svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ยื่นกว่า 2 แสนรายชื่อทั่วโลก หนุนถอนใบอนุญาตตั้ง "สวนเสือ"กาญจนบุรี

21 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ (21 เม.ย.2560 ) นายสุนทร ฉายาวัฒนะ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นตัวแทนรับมอบรายชื่อ 212,318 รายชื่อจากประชาชนทั่วโลก ที่ต้องการให้กรมอุทยานฯ ตรวจสอบ หรือยกเลิกใบอนุญาตการประกอบกิจ การสวนสัตว์สาธารณะสวนเสือ กับนิติบุคคลที่เคยเกี่ยวกับคดีวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือวัดเสือ จ.กาญจนบุรี

นางสุภากรณ์ ลาสต์ ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย บอกว่า ค่อนข้างกังวล หลังจากพบว่าบริษัทไทเกอร์ เทมเปิ้ล จำกัด นิติบุคคลที่เคยได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสวนสัตว์สาธารณะ จากกรมอุทยานฯเมื่อปี 2559 ไปเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท โกลเด้น ไทเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้อนุมัติคำขอเปลี่ยนชื่อบริษัทไทเกอร์ เทมเปิ้ล จำกัด  เป็นบริษัทโกเด้น ไทเกอร์ (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2560 จึงห่วงว่าความพยายามจะเดินหน้าตั้งสวนเสือใกล้กับวัดป่าหลวงตาบัวฯ และเพียงไปเปลี่ยนชื่อนิติบุคคล อาจจะเกิดปัญหาการทรมานเสือ อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับเสือ ของกลางทั้ง 147 ตัว และไทยก็ถูกจับตาจากทั่วโลกในประเด็นนี้ชี้ "โกลเด้นท์ ไทเกอร์"แค่ชื่อใหม่ของไทเกอร์ เทมเปิ้ล 

"จากการตรวจสอบของทนายความแล้วพบว่า ใบอนุญาตให้จัดตั้ง และดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้จดทะเบียนและหุ้นส่วนยังคงเป็นนิติบุคคลรายเดิม เพราะใช้ใบอนุญาตที่เคยได้จากกรมอุทยานฯ  ไปยื่นขอเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โกลเด้น ไทเกอร์ (ประเทศไทย)  ซึ่งปัจจุบันกำลังก่อสร้างสถานที่แห่งใหม่ในจังหวัดกาญจนบุรี  ถ้ายังให้ ดำเนินการต่อไปได้ จะมีความเสี่ยงต่อการกระทำความผิดซ้ำที่เคยทารุณกรรมเสือและค้าเสือโคร่ง  จึงขอให้กรมอุทยานตรวจสอบและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสวนเสือในกรณีพิเศษแห่งอื่นๆ พร้อมกับณรงค์ไปทั่วโลกให้ความสนใจและร่วมสนับสนุนส่งรายชื่อรวมกว่า 2 แสนรายชื่อ ส่วนใหญ่เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก คอสตาริกา สวีเดนที่ร่วมรณรงค์"นางสุภากรณ์ ระบุ

ขณะนี้ เสือของกลางถูกย้ายไปอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯแล้วก็ตาม  แต่บริษัท โกลเด้น ไทเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งปัจจุบันเดินหน้า ก่อสร้างสวนสัตว์ กรงเลี้ยงสัตว์ในสถานที่แห่งใหม่ไปอย่างรวดเร็ว  

 นายสุนทร ฉายวัฒนะ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า  บอกว่า ขณะนี้ต้องตรวจสอบว่าขั้นตอนทางกฎหมาย สามารถให้เปลี่ยนแปลงชื่อผู้ครอบครองใบอนุญาต ประกอบกิจการสวนเสือได้หรือไม่ ก็ยังต้องให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย โดยจะนำเรื่องนี้เสนอผู้บังคับบัญชาให้มีการตรวจสอบอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดทำมาตรการ ควบคุมเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดอีก เช่น ไม่ให้มีการเพาะขยายพันธุ์เสือโคร่งในสถานประกอบการ และมีการจัดทำฐานข้อมูลเสือโคร่ง ที่บันทึกลายของเสือทุกตัว การเก็บเลือดเสือเพื่อจัดทำข้อมูลดีเอ็นเอ และการฝั่งชิบติดตามตัวเสือ นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบให้ผู้ประกอบการสวนสัตว์ต้องแจ้งเกิดและตายภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

logoline