่อร่วมกัน ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จะกลายเป็นเรื่องวุ่นวายภายหลัง และอีกเรื่องคือ เราใช้ชื่อผู้กู้ร่วมเพื่อให้แบงก์อนุมัติเงินกู้ แต่เมื่อถึงเวลาผ่อนต่อเดือน แล้วถ้าเราต้องผ่อนคนเดียว จะไหวหรือไม่ ต้องคิดให้รอบคอบค่ะ
ภูมิคุ้มกันประการสุดท้าย คือ ลดขนาดบ้านให้เล็กลง ถ้าหาเงินก้อนมาดาวน์บ้านเพิ่มในจำนวนมากไม่ไหวจริงๆ และไม่สามารถหาคนมากู้ร่วมด้วย วิธีที่จะช่วยให้เรากู้บ้านผ่าน ผ่อนไหว และมีบ้านเป็นของตัวเองได้ ก็คือ การลดขนาดความต้องการของตัวเองลง ให้อยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปได้จริงๆ เช่น จากบ้านราคา 5 ล้านบาท อาจลดเหลือบ้านราคา 3.5 ล้านบาท ซึ่งทำให้เราเตรียมเงินดาวน์น้อยลง คือเตรียมเพียงแค่ 700,000 บาท และกู้ธนาคารอีกเพียง 2.8 ล้านบาท นอกจากเงินดาวน์ที่น้อยลงแล้ว เงินผ่อนต่อเดือนยังน้อยลงด้วย โดยที่เราเองสามารถผ่อนบ้านคนเดียวไหว ไม่ต้องหาใครมากู้ร่วม ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตเรายืดหยุ่นมากขึ้น
หัวใจสำคัญของ "ระยะกันไว้ดีกว่าแก้" คือ ต้องมั่นใจว่า เรามีความสามารถในการผ่อนชำระได้แน่ๆ ซื้อบ้านในราคาที่เหมาะสมกับฐานะการเงินของตัวเอง คิดไว้ว่า เรามีบ้านเพื่ออยู่อาศัย เป็นบ้านจากน้ำพักน้ำแรงของเรา ไม่ต้องอวดร่ำอวดรวย อวดใหญ่โตเกินฐานะ

ส่วนระยะที่สอง ซึ่งเป็นระยะวิกฤติ "แย่แล้ว ต้องแก้ให้ทัน" คือ เมื่อผ่อนบ้านมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่มีปัญหาทางการเงินจนไม่สามารถผ่อนต่อได้ สิ่งที่ทำได้และควรทำ คือ ต้องเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินค่ะ ต้องปรึกษาและหาทางออกร่วมกัน อย่าคิดว่าเจ้าหนี้เป็นศัตรูคอยจ้องจะฟันเราอย่างเดียว วิธีการก็มีทั้งการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไป เพื่อให้ยอดผ่อนต่อเดือนลดลง แต่วิธีนี้เหมาะสำหรับลูกหนี้ที่อายุไม่มากนัก หรืออาจจะขอรีไฟแนนซ์ เพื่อลดดอกเบี้ย แต่ต้องศึกษาว่า ดอกเบี้ยใหม่ที่ได้รับจะลดลงคุ้มหรือไม่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายสำหรับการรีไฟแนนซ์ เช่น ค่าธรรมเนียมประเมินหลักประกัน ค่าธรรมเนียมในการจดจำนอง และอีกวิธีหนึ่ง คือ ถ้าหนี้เหลือไม่มาก อาจจะลองหาเงินกู้จากแหล่งอื่นที่เรามีสวัสดิการ (แต่อัตราดอกเบี้ยต้องต่ำกว่าที่เราจ่ายอยู่นะคะ) แล้วเอามาโปะหนี้บ้าน
จริงๆ ถ้าทำได้ตามระยะ "กันไว้ดีกว่าแก้" ก็ช่วยความเสี่ยงที่จะเกิดระยะ "แย่แล้ว ต้องแก้ให้ทัน" ไปได้มาก ยิ่งถ้าผนวกกับการสร้างวินัยให้ตัวเองด้วยการออมเงินในบัญชีสำรองฉุกเฉินไว้ 6 เท่าของรายจ่ายแต่ละเดือนด้วยแล้ว ปัญหา "แย่แล้ว ต้องแก้ให้ทัน" จะมีโอกาสเกิดกับเราน้อยมากค่ะ

logoline