svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

สำเร็จได้ เมื่อลงมือทำ

15 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด เพิ่งจะปิดฉากไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการสรุปตัวเลขผู้เข้าร่วมงานว่า เกินกว่าความคาดหมาย โดยมีจำนวนผู้เข้าชมงานราว 1.6 ล้านคน ดิฉันก็เป็นหนึ่งในจำนวนดังกล่าว เพราะปีนี้มีโอกาสแว๊บเข้าไปเดินดูหนังสืออยู่ประมาณครึ่งค่อนวัน

จริงๆ ปีนี้ ที่แวะเวียนไปงานหนังสือมีเป้าหมายแตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา เพราะทุกปีจะไปซื้อหนังสือให้ตัวเอง แต่ปีนี้ความตั้งใจหลักคือ อยากไปหาซื้อหนังสือด้านการเงิน-การลงทุน 4-5 เล่มสำหรับใช้แนะนำในรายการ "เงินทองต้องรู้" ซึ่งจะจัดเป็นรูปแบบ "ภาคพิเศษ" เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 เมษายนจนถึงศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม โดยตลอดหนึ่งเดือนนี้ จะมีกิจกรรม "หนังสือดีส่งฟรีถึงบ้าน" ด้วยค่ะ

พอรู้เป้าหมายแล้ว การเดินในงานสัปดาห์หนังสือก็ไม่ต้องสะเปะสะปะ เพราะรู้อยู่แล้วว่า หนังสือประเภทนี้ มีสำนักพิมพ์ไหนที่เน้น เราก็พุ่งไปที่บูธของสำนักพิมพ์นั้นแหละค่ะ

สรุปว่า เดินวนอยู่ 2-3 บูธ ซื้อหนังสือมาได้ 5 ปก เป็นของตลาดหลักทรัพย์ฯ 4 ปก ได้แก่ หนังสือ 40+ ยังไม่สาย เกษียณสบายเป็นจริงได้, โสดแสนสุข ชีวิตอิสระ, เกษียณสุขอย่างไร แม้ไร้ทายาท และหนังสือตามหาหุ้นตัวแรก ส่วนอีก 1 ปก เป็นหนังสือชื่อ "100 ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์"

สำเร็จได้ เมื่อลงมือทำ



เรื่องของเรื่องที่ทำให้ต้องเขียนเรื่องไปงานสัปดาห์หนังสือใน Money Care : รู้ไว้ ใส่ใจเงิน วันนี้ ก็เพราะหลังจากซื้อหนังสือมาแล้ว ก็จัดแจงถ่ายรูปโพสต์ในโซเชี่ยล ทั้งเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม และไลน์ โพสต์ลงไปไม่กี่นาทีก็มีเพื่อนส่งข้อความมาถามถึงหนังสือ "40+ ยังไม่สาย เกษียณสบายเป็นจริงได้" เขียนโดย ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ว่า "ลองอ่านแล้วยัง ดีมั้ย ถ้าดี จะซื้อมาอ่านบ้าง"

พอเจอคำถามแบบนี้ปุ๊บ มันจิ๊ดใจปั๊บเลยค่ะ เพราะคนถามมีทั้งความรู้ ความเข้าใจเรื่องการลงทุน มีทั้งประสบการณ์ในแวดวงหุ้น-การเงินมาเกิน 20 ปี อุปสรรคเรื่องความรู้ความเข้าใจนั้น ไม่มีแล้ว เหลืออุปสรรคเดียวที่มี คือ "ไม่ยอมลงมือทำเสียที"

อารมณ์เสีย (ตามวิสัย) ไปสักพัก ลองหยิบหนังสือเล่มนี้มาเปิดอ่าน แทบร้องกริ๊ด เพราะต้องบอกเลยว่า เป็นหนังสือที่เหมาะกับคนถามจริงๆ ! เพราะหนังสือเล่มนี้จี้จุดไปที่ "การไม่ยอมลงมือทำเสียที"

มีความจริงที่น่าตกใจอยู่ 2 เรื่องค่ะ หนึ่ง คือ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2583 หรืออีก 23 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะมีอายุ 65 ปีหรือมากกว่านั้น เป็นจำนวนถึง 17 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ และสอง คือ คนไทยส่วนใหญ่เริ่มคิดวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณก็ต่อเมื่ออายุเลย 40 ปีไปแล้ว ซึ่งเป็นการเริ่มต้นวางแผนที่ช้าเกินไป

สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการวิจัยในหัวข้อ "การเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 40-60 ปี" โดยสำรวจความคิดเห็นของพนักงานบริษัทเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ และข้าราชการ ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 825 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2555 พบว่า คนไทยเริ่มวางแผนทางการเงินตอนอายุ 42 ปี !! ช้ากว่ามากเมื่อเทียบกับคนอเมริกันที่เริ่มวางแผนการเงินตอนอายุ 30 ปี

งานวิจัยชิ้นนี้นอกจากจะบอกว่า คนไทยวางแผนทางการเงินช้าเกินไปแล้ว ยังบอกด้วยว่า เหตุผลที่ "เริ่มช้า" ของกลุ่มตัวอย่าง เพราะบางคนมีความมั่นใจมากเกินไป ว่าตัวเองจะมีเงินมากพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ ขณะที่หลายๆ คนยอมรับว่า ไม่มีความเข้าใจในการวางแผนการเงิน บางคนก็ประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินไป บางคนเชื่อว่าอีกไม่นานก็ตาย อายุสั้น อยู่ไม่นาน ไม่ทันได้ใช้เงิน ส่วนบางคนที่ลงมือออมเงินแล้ว แต่ก็น้อยเกินไป จนไม่พอใช้หลังเกษียณ

สำเร็จได้ เมื่อลงมือทำ



"เท่าไหร่ถึงพอ" หลังเกษียณ เป็นคำถามยอดฮิต คิดง่ายๆ ค่ะว่า ถ้าวันนี้เราอายุ 40 ปี เรามีเวลาทำงานอีก 20 ปี และหลังเกษียณ (ซึ่งแปลว่า วันนั้นเราไม่มีรายได้แล้ว) เราจะอยู่ต่ออีกกี่ปี ถ้าคิดแบบสั้นมาก ว่าจะอยู่อีก 10 ปี ก็คิดต่อว่า อยากใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ ถ้าต้องการใช้เดือนละ 15,000 บาท (วันละ 500 บาท) เท่ากับว่า เราต้องมีเงินก้อน 1.8 ล้านบาท (15,000x12x10) แต่ถ้าเราคิดว่าเราจะอายุยืนกว่านั้น เช่น อายุยืนถึง 80 ปี ก็ต้องมีเงินก้อนก่อนเกษียณ 3.6 ล้านบาท หรือถ้าต้องการมีเงินใช้ต่อเดือนมากกว่านั้น เราก็ต้องมีเงินก้อนมากกว่านั้น

ต้องทำใจว่า เมื่อเราเริ่มช้ากว่า เราก็ต้องใช้พลังมากกว่า ต้องพยายามเยอะกว่า ดิฉันเคยเขียนถึงพระเอกผู้ล่วงลับอย่าง "ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์" ว่า ตอนที่ปอเข้าเป็นนักแสดงฝึกหัดของช่อง 3 เขาอายุมากที่สุดในรุ่น เมื่อรู้ว่าตัวเองเริ่มต้นช้ากว่าน้องๆ ปอก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนเฉพาะในคลาสเท่านั้น แต่ยังเรียนแอคติ้งเพิ่มเติม ต้องฝึกซ้อม ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นพระเอกแถวหน้าได้ในที่สุด

คงจะเหมือนกับที่ ดร.อัจฉรา เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ โดยยกพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า "รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์แก่ชีวิตตน ก็ควรรีบลงมือทำ"เพราะประโยชน์จะสำเร็จได้ เมื่อลงมือทำ !!! จริงๆ ค่ะ

logoline