svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กลิ่น... ของเทศกาล

11 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยิ่งใกล้วันสงกรานต์ เทศกาลปีใหม่ไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 หลายคนมองหาอะไรที่ย้อนยุค เพื่อให้ตัดกันกับความทันสมัยที่ตัวเองกำลังเป็น ทั้งเรื่องเสื้อผ้าที่สวมใส่ ผ้าถุงลายดอกลายไทย ถือปิ่นโต หิ้วตะกร้าหวายไปวัด ถ่ายรูปย้อมสีให้ดูวินเทจเก่าๆ แล้วอัพขึ้นโซเชี่ยล

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นการสัมผัสที่มองเห็นได้ด้วยตา แต่ถ้าจะให้เต็มอิ่มกับความเป็นไทย "กลิ่น" ก็เป็นอีกหนึ่งการสัมผัสที่ช่วยให้เทศกาลแบบไทยๆ สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
สัปดาห์ก่อนที่จะถึงวันสงกรานต์ รังได้ไปร่วมกิจกรรมการทำ "น้ำอบไทย สูตรต้นตำรับชาววัง" ที่สถาบันเวชศาสตร์ความงงามแผนไทย โถแก้วใบใหญ่ที่ข้างในเป็นน้ำสีเหลืองทอง เกิดจากสีเหลืองของชะลูดเส้นและสีเขียวของใบเตยหอม ผ่านกรรมวิธีที่รู้สึกว่ายากแต่เต็มไปด้วยความละเมียดละไม สีน้ำคุ้นตามากแค่เห็นก็รู้สึกไทยแล้ว และยิ่งเมื่อเปิดฝา กลิ่นที่ลอยออกมาแตะจมูกโดยไม่ต้องพยายามก้มลงไปดม กลิ่นที่คุ้นจมูกเหลือเกิน กลิ่นนั้นก็เปิดลิ้นชักความทรงจำให้ย้อนกลับมา

กลิ่น... ของเทศกาล


... ตอนเล็กๆเชื่อว่าหลายคนคงคุ้นกับกลิ่นนี้รายวันเลยหล่ะค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาวในวัยเลยหลักสี่ เพราะน่าจะเป็นเครื่องประทินผิวของคุณแม่ คุณย่า คุณยาย แต่พอเวลาล่วงมาสักยี่สิบกว่าปีให้หลังเหมือนว่า "น้ำอบไทย" บทบาทจะลดลงในชีวิตประจำวัน เหลือแค่ พิธีมงคล ใช้เจิมของใหม่ เช่น บ้าน รถ สามีหรือภรรยา (คนในพิธีแต่งใหม่หรือเก่าก็ต้องใช้ค่ะ) ทำความสะอาดพระพุทธรูป สรงน้ำพระ รดน้ำขอพร จะได้กลิ่นอีกทีก็โน้น... ต้องรอให้บ้านมีงานหรือเทศกาลแบบไทย
ในช่วงอายุวัยยี่สิบตอนปลายก็สัมผัสได้เท่านี้หล่ะค่ะ จะมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งเต็มที่จากอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อได้เข้ามาสัมผัสเห็นวิธีการทำแล้ว จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ที่แน่ๆ คนที่ทำต้องมีความอดทน ใส่ใจ เข้าใจ จดจำมากเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่ "การอบดอกไม้สด" ดอกไม้ที่เลือกใช้อย่างดอกมะลิ กุหลาบมอญ กระดังงา จำปา พิกุล ก็ต้องมีเทคนิคในการใช้ ในขั้นตอนลอยดอกไม้ต้องวางอย่างเบามือ ห้ามโยนลงน้ำแรงๆ ดอกจะช้ำ

กลิ่น... ของเทศกาล


และที่สำคัญดอกที่หอมตอนค่ำต้องเก็บตอนค่ำ (อันนี้จำมาจากโฆษณา แหะๆ) ต้องลอยดอกไม้ตอนค่ำ ปิดฝา ทิ้งไว้ข้ามคืน เช้ามาถึงจะหอม พอสายหน่อยก็ค่อยๆช้อนเอาดอกไม้ออกแล้วน้ำไปต้มในขั้นตอน "การชงน้ำอบ" ต้มน้ำลอยดอกไม้ให้เดือดจัด หม้อเคลือบอีกใบใส่ใบเตยหอม ชะลูดเส้น ไม้แก่นจันทน์เทศ เตรียมรอไว้แล้วเอาน้ำเดือดๆ เทใส่ ปิดฝาให้กลิ่นอบอวล ทิ้งไว้จนเย็นกรองใส่โหลใบใหม่
แล้วก็มาเริ่ม "อบร่ำเครื่องกำยาน" โดยผสม กำยาน น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาว ผิวมะกรูด ขี้ผึ้งแท้ น้ำมันจันทร์ ป่นรวมกันเป็นชิ้นเล็กๆผสมใส่ถ้วยรอไว้ นำตะคันไปเผาไฟแต่อย่าให้แดงจัดเพราะจะทำให้เครื่องปรุงไหม้ พอร้อนได้ที่เอามาวางบนทวนที่อยู่กลางหม้อที่ชงน้ำอบแล้ว ตักกำยานใส่ตะคันที่กำลังร้อนๆ แล้วรีบปิดฝารอจนควันหมดครบ 1 รอบ เรียกว่า 1 ตั้ง ทำสัก 5-7ตั้งขึ้นไปกำลังดี

กลิ่น... ของเทศกาล


พอถึงช่วงเย็นก็เริ่ม "อบควันเทียน" หม้อเดิมนั่นหล่ะค่ะ แค่ไม่ต้องเอาตะคันไปเผาไฟ ประเดี๋ยวเทียนอบจะกลายร่างหมดความหอม ดับเทียนอบแล้วรีบปิดฝา รมควันให้หอมตลบอบอวลอยู่ในหม้อ กลางคืนลอยดอกไม้ สายๆ อบร่ำเครื่องกำยาน เย็นมาอบควันเทียน
ทำแบบนี้วนไปสัก 3 วันค่อยนำมา "ปรุงกลิ่น" โดยนำแป้งร่ำ พิมเสน ชะมดเช็ด(ที่ฆ่ากลิ่นสาบแล้ว) หัวน้ำหอม(แนะนำกลิ่นดอกไม้9กลิ่น) และไฮยาซิน บดในโกร่ง คนไปในทิศทางเดียวกัน และผสมลงไปในน้ำที่เตรียมไว้ โกรกด้วยการตักเท(แบบชาชักแต่ไม่ต้องสูงขนาดสุดแขน) แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง กรอกใส่บรรจุภัณฑ์เป็นอันเสร็จพิธี เป็นไงคะ อ่านแล้วพอจะทำไหวมั้ย

กลิ่น... ของเทศกาล


ความใส่ใจและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษผู้คิดค้น ทำให้เคยได้ยินคำพูดที่ว่า สาวชาววังนี่นั่งที่เรือนไหนก็ "หอมติดกระดาน" เนื่องจากสมัยก่อนสาวชาววังจะใช้น้ำปรุงแต้มที่ผิว ใส่ผม และ อบร่ำเสื้อผ้าที่สวมใส่ เวลาไปนั่งคุยที่เรือนไหน พอลากลับไปแล้ว กลิ่นยังติดกระดานอยู่เลย เฉกเช่นบางส่วนในบทประพันธ์เรื่องสี่แผ่นดิน
"...พลอยสังเกตเห็นแม่แต่งตัวประณีตเป็นพิเศษ ไม่แต่งลวกๆเหมือนกับอยู่ที่บ้าน แม่ทาน้ำอบไทยทั่วตัว แล้วก็เอาพัดๆจนแห้ง แต่แล้วก็ทาน้ำอบทับอีกตลบหนึ่ง จึงได้ลงแป้ง..."

กลิ่น... ของเทศกาล


จะเห็นได้ว่า "น้ำอบไทย" เป็นกลิ่นที่คนไทยรู้สึก "ไทย" โดยไม่ต้องอธิบายมาก แต่ในเมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความเป็นไทยเหลือไว้เพียงเทศกาลเท่านั้น
หากได้กลิ่นน้ำอบไทยในช่วงเวลาปกติ คนอาจจะนึกไปถึงเรื่องลี้ลับก็เป็นได้... เฮ้อออ ว่าแล้วก็ขอใส่ผ้าถุง เสื้อคอกระเช้า แล้วฉีด No.5 ไปเล่นน้ำสงกรานต์ก่อนนะคะ

logoline